ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ผู้ช่วยเลขาฯแพทยสภา ถอดปัญหาภาระงานบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพทำงานล่วงเวลาเกิน 40 ชม./สัปดาห์   "หมอ-พยาบาล" ปัญหาหนัก! พบแพทย์ 90% ทำงานติดต่อกัน 24 ชม.ไม่ได้พัก  และ 30% ทำโอทีมากกว่า 100 ชม./สัปดาห์ หมอจบใหม่ใช้ทุนเจอปัญหามากสุด ทำเครียด ซึมเศร้า ลาออก ไหลนอกระบบ กระทบให้บริการคนไข้ ชี้ปัญหาที่รัฐแก้ไม่ตรงจุด ไม่ใช่ผลิตแพทย์เพิ่ม แต่ต้องกระจายหมอให้เหมาะสม และสร้างแรงจูงใจที่ดีพอ
 
กลายเป็นปัญหาวนลูปอีกครั้งกับภาระงานบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ที่ทำงานเกินเวลาจนเป็นปัญหามาตลอด ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่แพทย์ ในระบบเรียกว่า แทบเป็นทุกวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง พยาบาลก็เช่นกัน แต่ล่าสุดวันที่ 30 มิ.ย.2565 นี้ กลุ่มแพทย์จึงรวมตัวกันในนามสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน จะไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา เพื่อขอให้กรรมาธิการแรงงาน พิจารณากำหนดชั่วโมงการทำงานแพทย์เป็นกฎหมาย

เกิดคำถามว่า...ครั้งนี้จะแก้ปัญหาได้จริงอย่างที่ผ่านมาหรือไม่ และที่ผ่านมาผลสำรวจภาระงานเป็นอย่างไร นโยบายการผลิตแพทย์ตอบโจทย์จริงหรือไม่ 

เรื่องนี้ รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ  ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา  ให้สัมภาษณ์ Hfocus  ถึงปัญหาภาระงานบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ที่ต้องใช้ทุนในโรงพยาบาลของรัฐ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2565 ว่า ปัญหาภาระงานบุคลากรสาธารณสุข เป็นปัญหาสะสมมาหลายสิบปี เรียกว่าไม่ต่ำกว่า 40-50 ปีก็ว่าได้ ซึ่งตนในฐานะแพทย์ที่ปฏิบัติงาน และเป็นผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เข้าใจปัญหานี้มาตลอด ที่ผ่านมาได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างบุคลากรสาธารณสุข  5 กลุ่ม ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ และทำงานล่วงเวลา ข้ามคืน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องจัดเวร อดนอน ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ และนักรังสีเทคนิค ทั่วประเทศ โดยสอบถามช่วงวันที่ 1 ธ.ค.2561 - 31 ม.ค.2562 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 8,829 คน พบว่าเกินครึ่งเป็นพยาบาลที่ตอบแบบสอบถาม สันนิษฐานได้ว่าจำนวนคนเยอะกว่า ส่วนแพทย์มีมาตอบแบบสอบถามประมาณ 1,200 คน  

รศ.นพ.เมธี  กล่าวว่า  กลุ่มแพทย์และพยาบาลมีภาระงานมาก โดยกลุ่มแพทย์ จะเป็นแพทย์จบใหม่มีภาระงานมากสุด ทั้งช่วง 3 ปีแรก และช่วงที่เพิ่งจบแพทย์ประจำบ้านและกลับมาทำงาน ส่วนพยาบาลหนักมาก หนักตั้งแต่จบการศึกษามาใหม่ๆ จนยันเกษียณ ซึ่งหากนับเวลาการทำงานเกินของแพทย์จะอยู่เวรเกิน 24 ชั่วโมงมากกว่าพยาบาล แต่ของพยาบาล จะมีประกาศสภาพยาบาลออกมา รพ.ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แต่พยาบาลมีความถี่การทำงานมากกว่าแพทย์ แต่ควงเวรติดต่อกันจะไม่เท่ากับแพทย์ ส่วนหมอจะโดนตาม มีมูฟไปมูฟมา มีช่วงงีบบ้าง แต่ไม่ต้องอยู่ประจำ จริงๆ พยาบาลกับหมอปัญหาเดียวกัน คือ คนไม่พอ และปัญหานี้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขรู้อยู่แล้ว แต่ยังแก้ไม่ตรงจุด

