ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีศิริราชฯ เผยเทศกาลสงกรานต์ ตัวบ่งชี้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ทั้งจำนวนการฉีดวัคซีน คนที่หายจากการติดเชื้อ ระดับภูมิคุ้มกันของคน ฯลฯ สิ่งสำคัญยังต้องพึงระวังตนเดินทางกลับภูมิลำเนาเยี่ยมครอบครัว  ส่วนยารักษาโควิด "ฟาวิพิราเวียร์" ดี แม้จะมียาตัวใหม่  ขณะที่อาการลองโควิด จริงๆเป็นอย่างไร

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 ที่โรงพยาบาลศิริราช  ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินหน้าปรับโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น ว่า หากจำได้ตนมักจะเตือนเรื่อง 4 เสี่ยงที่เจอพร้อมกันเมื่อไหร่จะต้องระวังให้มาก คือ บุคคล กิจกรรม สถานที่ และช่วงเวลาเสี่ยง ขณะนี้ มีการผ่อนคลายกิจกรรมระยะหนึ่งทำให้ 3 เสี่ยงแรกเกิดขึ้น ส่วนช่วงเวลาเสี่ยงที่ใกล้มาถึง คือ สงกรานต์ จากปีที่แล้วหลังสงกรานต์พบว่าหลายอย่างเคลื่อนไปในทางแย่ลง แต่จุดต่างปีนี้คือ วัคซีน รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอนที่ความรุนแรงลดลงจากปีที่แล้ว และอีกจุดเปลี่ยนคือการพยายามผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ หลังจากที่เราเดินมาระยะหนึ่ง ผ่านจุดทดสอบเมื่อช่วงปีใหม่ จะเห็นว่า หลังปีใหม่ตัวเลขเราเกือบจะไม่ขึ้น ถือว่าเราร่วมมือกันทำได้ดี ต่อมาหลังตรุษจีน ตัวเลขเริ่มขึ้น 

"เชื่อว่าหลายท่านที่ไม่ได้เดินทางใน 2 ปีที่ผ่านมา สงกรานต์ปีนี้คงอยากกลับไป จะเกิดการเคลื่อนย้ายระหว่างจังหวัดเยอะ สิ่งที่อาจเกิดขึ้น คือ ตัวเลขติดเชื้อต่อวัน เพราะโอมิครอนติดเชื้อง่ายอยู่แล้ว ขณะที่ คนติดไม่มีอาการ ดังนั้นโอกาสที่ใครซักคนจะเดินทางไปหาครอบครัว มั่นใจว่าไม่มีเชื้อ หรืออาจไม่ตรวจเชื้อ ก็ต้องคิดว่า เราอาจนำเชื้อแพร่ได้" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องจับตาประเมินสถานการณ์หลังเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่จะเป็นจุดบอกว่าประเทศไทยเราพร้อมหรือไม่ในการเข้าไปสู่โรคประจำท้องถิ่น ถ้าหากช่วงสงกรานต์ที่เป็นช่วงเสี่ยง แล้วเราผ่านไปได้ดี คนไทยเข้าใจโรค วิถีชีวิตในช่วงสงกรานต์นี้ก็จะต่อเนื่องไป ที่จะให้เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวได้ เดินทางได้ ดังนั้น ระวังในจุดที่พึงระวัง

