ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. แนะ ปชช.หลังเที่ยวสงกรานต์ เวิร์กฟอร์มโฮม 5-7 วัน พร้อมให้ตรวจ ATK ก่อนกลับเข้าทำงานวันแรก เพื่อสร้างความมั่นใจไม่แพร่เชื้อในที่ทำงาน 

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการของประชาชน หลังเทศกาลสงกรานต์เพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ว่า หลักสำคัญที่อยากแนะนำองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนควรปฏิบัติ คือ หลังจากพนักงานหยุดสงกรานต์กลับมาจากต่างจังหวัดแล้ว ให้ใช้การทำงานจากที่บ้าน(Work From Home) 5-7 วันก่อน พร้อมให้ตรวจเอทีเค ก่อนกลับเข้าทำงานวันแรก เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเราจะไม่นำเชื้อกลับมากรุงเทพมหานคร ทำให้ติดเชื้อไม่มากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้วันละ 3 พันราย 

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเน้นย้ำมาเสมอในการลดอัตราเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด-19 คือการฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น ที่ตอนนี้ฉีดได้เพียงร้อยละ 37 จากเป้าหมายร้อยละ 60 จึงจะเรียกได้ว่ามีความปลอดภัย ย้ำว่า การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นยังไม่น่าห่วงเท่าการติดเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุในบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะป้องกันได้ดี แต่หากติดเชื้อมากขึ้นก็อาจจะหลบเลี่ยงได้ยาก แต่กลุ่ม 608 ในพื้นที่กทม.ฉีดวัคซีนไปได้ครอบคลุมแล้ว ฉะนั้นอัตราการป่วยตายก็จะเพิ่มขึ้นไม่เยอะ” นพ.จักรรัฐ กล่าว


 
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับการเสียชีวิตจากโควิดเราเคยเห็นตัวเลขสูงถึงวันละ 300 ราย ซึ่งเมื่อเราดูตัวเลขสำคัญก่อนที่จะเสียชีวิต คือ ผู้ที่มีปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ขณะนี้ ผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ที่ 2,00 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 700-800 ราย ยังห่างจากตัวเลขที่เราเคยพบสูงสุดในระลอกเดลต้าที่พบผู้ป่วยปอดอักเสบถึง 6,000 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจอีกเกือบ 1,500 ราย หลังสงกรานต์ก็อาจจะเพิ่มขึ้นมาราวร้อยละ 20-30 แต่ไม่ถึงจำนวนพีคที่สุดแน่นอน นอกจากนั้น เรายังมีระบบการรักษาแบบผู้ป่วยนอก(OPD) และรักษาที่บ้าน(Home Isolation) ก็จะเข้ามาช่วยได้มากขึ้น ลดความหนาแน่นในสถานพยาบาลได้
 
“สิ่งที่จะทำให้เราผ่านช่วงเวลาเสี่ยงนี้ไปด้วยดี คือ “2U” ด้วย Universal Prevention และ Universal Vaccination เป็นการฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะผ่านช่วงสงกรานต์ไปแล้ว แต่ก็สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง เป้าหมายการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภาพรวมทั่วประเทศ ต้องถึงร้อยละ 80 และครอบคลุมกลุ่มสูงอายุมากกว่า 60 ปีต้องได้ถึงร้อยละ 60 เพื่อก้าวสู่โรคประจำถิ่นต่อไป” นพ.จักรรัฐกล่าว