รศ.นพ.เมธี กล่าวอีกว่า แบบสำรวจพบว่า แพทย์ 60% ทำโอทีหรืองานล่วงเวลา  80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และแพทย์ 30% ทำโอทีมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์   การที่ทำงานเกินเวลามากๆ แบบนี้ย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ทั้งแพทย์และพยาบาล โดยความผิดพลาดบางอย่างไม่ได้ส่งผลร้ายแรงต่อคนไข้ แต่ที่เราเห็นเป็นข่าว ออกมาฟ้องร้อง ถือเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง และข่าวที่ออกไปเพียงส่วนน้อย จริงๆการอดนอน ยังส่งผลต่ออารมณ์ของหมอ และพยาบาล เพราะอดนอนมากๆ จะให้ยิ้มย่อมเป็นไปได้ยาก ทั้งคนไข้ และหมอพยาบาล แต่หมอพยาบาล สาเหตุหนึ่งคือ ไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ จะอารมณ์ดีทั้งวันย่อมยาก  อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ใช้ทุน แพทย์เพิ่มพูนทักษะ ซึ่งจากภาระงานแบบนี้ ส่งผลให้หลายคนเครียด ซึมเศร้า ลาออก ออกนอกระบบเยอะ  และเชื่อว่าปัญหานี้จะมากขึ้นเรื่อยๆ 

"หากไม่แก้ไข จะส่งผลต่อระบบสาธารณสุขแน่นอน ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ปัญหาผิด รู้แค่ว่าแพทย์ พยาบาลไม่พอ และไปเน้นการผลิตเพิ่ม ปัญหาไม่ใช่ผลิตไม่พอ แต่ปัญหาคือ คนไม่อยู่ในระบบ ผลิตเท่าไหร่ก็ออกหมด ตอนนั้นเคยมีความพยายามจะปรับการใช้ทุนเพิ่มเงินมากกว่า 4 แสนบาท แต่ยังไม่ได้มีการประกาศใช้ ซึ่งผมมองว่า ถ้าใช้จริงจะยิ่งเหมือนสร้างคุก สร้างกำแพงให้สูงขึ้น แทนที่จะทำให้ในระบบอยู่ได้แต่กลับยังไม่ทำ ไม่มีการสร้างแรงจูงใจที่ดีพอ"

รศ.นพ.เมธี  กล่าวว่า ค่าตอบแทนรายชั่วโมงของหมอน้อยมาก   หมอได้ค่าอยู่เวรชั่วโมงละหลักร้อย อย่างคืนหนึ่งอยู่เวร 1-2 พันบาท อยู่ 8 ชั่วโมงทั้งที่ความรับผิดชอบสูงมาก แต่รัฐกลับไม่ให้ความสำคัญ และหลายคนบอกว่า รวมๆหมอได้ค่าตอบแทนสูง หลายคนบอกว่า ภาระงานที่เกิดขึ้น ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เขาไม่ได้อยากได้ค่าตอบแทนสูง เขาอยากได้เวลาให้ร่างกายได้พักบ้าง
ตัวอย่างแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนพบว่า หมอ 1 คนที่จบใหม่ต้องรับผิดชอบคนไข้ตั้งแต่ 2-3 หมื่นคน ขณะที่ตัวเลของค์การอนามัยโลกกำหนดสัดส่วนหมอที่ควรดูแลคนไข้ 1 ต่อ 1,000 คน   เราจะเห็นว่า หมอโรงพยาบาลชุมชนหลายคนทำงาน 1 ปีก็จะขอลาออก  ส่วนในกรุงเทพฯ ไม่ขาด หมอเกิน  ปัญหาหลักๆ คือ เรามีปัญหาเรื่องการกระจายหมอ ไม่ได้มีปัญหาเรื่องขาดหมอ แต่เวลารัฐบาลออกนโยบายกลับกลายเป็นผลิตแพทย์เพิ่ม ซึ่งเรื่องนี้แพทยสภาขับเคลื่อนมาตลอดว่า ต้องแก้ปัญหาเรื่องการกระจายหมอมากกว่า 

 

"เราแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เราผลิตแพทย์ปีละ 3-4 พันคน ตอนนี้มีแพทย์กว่า 6 หมื่นคน ปัญหาไม่ใช่แพทย์ไม่พอ หากผลิตด้วยอัตราปัจจุบัน จะเจอปัญหาแพทย์ล้นในอนาคต เหมือนฟิลิปปินส์ที่เคยเจอแพทย์ไม่มีงานทำ ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด ต้องแก้ปัญหาเรื่องการกระจายแพทย์ ไม่ใช่ผลิตแพทย์ ต้องมีระบบสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาทำงาน แต่หากเราไม่ทำอะไร ปัญหาก็จะวนลูปไปเรื่อย ไม่จบ" รศ.นพ.เมธี กล่าว

 

แฟ้มภาพของสธ.

ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวเพิ่มว่า สำหรับผลสำรวจในปี 2562 ถือว่าเป็นข้อมูลที่สำรวจได้ตัวเลขค่อนข้างมาก และอาจไม่ต้องสำรวจใหม่อีก เพราะไม่น่าจะแตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือ ต้องเริ่มแก้ไขปัญหาจริงๆ โดยข้อเสนอหลักๆ คือ ต้องไม่ทำเหมือนเดิม ไม่ใช่เน้นผลิตแพทย์ แต่ต้องมาดูข้อมูลและกระจายแพทย์ให้เหมาะสม เพิ่มหมอเข้ามาในระบบ ไม่ใช่ผลิตแพทย์เพิ่ม มีหมอหลายคนออกนอกระบบ ต้องดึงกลับมา แต่ต้องไม่ใช่ระบบเดิมแบบนี้ โดยต้องมีค่าตอบแทนที่เพียงพอ เหมือนนักบินที่ต้องดูแลชีวิตผู้โดยสาร หมอก็ต้องรับผิดชอบชีวิตคนไข้ แต่กลับถูกยกเว้นตามกฎหมายแรงงานว่า ไม่ต้องอยู่ภายใต้พรบ.แรงงาน หรือพูดง่ายๆ ทำงานเยอะๆได้ ไม่มีปัญหา นี่คือ ตลกร้ายหรือไม่ ตอนนั้นหมอยอม เพราะขณะนั้นหมอขาด แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ก็ต้องมีการปรับให้สอดคล้องด้วย