"ถ้าเราผ่านสงกรานต์ไปด้วยดี คนฉีดวัคซีนเยอะขึ้นอีก สิ่งที่เราเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยคือ คนที่หายจากการติดเชื้อ ที่เฉลี่ยวันละ 2 หมื่นคนนี้ เท่ากับเราจะมีคนที่มีภูมิคุ้มกันมากเกิดขึ้น ทั้งจากวัคซีนและหายจากโรค เพิ่มขึ้นมากมายในสังคม เชื่อว่าตอนนั้นเราจะเห็นข้อบ่งชี้ที่ทำให้โควิด-19 กลายเป็นประจำท้องถิ่น" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาทิ โมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด เกิดขึ้นระหว่างการระบาดเดลต้า แต่ขณะนี้เป็นโอมิครอน ที่ข้อมูลทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ผ่านมา 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.64 พบว่า คนฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 โดส แล้วติดโอมิครอน ความรุนแรงของโรคน้อยลงเยอะจริงๆ ทั้งนี้ แม้ว่ายา 2 ตัวมีรายงานว่ามีประสิทธิภาพดี แต่ยาฟาวิพิราเวียร์ ก็มีรายงานว่าได้ผลดีเช่นกัน เพียงแต่เราไม่ได้พูดถึง เราพูดถึงแต่ยาใหม่ ถ้าหากโอมิครอนรุนแรงกว่าเดลต้า ตนเห็นด้วยที่จะพูดถึงยาใหม่ แต่ขณะนี้ไม่ใช่ เพราะเชื้อขณะนี้มีความรุนแรงน้อยกว่า และคนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น เชื่อว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ มีข้อมูลโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่ใช้รักษาผู้ป่วยกว่า 2 ล้านเม็ด  ทั้งนี้ มีกระทั่งคำถามว่า ยายังมีความจำเป็นหรือไม่ เหมือนเราเป็นหวัด ปกติก็ไม่ได้ทานยา ใช้การพักผ่อนให้มาก เพียงแต่ตอนนี้ยาเหล่านี้เป็นตัวเลือกในกลุ่ม 608 ที่เสี่ยงต่ออาการมาก 

เมื่อถามถึงอาการลองโควิด-19 ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้การเคลื่อนสู่โรคประจำท้องถิ่น แต่ยังมีคำถามถึงลองโควิด-19 หรือ Post Covid-19 มีการสัมมนาใหญ่ที่สหรัฐฯ และอังกฤษ พบว่า โดยเฉลี่ยอาการลองโควิดเกิดขึ้นไม่ว่าจากสายพันธุ์ใดประมาณ 15-30% ของคนติดเชื้อ มีมากกว่า 50 อาการตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนถึงมากขึ้น โดยข้อสรุปคือ อาการลองโควิดเป็นอาการจริง แต่เดิมที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดขึ้นจากความกังวล ส่วนกลไกเกิดที่เคยคุยกันว่าอาจเกิดจาก 1.ไวรัส หรือ 2.ระบบภูมิคุ้มกันที่มีปฏิกิริยาต่อไวรัส หรือ 3.เรื่องจิตใจ การสัมมนาทั้ง 2 แห่ง เห็นตรงกันว่า น่าจะเกิดจากระบบภูมิฯ ของเรา ที่ยังมีการกระตุ้น ทำให้บางคนที่หายแล้วแต่ยังมีการอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการลองโควิด ทั้งนี้ ทั่วโลกกำลังศึกษากลไกการเกิดที่แท้จริง จากการติดตามผู้ป่วยที่หายเป็นระยะ 

คณบดีศิริราชฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ตนพบรายงานเดียวจากการศึกษาแต่ยังไม่ได้รับการยืนยันเพิ่มเติมการศึกษาอื่นๆ ซึ่งพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 มีอุบัติการณ์เกิดอาการลองโควิดน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในข้อคิดให้คนไปรับวัคซีน ดีกว่าติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่างๆ โดย กระทรวงสาธารณสุข มีการกำหนดตั้งทีมติดตามอาการลองโควิด-19 และเฝ้าติดตามข้อมูลทั่วโลกในแนวทางการรักษาต่อไปด้วย ทั้งนี้  นิยามของลองโควิดคือ หายจากติดเชื้อแล้วแต่มีอาการติดตัวอยู่ บางส่วนขึ้นสมอง บางคนรู้สึกสมองตื้อตลอดเวลา ไม่กระฉับกระเฉง มีรายงานนักกีฬาในอังกฤษ พบว่ากล้ามเนื้อไม่แข็งแรงเหมือนเดิม 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org