ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมช.สธ. เผยมาตรการป้องกันอุบัติเหตุ โดยเฉพาะสงกรานต์นอกจากเป่าเครื่องวัดเมา ยังเพิ่มทางเลือกตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด พร้อมขยายไม่ใช่แค่ 7 วันอันตราย ให้ทุกต่อเนื่อง โดยกรมควบคุมโรคเตรียมหาแหล่งงบประมาณให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการคาดใช้ปีละ 20-30 ล้านบาท พร้อมหนุนตรวจหาแอลกอฮออล์จราจรทางน้ำ

 

เมื่อวันที่ 4  เม.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)    แถลงข่าวชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ" ว่า  ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยยังคงอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยประชาชน อยากให้เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย อยู่ร่วมกับครอบครัวอย่างอบอุ่นและมีความสุข จึงขอให้ยึดหลัก ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เพื่อความปลอดภัยทั้งของตนเองและเพื่อนร่วมทาง เข้มมาตรการป้องกันโควิด 19 โดยสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ตรวจ ATK ก่อนกลับบ้านพบญาติผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เมื่อกลับถึงบ้านแล้วใช้มาตรการ Family bubble and seal รดน้ำขอพร รับประทานอาหาร ฉลองกันในครอบครัว หลีกเลี่ยงการออกไปสังสรรค์นอกบ้าน เพราะอาจนำเชื้อโรคกลับมาติดผู้สูงอายุในครอบครัวได้

“สรุปคือ ต้องมี 3 ด่าน คือ ด่านตัวเอง ด่านครอบครัว และด่านชุมชน ในเรื่องของการควบคุมบังคับใช้กฎหมายสำหรับผู้ทำผิดกฎจราจรนั้น ได้มีการพิจารณาว่า ในอนาคตจะมีการดำเนินการคนที่ทำผิดกฎจราจรต่างๆ ให้มีการหักแต้ม และบันทึกข้อมูลไปที่ใบขับขี่”นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวอีกว่า  ยังมีการพิจารณาให้มีการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดทุกกรณีในช่วง 7 วันอันตราย(11-17 เม.ย.)  และในอนาคตจะให้มีการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือด กรณีอุบัติเหตุหรือการทำผิดกฎจราจรตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522  ซึ่งจะเป็นทางเลือกกรณีหากไม่สามารถเป่าแอลกอฮอล์ได้ หรือ ณ จุดนั้นไม่มีเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ที่ได้มาตรฐาน เรียกว่า เป็นอีกทางเลือกนั่นเอง ซึ่งจะไม่สามารถปฏิเสธได้ หากปฏิเสธการเป่าให้สันนิษฐานว่า  เมา โดยจริงๆแล้วการเป่าแอลกอฮอล์จากเครื่องที่ผ่านมาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถใช้ในการดำเนินคดีได้

“ปัญหาของการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดนั้น เดิมจะมีงบให้ทางด่านตรวจหรือเจ้าหน้าที่ตำรวนดำเนินการ 7 วันอันตราย แต่ในอนาคตเราจะหางบประมาณเพื่อให้ทำได้ทุกช่วงเวลา ซึ่งกรมควบคุมโรคเป็นผู้ดำเนินการหางบประมาณดังกล่าว” นายสาธิต กล่าว

เมื่อถามว่า การตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือด สามารถทำได้ในการจราจรทางน้ำหรือไม่  นายสาธิต กล่าวว่า จริงๆ ต้องไปดูรายละเอียด เพราะท่าเรือสาธารณะ สามารถตรวจได้ แต่เมื่ออยู่บนเรือก็เป็นที่เอกชนก็ต้องมีการประกาศเพิ่ม ซึ่งเป็นอำนาจของผู้รักษาการของพ.ร.บ.นั้นๆ  คือท่านนายกรัฐมนตรี แต่จะมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี   ซึ่งตนเห็นด้วยว่า ควรประกาศเพิ่ม เนื่องจากเราไม่ได้ตรวจทั่วไป ต้องมีเหตุจึงจำเป็นตรวจ  อย่างตอนนี้แม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชอบการล่องเรือมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจ ก็มีการพูดคุยว่า ก่อนสงกรานต์ควรมีการไปตรวจสอบมาตรกฐานการขับขี่ ขนส่งสาธารณะต่างๆด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

“กรณีการดำเนินคดีจริงๆ เครื่องเป่าที่ได้มาตรฐานก็สามารถบอกได้เลยว่า มีแอลกอฮอล์เท่าไหร่ สามารถนำไปใช้ดำเนินคดีได้ เว้นผู้เกิดอุบัติเหตุไม่สามารถอยู่ในสถานะเป่าแอลกอฮออล์ ก็นำเลือดไปตรวจได้  ส่วนคนปฏิเสธ.การเป่าก็เป่าไม่ได้ เจ้าหน้าที่สามารถสันนิษฐานว่าเมา ส่วนเมื่อมีการสอบสวน หรือพิจารณาแล้วไม่เกินมาตรฐานก็จะเป็นขั้นตอนต่อไป”  นายสาธิต กล่าว  

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)  กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่จะจัดหาผ่านกองทุนต่างๆ ซึ่งจะมีการหารือพิจารณานั้น เบื้องต้นคาดว่าใช้ประมาณ 20-30 ล้านบาทต่อปี  ขณะที่งบที่ใช้ช่วง 7 วันอันตรายอยู่ประมาณ 1-2 ล้านบาท   อย่างไรก็ตาม กรณีหากเกิดอุบัติเหตุทางถนน และพบผู้บาดเจ็บอายุต่ำกว่า 20 ปีจะมีการตรวจหาแอลกอฮอล์ในเลือด ถ้าพบก็จะส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเอาผิดกับผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กด้วยเช่นกัน  

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบันการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดต้องมีปริมาณเท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับผู้ใหญ่ต้องมีแอลกอฮอล์ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นผู้ขับขี่สาธารณะต้องศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

นพ.ศุภกิจ  ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ให้บริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เพื่อสร้างความมั่นใจในผลการวัดของเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เมาสุรา นอกจากนี้ ยังคงให้ความร่วมมือในการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด กรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้วผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนไม่สามารถเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์โดยวิธีเป่าลมหายใจได้ เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 สำหรับวันควบคุมเข้มข้นวันที่ 11–17 เมษายน 2565 โดยยกเว้นค่าตรวจวิเคราะห์ โดยสามารถตรวจและรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง โดยขอให้เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลควรเจาะเลือดเก็บตัวอย่างภายใน 6 ชั่วโมงหลังเกิดอุบัติเหตุ และส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจำนวน 784 ราย อายุระหว่าง  10–84 ปี  พบปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนดร้อยละ 55 ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 20–29 ปี พาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิคอัพ และรถเก๋ง

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง