ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่  27 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้รับทราบมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และ ประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาต (คสช.) เสนอ โดยครม.มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  สำนักงานประกันสังคม สำนักงานสภาความั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานท้องถิ่น รับมติสมัชาสุขภาพเฉพาะประเด็นดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อดำเนินการตามภาระหน้าที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นแนวทางเพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับความคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพ มีหลักประกันการเข้าถึงบริการที่เป็นธรรม โดยเรื่องนี้มีความจำเป็นต้องมีแนวทางในระดับนโยบายเนื่องจากประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติมากที่สุดในอาเซียน แต่ปัจจุบันยังขาดการบูรณาการประเด็นแรงงานข้ามชาติในแผนพัฒนาประเทศ มาตรการว่าด้วยแรงงานข้ามชาติยังมีลักษณะชั่วคราวและเน้นการควบคุมการเคลื่อนย้าย มากกว่าบูรณาการเข้ากับตลาดแรงงานและระบบประกันสุขภาพ จนเกิดความลักลั่นเข้าไม่ถึงสิทธิด้านสุขภาพ

คสช. เห็นว่าแนวทางที่จะสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพนั้น ต้องดำเนินการในส่วนต่างๆ อาทิ บูรณาการแรงงานข้ามชาติเข้าสู่การพัฒนาประเทศ พัฒนายุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาประเทศ รวมถึงการพัฒนากฎหมายสุขภาพแรงงานข้ามชาติ เพื่อคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพและรับรองสิทธิในหลักประกันสุขภาพและบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในฐานะพลเมืองทางเศรษฐกิจ และพัฒนาหลักประกันสุขภาพที่มีเสถียรภาพครอบคลุมแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม โดยคำนึงถึงระยะเวลาการพำนักในประเทศและระดับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคม

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นแนวทางดำเนินการเพื่อให้เด็กและเยาวชนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในประเทศไทยได้รับการคุ้มครอง สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิในบริการขั้นพื้นฐาน ที่มีคุณภาพ เท่าเทียม ทั่วถึงตามหลักสิทธิมนุษชนและอนุสัญญาระหว่างประเทศ ด้วยแนวทางต่างๆ อาทิ การพัฒนา ปรับปรุงมาตรการ หลักเกณฑ์แนวปฏิบัติการรับรองการเกิด มาตรการเชิงรุกเพื่อการจดทะเบียนครบขั้นตอนทันทีหลังเกิด เพื่อรับรองสิทธิในสัญชาติของเด็กและเยาวชนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย พัฒนาบริการสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ คสช. เห็นว่าการดำเนินการต่างๆ ข้างต้นควรเร่งดำเนินการไปสู่การปฏิบัติโดยเร็ว เพื่อให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ บริการขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม มีคุณภาพ เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นการสร้างความเสมอภาคด้านสุขภาพที่เป็นพื้นฐาน รวมถึงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจของประเทศ