ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยไทยพบ “โอมิครอน” 99.95% ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 และ BA.2.3 แม้พบในไทย แต่ยังไม่พบความรุนแรง หรือหลบภูมิฯวัคซีน ขณะที่ล่าสุดทั่วโลกคีย์ข้อมูลเข้าจีเสจพบ “เดลตาครอน” พันธุ์ผสม “เดลตา -โอมิครอน” เรียกว่า ไฮบริด หรือ รีคอมมีแนนท์ กว่า 4 พันราย ยืนยันแล้ว 64 ราย ส่วนไทยพบ 73 รายตั้งแต่ ธ.ค.64 - ม.ค. 65 หายดีหมดแล้ว ยังไม่ต้องกังวล ไม่พบแพร่เร็ว แต่ต้องจับตาต่อเนื่อง..

เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด ว่า จากการเฝ้าระวังโควิดข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64- 18 มี.ค.65 พบว่า ขณะนี้เป็นสายพันธุ์โอมิครอน 99.95% หรือเกือบ 100% แล้ว โดยเฉพาะผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นโอมิครอนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ส่วนการแยกสายพันธุ์โอมิครอนพบว่า สัดส่วนBA.2 มากที่สุดถึง 78.5% และ BA.1 อยู่ที่ 21.5% ซึ่ง BA.2 เพิ่มขึ้นจาก 4-5 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนั้นพบที่ 18.5% ดังนั้น แทบทุกพื้นที่ส่วนใหญ่เป็น BA.2 แล้ว เห็นได้จากข้อมูล 13 เขตสุขภาพ ก้พบ BA.2 มากเกิน 50% ทั้งหมด ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 9 พบ 33.33% เนื่องจากมีเรื่องการตรวจตัวอย่างน้อยอยู่

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อมูลเรื่องเดลตาครอน ซึ่งองค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า เป็นไวรัสโควิดผสมระหว่างสายพันธุ์โอมิครอน และเดลตา เรียกว่าเป็นไฮบริด หรือ Recombinant ระหว่างส่วนโปรตีนหนามสไปค์จากโอมิครอน BA.1 และส่วนโปรตีนดด้านหน้า ซึ่งไวรัสเพิ่มจำนวนเป็นของเดลตา เรียกว่า AY.4 เริ่มพบการแพร่ระบาดแล้วในฝรั่งเศส เดนมาร์ก เยอรมัน เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ ขณะนี้มีรายงานข้อมูลในจีเสจประมาณ 4,000 กว่าราย แต่มีการวิเคราะห์สายพันธุ์ว่าเป็นเดลตาครอนจริงๆ คือ 64 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส 50 กว่าราย

“ในจำนวน 4 พันกว่าราย รวมถึงที่ประเทศไทยได้ซัปมิทข้อมูลไป 73 ราย แต่ไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อเดลตาลดลง โอกาสที่จะมารวมกันแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นน้อยลง เพราะไม่มีเดลตาเหลือให้ผสมกันแล้ว แต่ก็ต้องขึ้นกับเดลตาครอนที่มีอยู่ จะมีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชอะไรหรือไม่ หากเกิดแพร่เร็วขึ้น ในอนาคตก็อาจครองแทนได้ แต่ตอนนี้ยังไม่พบเช่นนั้น ซึ่งก็ต้องจับตาต่อไป” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงอาการผู้ติดเชื้อเดลตาครอน 73 รายในไทยว่า มีอาการอย่างไร ว่า เดลตาครอนที่ได้รับการยอมรับจากจีเสจ ประมาณ 64 รายเหลืออีกราว 4 พันรายรอคลีนข้อมูล อย่างไรก็ตาม ส่วนของไทย เมื่อมีการตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัวจึงทำให้พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโควิดสายพันธุ์เดลตาครอน 73 ราย แต่ทั้งหมดเป็นตัวอย่างที่เกิดในช่วงเดือน ธ.ค. 2564 และเดือน ม.ค.2565 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของเดลตา และโอมิครอน ทำให้มีโอกาสเกิดพันธุ์ผสม หรือ Recombinant ได้ แต่ผู้ป่วยทั้ง 73 รายหายดี้ว ไม่มีใครเสียชีวิต ซึ่งอาจเป็นสายพันธุ์ผสมที่ไม่ได้หนักหนา และยิ่งไม่แพร่เร็ว สักพักก็จะจบ จริงๆ เชื้อเบตาโหดกว่าด้วย ยิ่งตอนนี้โอมิครอนแทนที่ ยิ่งกังวลเดลตาครอนน้อยลง ตอนนี้ต้องรอดูว่า เดลตาครอนจะเป็นอย่างไร แพร่เร็วหรือไม่ ถ้าแพร่เร็วจริงอีกสักพักก็จะมา แต่หากไม่ได้แพร่พันธุ์เร็ว ก็จะถูกเบียดหายไป

สำหรับสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.2 นั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 และ BA.2.3 ข้อมูลในจีเสจ (Gisaid) ยังไม่มีการแอดไซน์เข้าไปในระบบ แต่ก็ทราบแล้วว่ามี เพียงแต่ต้องมีการติดตามข้อมูลให้เพียงพอ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความสามารถในการแพร่กระจาย ความรุนแรงของโรค หรือการหลีกหนีวัคซีนของสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 และ BA.2.3 อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยพบ BA.2.2 จำนวน 22 ราย เป็นในประเทศ 14 ราย และต่างประเทศ 8 ราย ส่วนสายพันธุ์ BA.2.3 จำนวน 61 ราย เป็นในประเทศ 27 ราย และต่างประเทศ 34 ราย ส่วนสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มตรวจสายพันธุ์โอมิครอน ระหว่างวันที่ 12-18 มี.ค.65 พบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพื่อสำรวจภาพรวมประเทศ พบถึง 76.49% รองลงมากลุ่มเดินทางมาจากต่างประเทศ รวมถึงต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองอีก 11.76% กลุ่มที่มีอาการรุนแรงและหรือเสียชีวิตทุกรายเป็นโอมิครอน 6.43% ขณะที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 3.49% เป็นต้น

เมื่อถามถึงสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 และ BA.2.3 ในไทย มาจากปัจจัยอะไร หรือจากประเทศไทยเอง นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า พูดยาก เพราะตอนนี้เราไม่ได้ปิดประเทศ มีการให้คนเดินทางมา ซึ่งการจะทราบรายละเอียดลงไป เรายังไม่สามารถตรวจแบบสกีนนิ่ง ที่เราตรวจสัปดาห์ละ 2 พันรายนั้นเป็นการตรวจเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม ในเมื่อสายพันธุ์ BA.2.2 และ BA.2.3 ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อะไร ก็ไม่มีความจำเป็นแยกตั้งแต่ต้น ซึ่งหากจะทำต้องทำน้ำยาตั้งแต่ต้นมาแยกเฉพาะ

“สรุปคือ จากข้อมูลขณะนี้ โอมิครอน คุณสมบัติหลบภูมิค่อนข้างดี อย่างคนที่ติดเชื้อเดลตามาแล้ว 4-5 เดือนก่อน ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดโอมิครอนซ้ำ ซึ่งวัคซีนหากฉีด 2 เข็ม และฉีดนานพอสมควรส่วนใหญ่จะตก ป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ ต้องมากระตุ้น แต่จะป้องกันการป่วยตายได้ แต่เมื่อมีกระตุ้นก็ยิ่งป้องกันการป่วยตายได้มากขึ้น นี่คือเหตุผลที่ต้องรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เพราะข้อมูลเสียชีวิตทุกวันนี้จากโควิดส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม 608” นพ.ศุภกิจ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิดแม้ฉีดวัคซีนป้องกัน นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า วัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่ป้องกันความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็ไม่สามารถสร้างภูมิฯได้มากพอ แม้จะฉีดวัคซีนไปแล้ว ซึ่งเรากำลังดูว่าอาจให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปให้ได้ แต่กำลังพิจารณา