ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้จัดทำรายงานการถอดบทเรียนการดำเนินการของส่วนราชการและจังหวัดในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564 เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ซึ่งในรายงานถอดทอเรียนฯดังกล่าว กรมควบคุมโรคเป็นตัวอย่างหนึ่งของการมีแนวทางปฏิบัติที่ดีในการใช้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์เพื่อสั่งการ ควบคุมและประสานงานความร่วมมือของแต่ละหน่วยงานในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน การเปิดศูนย์ Smart-Emergency Operation Centre ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เชื่อมโยงข้อมูลที่กระจายอยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และยังได้ขยายผลศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขไปยังกลุ่มอาเซียนในการซ้อมแผนโรคระบาดข้ามชาติในประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และมาเลเซีย ส่งผลให้การจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับรางวัลชนะเลิศ United Nations Public Service Awards 2021 (UNPSA) ขององค์การสหประชาชาติ

รายงานถอดบทเรียนฯดังกล่าวสรุปผลลัพธ์สำคัญที่ส่วนราชการและจังหวัดใช้ในการปรับเปลี่ยนแนวทางและวิธีการดำเนินภารกิจ ตลอดจนแนวทางการให้บริการประชาชนเพื่อรองรับมาตรการควบคุมโรคและการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤต โดยการปรับเปลี่ยนการบริการภาครัฐให้อยู่ในรูปแบบ e-Service ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถติดต่อและทำธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยในเดือนธันวาคม 2564 มีงานบริการประชาชนที่อยู่ในรูปแบบ e-Service เพิ่มเป็น 325 งานบริการ (จาก 280 งานบริการ ในเดือนมีนาคม 2563)

นอกจากนี้ การบูรณาการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งการเฝ้าระวัง ติดตาม รวมถึงการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการเฝ้าระวังในระดับพื้นที่

สำหรับปัจจัยสำเร็จของการบริหารจัดการภาวะวิกฤตในพื้นที่นำไปสู่การขับเคลื่อนจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้แก่ (1) การให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารจัดการในพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ (2) ความร่วมมือของประชาชน (3) การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ (4) ความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในแง่ของบุคลากร งบประมาณ การรักษาพยาบาล เวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และสถานที่ (5) การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เข้าใจเพื่อลดความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น และให้ประชาชนตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์และมีการระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และ (6) ระบบฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ทันเวลา และครอบคลุมช่วยให้การวางแผนและการตัดสินใจถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

รายงานถอดบทเรียนฯดังกล่าว ได้ระบุข้อเสนอแนะการบริหารงานและการให้บริการประชาชนกรณีเกิดสภาวะวิกฤตในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและสาธารณชนสรุปได้ โดยให้หน่วยงานภาครัฐที่ได้ปรับรูปแบบการทำงานโดยการพัฒนานวัตกรรมหรือนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดำเนินการให้มีประสิทธิภาพต่อไป และให้คงคุณภาพของการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนเช่นเดิมแม้สภาวะวิกฤตจะคลี่คลายลง รวมถึงขยายการดำเนินการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติงานและการบริการประชาชนและผู้ประกอบการในด้านอื่น ๆ ที่มีผลกระทบสูงและมีปริมาณมากต่อไป เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ ของกรมควบคุมโรค การนำอากาศยานไร้คนขับ (Drone) มาใช้ในการสำรวจพื้นที่เสี่ยงโรคระบาดโควิด-19 ของจังหวัดมุกดาหาร

ให้คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางหรือโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลกลางภาครัฐ และผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำข้อมูลหลักของหน่วยงาน โดยจัดทำแผนการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวและดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับการทำงาน และการให้บริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มบริการแบบเบ็ดเสร็จ และตอบสนองตามความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยเร่งพัฒนา Biz Portal และ Citizen Portal และกำหนดให้เป็นแพลตฟอร์มกลางของงานบริการภาครัฐสำหรับภาคธุรกิจและประชาชน รวมทั้งการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการทำธุรกรรมกับภาครัฐที่ได้มาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือ เช่น การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ระบบและแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ระบบ e-Payment e-Receipt และ e-Document

สำหรับด้านงบประมาณมีข้อเสนอว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติควรวางแนวทาง หลักเกณฑ์ในการบูรณาการงบประมาณจากทุกแหล่งที่จัดสรรให้กับจังหวัด เพื่อให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสามารถบริหารจัดการงบประมาณให้มีเอกภาพ ลดความซ้ำช้อน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่กรณีโรคระบาดอื่นต่อไป