ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขอตรวจสอบกรณีสื่อตปท. รายงานพบสายพันธุ์ "เดลตาครอน" ผสมระหว่างเดลตากับโอมิครอน ย้ำยังไม่มีข้อมูลทางการ แต่ไทยติดตามต่อเนื่อง ด้านรามาธิบดีเผยไม่พบข้อมูลนี้ใน GISAID ต้องรอยืนยันก่อน ชี้อาจเป็นไปได้พบสองชนิดในคนเดียว แต่ยังไม่ได้ผสมเป็นอีกสายพันธุ์  เหมือนกรณีไทยเคยพบที่แคมป์คนงานสายพันธุ์เดลตากับอัลฟา

จากกรณีสื่อต่างประเทศรายงานทีมนักวิจัยในสาธารณรัฐไซปรัส พบเชื้อโควิด -19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่เป็นการผสมผสานพันธุกรรมระหว่างสายพันธุ์เดลตากับโอมิครอน ตั้งชื่อว่า "เดลตาครอน"  (Deltacron) พบแล้ว 25 ราย ขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ข้อกังวลถึงสายพันธุ์ดังกล่าว

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 9 ม.ค.2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ ขอเวลาตรวจสอบก่อน ว่า เป็นข่าว หรือรายงานอย่างเป็นทางการ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการติดตามข้อมูลจากทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา ขอให้ทุกคนใจเย็น ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเกินไป ส่วนกรณีมีนักวิชาการระบุว่า การรายงานสายพันธุ์โอมิครอน ของไทยต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น เรื่องนี้ได้อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่า สัดส่วนการรายงานเชื้อโอมิครอน มีทั้งสูงและต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเราตรวจหาเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคน ก็จะมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง  

ส่วนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ได้ตรวจหาสายพันธุ์ทุกคน จะใช้วิธีการสุ่มตรวจ ดังนั้นเราจะวางระบบการสุ่มตรวจ เพื่อที่จะดูสัดส่วนของการระบาดของสายพันธุ์ให้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด แนวทางการป้องกันตัวเองก็เหมือนเดิมคือ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง

ด้าน  ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ติดตามในฐานข้อมูลกลางโควิดโลกหรือ GISAID ยังไม่พบรายงานดังกล่าว เพียงแต่เห็นข้อมูลส่งต่อในสื่อโซเซียลมีเดีย การซับมิทข้อมูลเข้า GISAID จะต้องเป็นข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและได้รับการยืนยัน จะมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมคุณภาพรหัสพันธุกรรมก่อนส่งเข้าไปในฐานข้อมูลกลาง 

"เชื่อว่าเร็วๆ นี้คงจะทราบแน่ชัดว่ามีการเกิดขึ้นของลูกผสมหรือไฮบริดระหว่างเดลตากับโอมิครอน หรือที่ระบุชื่อกันว่า เดลตาครอนหรือไม่  หากมีจริงจะถือเป็นตัวแรกของโลกที่เป็นลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน ที่ผ่านมาใน GISAID ที่มีข้อมูลซับมิทเข้ามากว่า 6 ล้านตัวอย่างก็ยังไม่เคยระบุมีลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน"  ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว 

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวอีกว่า เท่าที่ติดตามข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ขณะนี้มีทั้งระบุว่าเป็นลูกผสมหรือบางส่วนระบุว่าเป็นเพียงการมี 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน แต่ไม่ใช่ลูกผสม ซึ่งประเทศไทยก็เคยเกิดกรณีแคมป์คนงาน  มีทั้งสายพันธุ์อัลฟาและเดลตาในเวลาเดียวกัน เป็นไปได้แต่มีไม่มาก ส่วนที่ระบุพบเดลตาครอนถึง 25 ตัวอย่างก็ยังน่าสงสัย เพราะการเกิดลูกผสมหากเกิดขึ้นคงเกิดได้ไม่มาก อย่างไรก็ตาม ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง 

ทั้งนี้ เทคนิคการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสมีการถอดทั้งแบบสายสั้น ซึ่งสามารถถอดรหัสพันธุกกรรมได้ประมาณ 300 ตำแหน่ง และแบบสายยาวสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ถึง 2,000-3,000 ตำแหน่ง การถอดแบบสายสั้นอาจจะได้ข้อมูลไม่จำเพาะ ซึ่งบางครั้งตัวอย่างที่ส่งตรวจอาจจะมีการปนเปื้อนของเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ ทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาดได้ แต่หากเป็นการถอดสายยาวเช่นที่ศูนย์จีโนมฯ ก็ใช้วิธีนี้ จะสามารถแยกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใดที่ชัดเจน รวมถึงเป็นลูกผสมหรือไม่ หรือเกิดจากการปนเปื้อนในแล็บวิจัย 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org