ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคฝีดาษวานร / ฝีดาษลิง (Monkeypox)  คืออะไร...อันตรายแค่ไหน...มียารักษาหรือไม่

 

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.)   ให้ความรู้เรื่องนี้ว่า  ฝีดาษวานร  เป็นโรคสัตว์สู่คน ที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus   มักมีรายงานผู้ป่วยในประเทศแถบแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก

โดยโรคนี้มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ West African clade ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 1  และสายพันธุ์ Central African clade ซึ่งมีอาการรุนแรงกว่า อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 10  ส่วนสัตว์รังโรค ยังไม่มีความรู้ที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก โดยเฉพาะสัตว์กัดแทะและลิง

ทั้งนี้ การติดต่อจะแบ่งออกเป็น

-การติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผลของสัตว์ป่วย หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก

-การติดต่อจากคนสู่คน โดยการสัมผัสสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ (Droplet respiratory particle) ของผู้ป่วยหรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งหรือแผลของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งสมมติฐานว่า โรคฝีดาษลิงอาจสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ

ส่วนระยะฟักตัว ตั้งแต่วันที่สัมผัสถึงวันเริ่มป่วยอยู่ที่ 5-21 วัน

นพ.จักรรัฐ อธิบายถึงอาการอีกว่า โดยปกติโรคนี้จะแสดงอาการป่วยไม่รุนแรง ถึงรุนแรงปานกลาง แบ่งเป็ฯ 2 ช่วง โดยช่วงอาการนำ คือ วันที่ 0-5 จะมีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อและหมดแรง ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่อาการแรกที่มี มักจะเป็นอาการไข้ แต่ระยะออกผื่นมักจะเป็นช่วงที่สามารถแพร่เชื้อได้มาก

ต่อมาเป็นช่วงออกผื่น ภายใน 1-3 วันหลังมีไข้ จะมีลักษณะการกระจายเริ่มจากบริเวณหน้า และกระจายไปส่วนต่างๆของร่างกาย ส่วนใหญ่ 95% ของผู้ป่วยจะมีผื่นที่หน้า และ 75% มีผื่นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า แต่ยังสามารถพบผื่นได้ที่บริเวณอื่นของร่างกาย เช่น ช่องปาก 70%  และอวัยวะเพศ 30%  ซึ่งลักษณะของผื่นจะพัมนาไปตามระยะดังต่อไปนี้ ผื่นนูนแดง(Maculopapular) ตุ่มน้ำใส (Vesicles)  ตุ่มหนอง(Pustules) และสะเก็ต(Crust)  โดยพบว่าหากผู้ป่วยมีผื่นลักษณะสะเก็ดขึ้นจนแห้งและร่วงหลุดไป จะไม่มีการแพร่เชื้อได้

อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษลิง ส่วนใหญ่หายเองได้ แต่สามารถพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ อย่างเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพส่วนบุคคล เช่น มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือกลุ่มมีอาการแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อซ้ำซ้อน ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อเข้ากระแสเลือด และการติดเชื้อที่กระจกตา อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น

ต่อคำถามว่า สรุปแล้วในประเทศไทยต้องจัดให้โรคฝีดาษวานร เป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่...

“ ที่ประชุมคณะกรรมการวิชาการได้ประชุมหารือเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศไทย เป็นการแพร่ระบาดในต่างประเทศ ที่เกิดจากการสัมผัสกับกลุ่มคนใกล้ชิด ไม่ได้ระบาดวงกว้าง อัตราป่วยตายน้อยมาก จึงกำหนดให้ฝีดาษวานร เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง  ยังไม่ให้เป็นโรคติดต่ออันตราย” นพ.จักรรัฐ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

-สธ.เข้มมาตรการป้องกัน "ฝีดาษลิง" ตั้งด่านสนามบินคัดกรองกลุ่มเสี่ยง พร้อมสั่งการ รพ.สังกัดรับมือ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org