รศ.นพ.เมธี   สรุปแนวทางแก้ปัญหาภาระงานโหลดของแพทย์ คือ ต้องกระจายแพทย์ให้เหมาะสมด้วยการเพิ่มเข้ามาในระบบ มีแรงจูงใจให้เหมาะสม ไม่เน้นการผลิตแพทย์อย่างเดียว ส่วนที่สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานร้องขอให้เป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงานแพทย์ กำหนดเวลาการทำงานแพทย์นั้น เพราะมองว่า แพทยสภาไม่สามารถบังคับทางกฎหมาย แต่เป็นข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงาน 

"ปัจจุบันหลาย รพ. ควักเนื้อใช้เงินบำรุงตัวเองจ้างบุคลากร จ้างหมอ จ้างพยาบาลเพิ่ม แต่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ไม่มีความมั่นคง  จ้างได้ไม่มาก และไม่นานเขาก็ลาออกอยู่ดี.. จึงเห็นด้วยกับการขับเคลื่อนของสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ต้องมีคนเพิ่ม ต้องสร้างแรงจูงใจ จึงต้องย้ำว่า ถึงเวลาจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้แล้วหรือยัง.." รศ.นพ.เมธี กล่าวทิ้งท้าย 

 

(กลุ่มหมอขอสิทธิ์ "ชั่วโมงการทำงานแพทย์"  ออกเป็นกฎหมายควบคุม แก้ปัญหาภาระงานวนลูปหลายสิบปี)

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  สำหรับแบบสำรวจที่ทำโดย รศ.นพ.เมธี   ได้สอบถามบุคลากรที่เกี่ยวข้องเมื่อปี 2562 พบว่า บุคลากรทุกวิชาชีพที่สำรวจอยู่เวรนอกเวลาราชการและทำงานล่วงเวลาเกินกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ทั้งหมด โดยแพทย์มากสุด 90% รองลงมาคือ รังสีเทคนิค 88%  และพยาบาล 80%  โดยแพทย์ 60% ทำโอทีหรืองานล่วงเวลา   80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หมายความว่าใน 1 วันได้พักไม่เกิน 7 ชั่วโมง หรืออีกนัยต้องอยู่เวรทุกวัน และแพทย์ 30% ทำโอทีมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หมายความว่าใน 1 วันจะได้พักไม่เกิน 4 ชั่วโมง  ส่วนพยาบาล 16% ทำโอทีมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใน 1 วันพักได้ไม่เกิน 7 ชั่วโมง

ขณะที่ข้อมูลเรื่องการทำงานติดต่อกันมากกว่า 24 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก พบว่า 90% ของแพทย์ และ 50%ของพยาบาลทำงานติดต่อกันมากกว่า 24 ชั่วโมง และ15% ของแพทย์ และ20% ของพยาบาลทำงานติดต่อกันมากกว่า 7 วันโดยไม่มีวันพักเต็มวันในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งแพทย์เป็นกลุ่มที่ต้องปฏิบัติงานต่อเนื่องกันเป็นระยะยาวนาน 2-4 วันติดต่อกัน คือ อยู่เวรข้ามวันข้ามคืนติดต่อกันสูงที่สุด  ขณะที่แพทย์ และพยาบาล 90% เคยต้องทำโอที ทั้งๆที่ตนเองป่วยหรือติดธุระสำคัญในครอบครัว  และ 70%ของแพทย์ และ 80% ของพยาบาลต้องทำโอที ทั้งๆที่ครอบครัวป่วยหรือติดธุระ

ส่วนแบบสำรวจเรื่องภาระงานผู้ป่วยต่อวันพบว่า แพทย์ส่วนใหญ่ 53% ต้องตรวจคนไข้นอกเฉลี่ยวันละ 51-120 ราย แพทย์ 17% ต้องตรวจคนไข้นอกวันละมากกว่า 120 ราย โดยเฉลี่ยแล้วแพทย์ตรวจคนไข้นอกเกินกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น 2-4 เท่าตัว  
 

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  แพทยสภาแจงประกาศกำหนดเวลาทำงานแพทย์ไม่ควรเกิน 40 ชม./สัปดาห์ เน้นหมอเพิ่มพูนทักษะ เพราะอะไร... )

************************************

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org