ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565  ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ ร่วมกับ เลขาธิการ สปสช.พร้อมคณะ  ที่ จ.ขอนแก่น เยี่ยมชมการดำเนินงานตามนโยบายห้องฉุกเฉินคุณภาพของโรงพยาบาลขอนแก่น พร้อมเผยปี 2565 ขยายจำนวนโรงพยาบาลที่ให้บริการห้องฉุกเฉินคุณภาพเพิ่มอีก 91 แห่ง  ด้าน "ผอ.รพ.ขอนแก่น" เผย จัดบริการแยก "ห้องฉุกเฉินคุณภาพ" ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยในช่วงสถาณการณ์โควิด-19 

 

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วงโควิดนั้น สถานการณ์การรับผู้ป่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาล  การใช้ระบบบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ จะแยกบริการออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ห้องฉุกเฉินคุณภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยสีแดงและสีเหลือง หรือฉุกเฉินวิกฤตมีการจัดห้องแยกเฉพาะ พร้อมอุปกรณ์และบุคลากรตามแนวทางการจัดบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 

2. ห้องบริการแยกจากห้องฉุกเฉินวิกฤต สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง กรณีมีเหตุเกิดขึ้น และกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นผู้มีสิทธิที่ต้องเข้ารับบริการนอกเวลาราชการในช่วงเวลา 20.30 น.ขึ้นไป เฉลี่ยผู้ป่วยที่เข้ารับบริการแต่ละวันมีประมาณ 285 คน ซึ่งพบว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) เพียง 50 คนเท่านั้น ทาง รพ.ขอนแก่นเอง จึงจัดบริการให้ตรวจที่ห้องแยกเป็นฉุกเฉินวิกฤต(สีเขียว)เฉพาะ เพื่อลดความแออัดและการพบปะกับผู้ป่วยให้น้อยลง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้ป่วยและญาติ และก็ไม่แย่งการรักษาพยาบาลวิกฤติฉุกเฉินสีแดง ที่มีอาการรุนแรงจริงๆ

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีข้อแตกต่างจากห้องฉุกเฉินทั่วไปคือ ในกรณีที่ประชาชนเกิดเจ็บป่วยนอกเวลาราชการและรู้สึกว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาล หากโรงพยาบาลนั้นๆไม่ได้เปิดคลินิกนอกเวลา ส่วนมากผู้ป่วยจะมาอยู่ที่ห้องฉุกเฉิน ทำให้เกิดความแออัด ขณะที่ธรรมชาติของห้องฉุกเฉินนั้น แพทย์และพยาบาลไม่ได้ให้บริการตามลำดับก่อนหลัง แต่จะดูแลตามระดับความรุนแรงของอาการป่วยเป็นหลัก

โดยให้ความสำคัญกับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ก่อน ตามด้วยผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) แล้วจึงเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) ทำให้ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงต้องรอคอยนาน จนกว่าเจ้าหน้าที่จะดูแลผู้ป่วยสีแดงและสีเหลืองเสร็จถึงจะได้รับบริการ บางครั้งผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วนแต่เจ้าหน้าที่ประเมินแล้วไม่เข้าข่ายฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ เกิดความไม่เข้าใจกันหรือลามไปถึงขั้นเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ ส่วนเจ้าหน้าที่เองก็มีความกดดัน ต้องทำงานแข่งกับเวลาและความคาดหวังของผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


 
ขณะเดียวกัน สปสช.ก็ได้จัดให้กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่เร่งด่วนและเหตุสมควรอื่นกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของประชาชนที่เข้ารับบริการนอกเวลาราชการ เป็นบริการใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพ และจัดทำหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการนอกเวลาราชการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงกรณีที่มีเหตุสมควร และกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิ พ.ศ. 2563 ออกมารองรับ
 
"ตั้งแต่ปี 2562 เรามีโรงพยาบาลที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์จัดบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพจำนวน 20 แห่ง และมีการขยายจำนวนอย่างต่อเนื่องโดยปี 2564 เพิ่มจำนวนอีก 18แห่ง และในปี 2565 นี้ เราขยายเพิ่มอีก 91 แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลขอนแก่นก็เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์การประเมินและให้บริการในลักษณะนี้มาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว จึงมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการเป็นอย่างมาก การมาเยี่ยมชมการดำเนินงานในครั้งนี้ สปสช.จะได้รับฟังความคิดเห็น ปัญหา และข้อเสนอแนะจากผู้ปฏิบัติงานเพื่อที่จะได้นำข้อมูลกลับไปปรับปรุงพัฒนาระบบบริการ เพื่อสนับสนุนให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่"นพ.จเด็จ กล่าว