ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอสุประกิต” เผย “เริม-อีสุกอีใส-งูสวัด” เป็นกลุ่มโรคไวรัสตระกูลเดียวกัน ส่วนฝีดาษจะแตกต่างจากอีสุกอีใส สังเกตลักษณะตุ่มที่เกิดขึ้น  ขณะที่ประเทศไทยยังไม่เคยปรากฏโรคฝีดาษวานร แต่มีความเสี่ยงเหมือนทั่วโลก เหตุเปิดประเทศมากขึ้นย่อมมีความเสี่ยงเหมือนกัน

นพ.สุประกิต จิรารัตน์วัฒนา นายแพทย์ปฏิบัติการ สถาบันโรคผิวหนัง เปิดเผยว่า เริม อีสุกอีใส และงูสวัด เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากไวรัสตระกูลเดียวกัน  “เริม”   เป็นตุ่มใสที่แตกง่าย จะเป็นบริเวณเดิมๆ ส่วนใหญ่เป็นที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศ ก้นกบ คนไข้อาจเป็นซ้ำๆ ได้โดยเฉพาะช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ อดนอน เครียด เนื่องจากเมื่อโรคหาย แต่เชื้อยังฝังในเส้นประสาท พอร่างกายอ่อนแอจะถูกกระตุ้นให้โผล่ออกมา ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่เดิมๆ ไม่กระจายทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่หายเองภายใน 7-15 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน  และไม่มีอาการไข้นำ แต่ฝีดาษลิง จะมีไข้นำมาก่อน และต่อมน้ำเหลืองโต ประมาณ 1-3 วัน จากนั้นผื่นจึงจะเริ่มขึ้นและจะเป็นทั้งใบหน้า แขนขา ขณะที่อีสุกอีใสอาการโรคจะเป็นทั้งตัวและมีไข้นำมาก่อนเช่นกัน จากนั้นเริ่มมีผื่นและตุ่มขึ้น

ขอบคุณแฟ้มภาพจากโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง MFU Beauty Channel

 

ข้อแตกต่างจากฝีดาษ คือ “อีสุกอีใส”  เวลามีผื่นตุ่มขึ้น ไม่นานภายใน 12 ชม.จากตุ่มแดงก็จะกลายเป็นตุ่มใส ตุ่มหนอง แปรสภาพได้รวดเร็ว และในคนเดียวกันรอยโรคจะมีหลายระยะในเวลาเดียวกัน ทั้งผื่นแดง ตุ่มใส ตุ่มหนอง ปนกันในเวลาเดียวกัน แต่ฝีดาษลิงเวลาเปลี่ยนสภาพรอยโรคจะเปลี่ยนไปพร้อมกันทั้งร่างกาย เช่น ช่วงเป็นตุ่มใสก็จะเป็นทั้งตัว หรือตุ่มหนองก็จะเป็นทั้งตัว แต่ละระยะใช้เวลาแปรสภาพนานกว่าประมาณ 1-2 วัน และอีกจุดที่ต่างคือ อีสุกอีใสมีไข้ แต่ไม่มีต่อมน้ำเหลืองโต ต่างจากฝีดาษลิงที่มีต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเป็นจุดที่ใช้วินิจฉัยแยกโรค

ทั้งเริม อีสุกอีใสและฝีดาษลิง แพร่เชื้อได้ระหว่างคนสู่คนโดยการสัมผัส การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ใช้ของใช้ร่วมกับผู้มีรอยโรคระยะแพร่เชื้อ แต่ฝีดาษลิงยังสามารถแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยจากทางเดินหายใจส่วนบนได้ โดยการไอจามในช่วงที่มีอาการตั้งแต่เริ่มมีไข้ ในระยะ 3 ฟุตหรือ 1 เมตร  และสามารถติดได้จากการรับประทานเนื้อสัตว์นำเข้าที่มีเชื้อฝีดาษโดยไม่ได้ปรงสุก หรือผู้ปรุงไปสัมผัสเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ จึงต้องระวังการนำสัตว์ป่าโดยไม่ผ่านด่านกักโรค

 

นพ.สุประกิต กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยังไม่เคยปรากฏโรคฝีดาษลิงมาก่อน ตระกูลฝีดาษหรือ Pox Virus มีทั้งฝีดาษวัว  (Cowpox) ฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) และฝีดาษลิง (Monkeypox) อาการจะคล้ายกัน ตัวรุนแรงสุดคือ ฝีดาษคน เคยระบาดไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2460 ปี 2489 ระบาดในประเทศไทย จนนำไปสู่การปลูกฝีทั่วประเทศ และกำจัดได้ในที่สุดปี 2523 องค์การอนามัยโลกก็ประกาศสามารถกำจัดโรคฝีดาษไปได้แล้ว จนนำไปสู่การยกเลิกปลูกฝีดาษ ความรุนแรงของฝีดาษลิงเทียบอัตราเสียชีวิตน้อยกว่าฝีดาษ ในช่วงที่ระบาดอัตราการเสียชีวิตสมัยนั้นสูงถึง 30% แต่ฝีดาษลิงอัตราเสียชีวิตในประเทศที่ระบบสาธารณสุขดีจะอยู่ที่ 3-6%

ส่วนประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่ดี อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 6-10% แต่ยังถือว่าสัดส่วนสูงพอสมควร อย่างไรก็ตามโรคฝีดาษลิงสามารถหายเองได้ในเวลา 2-4 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนของโรคที่พบได้คือ สมองอักเสบ ปอดอักเสบ และติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนบนแผล เป็นเหตุที่ทำให้อัตราเสียชีวิตสูง

นพ.สุประกิต กล่าวด้วยว่า ความเสี่ยงในประเทศไทยที่จะพบฝีดาษลิงนั้น การเปิดประเทศให้มีการเดินทางเสรีมีความเสี่ยงในทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย และเนื่องจากระยะฟักตัวของโรคนานถึง 21 วัน หลังติดเชื้ออาจจะยังไม่แสดงอาการและเมื่อเดินทางเข้าประเทศใดๆ ก็เป็นไปได้ที่จะพบ

ข้อกังวลหนึ่งที่โรคนี้อาจจะสร้างภาระทางสาธารณสุขได้ หากเกิดการระบาดเนื่องจากระยะฟักตัวโรคนานถึง 21 วัน  ถ้าต้องกักตัวก็ต้องกักตัวนาน แต่ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ทุกประเทศ รวมถึงบ้านเรามีการป้องกันสอบสวนโรค โดยเฉพาะประเทศที่มีความเสี่ยง หากเรารู้เท่าทัน มีมาตรการควบคุมดี เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก คัดกรองกลุ่มเสี่ยง ก็จะสามารถควบคุมได้

แฟ้มภาพกรมควบคุมโรค

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : ทำความรู้จักโรค “ฝีดาษวานร” ไทยยังไม่พบ ยังไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org