ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพเภสัชกรผู้ปฏิบัติงาน สะท้อนมุมมองปัญหาการจ่ายยา Human error ในโรงพยาบาลรัฐ อีกวิชาชีพที่มีภาระงานล้นจนเกิดปัญหาบุคลากรไม่แตกต่างจาก “หมอ-พยาบาล” หรือวิชาชีพอื่นๆ กับข้อเสนอแนะวอน “รมว.ชลน่าน” ผู้บริหารสธ.เร่งช่วยเหลือด่วน!

 

เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอีกครั้ง...กับปัญหา Human error ในโรงพยาบาลของรัฐ.. อย่างล่าสุดกับข่าวการจ่ายยาผิดให้แก่เด็กอายุ 1 ขวบ 4 เดือน จนผู้อำนวยการโรงพยาบาลต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่ในทางกลับกันก็เกิดคำถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากตัวระบบการจัดการที่มีข้อจำกัดเรื่องอัตรากำลัง บุคลากรคนทำงานหรือไม่ คนเพียง 1 คนกับภาระงานมากมาย การแก้ปัญหาเชิงระบบต้องดีกว่านี้หรือไม่อย่างไร....

สำนักข่าวออนไลน์ Hfocus ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “เภสัชกร” ผู้ปฏิบัติงานจริง และในฐานะผู้แทนสหภาพเภสัชกรผู้ปฏิบัติงาน มาบอกเล่าถึงระบบการจัดการและสิ่งที่ควรแก้ไขเพื่อให้ระบบดียิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ให้น้อยที่สุด..

โรงพยาบาลกับการบริหารความเสี่ยง Human error

ภก.วัชรินทร์ เเท่งทอง  ผู้แทนสหภาพเภสัชกรผู้ปฏิบัติงาน ให้ข้อมูลถึงการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในสถานพยาบาล ว่า  จริงๆ ทุกโรงพยาบาล(รพ.) จะมีการบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทุกวิชาชีพ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมมาตรฐาน ทั้งนี้ เมื่อหากเกิดความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่การสั่งยาผิด ทั้งผิดคน ผิดยา ผิดชนิด ฯลฯ ซึ่งเป็นกระบวนการตั้งแต่สั่งยาของแพทย์ จากนั้นเมื่อมาถึงห้องยาก็จะมีตั้งแต่กระบวนการจัดยา  ซึ่งอาจจัดยาผิด ผิดคน ผิดขนาด ผิดชื่อ หรืออะไรก็ตาม จนมาถึงจ่ายยาก็มีความเสี่ยงผิดได้เช่นกัน รวมไปถึงประวัติคนไข้ อาจมีประวัติแพ้ยา ทั้งนี้ หากเป็นคนไข้นอนโรงพยาบาล ก็จะมาเชื่อมกับการดูแลผู้ป่วยโดยพยาบาล ก็มีโอกาสผิดพลาดได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารยาผิดเตียง ผิดคน ผิดชนิด ผิดความแรง ทั้งหมดเป็นกระบวนการเกี่ยวเนื่องกันหมด

ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติการณ์ใดๆ หลักสำคัญจะไม่ดูที่ตัวบุคคล เพราะhuman error เกิดขึ้นได้ แต่เรื่องกระบวนการสำคัญที่สุด ต้องมาดูระบบว่า เป็นอย่างไร และหลังเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ บุคลากร ระบบการจัดการ ซึ่งจะมีลำดับการจัดการ ตั้งแต่เบาสุดไปจนแรงสุด คือ เสียชีวิต จะต้องทำอย่างไรบ้าง 

ภาพรวมความเสี่ยงที่เกิดขึ้นสำหรับคนนอกวงการ ค่อนข้างเป็นเรื่องเข้าใจยากในการสื่อสาร ซึ่งทางการแพทย์มองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้ ระดับความรุนแรงก็จะมีเบาสุด จนถึงแรงสุด อย่างเบาสุด ต้องดักจับให้มากที่สุด หมายความว่า ถ้าอุบัติการณ์ในการรายงานความรุนแรงระดับเบาที่สุด ซึ่งหากพิสูจน์ตรวจพบในปริมาณมาก ก็หมายถึงเราดักจับและช่วยความปลอดภัยผู้ป่วยได้ แต่หากหลุดไปจะมีแนวทางวิธีการอย่างไร ตรงนี้จะเป็นเชิงระบบที่ทุกรพ.ต้องปฏิบัติ  เมื่อเรามีมาตรฐานนี้ ก็จะมีหน่วยงานที่รับรองมาตรฐาน หรือสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.) หรือเรียกว่า HA ก็จะมาตรวจมาตรฐานเป็นสเต๊ปๆ ไป

จ่ายยาผิดต้องกลับมาดูระบบว่า ผิดกระบวนการใด

เกิดคำถามว่าเมื่อเกิดปัญหาจ่ายยาผิด ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม แสดงว่าไม่ควรลงโทษบุคคลก่อนใช่หรือไม่ ภก.วัชรินทร์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ เมื่อเกิดความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นจะมีวิธีการในการบริหารจัดการอย่างไร และการไปลงโทษคนทำผิดนั้น จริงๆ ควรไปดูสาเหตุแท้จริงว่า เกิดจากกระบวนการไหน ต้องคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจว่าเกิดจากอะไร และแก้ไขตรงนั้นได้ แต่พยายามเลี่ยงไม่ให้เกิดการโทษตัวบุคคล เพราะหลักการความเสี่ยงย่อมเกิดขึ้นได้

“จริงๆ คนทำงานไม่ว่าวิชาชีพไหน ทุกวันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่หรือทำแค่งานเดียว ยกตัวอย่างการทำเรื่องมาตรฐาน หรืองาน HA ก็กลายเป็นอีกงานเช่นกัน หากรพ.มีบุคลากรน้อย อย่าง 1 คนทำงานหลายหน้ามาก บริการคนไข้ไม่เต็ม 100% แต่เราต้องแบ่งงานมาทำคุณภาพอีก และหากคนไข้แน่น เราก็ทิ้งคนไข้ไม่ได้ ก็ต้องให้บริการก่อนและค่อยมาทำงานเอกสาร ซึ่งไม่ใช่แค่เภสัชกร หลากหลายวิชาชีพเป็นเหมือนกัน” ผู้แทนสหภาพฯ กล่าว

เกิดคำถามว่าหากนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยลดภาระงาน หรือลดความเสี่ยงได้หรือไม่ ภก.วัชรินทร์ กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีบางส่วนก็ทดแทนบุคลากรไม่ได้ทั้งหมด และหลายรพ.ก็มีการใช้เทคโนโลยี หรือระบบอิเล็คทรอนิกส์ในการดูแลคนไข้ แต่อย่างไรก็ตามบุคลากรก็จำเป็น ยังไม่เพียงพออยู่ดี ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยีก็ยังต้องใช้บุคลากรอยู่ดี อย่าง 1 คนที่ใช้เทเลเมดิซีน ขณะเดียวกันก็ต้องจ่ายยาเองด้วยเหมือนกัน จริงๆ นโยบายงานต่างๆ ถ้าเพิ่มขึ้นก็ต้องเพิ่มคนด้วย

ภก.วัชรินทร์ เเท่งทอง 

 

หากมีระบบทบทวนคำสั่งใช้ยาจะช่วยลดความเสี่ยงได้

ด้าน ภก.ภูเบศ โคตรสีเขียว อีกหนึ่งผู้แทนสหภาพฯ ให้ข้อมูลกับ Hfocus ว่า การทบทวนคำสั่งการใช้ยา เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดปัญหาการจ่ายยาได้ ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล(ประเทศไทย) ได้กำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนที่จะช่วยวางระบบให้เภสัชกร เข้าถึงคำสั่งแพทย์โดยตรง และมีหน้าที่ทบทวนคำสั่งใช้ยา เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนจากการสั่งยาตั้งแต่ขั้นตอน “รับใบสั่งยาก่อนจัดเตรียมยา” แม้ในระยะหลังแพทย์จะเป็นผู้บันทึกลงในคอมพิวเตอร์เองก็ตาม ดังนั้น หากมีการช่วยกันตรวจสอบซ้ำจะช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัยขึ้น  

“ทุกวันนี้การจะตรวจสอบซ้ำค่อนข้างทำได้น้อยมาก เพราะบางโรงพยาบาลเภสัชกร 1 คน จะต้องเป็นคนที่รับใบสั่งยา จัดยา เช็คยาหลังจากเตรียมเสร็จ และจ่ายยา แม้มีมาตรฐานกำหนด แต่บุคลากรไม่เพียงพออยู่ดี อย่างเภสัชกร 1 คนไม่ได้ทำหน้าที่เดียว เช่น ปกติอยู่วอร์ดผู้ป่วยใน แต่ผู้ป่วยนอกจ่ายยาไม่ทัน เราก็ต้องโยกไปช่วย เพราะคนไม่พอ เป็นการจัดการภายใน ไม่ได้มีระบบภาพใหญ่ในการจัดการขนาดนั้น ” ภก.ภูเบศ กล่าว

ภก.ภูเบศ อธิบายอีกว่า หน้าที่ของเภสัชกร ไม่ใช่แค่จ่ายยาห้องยาวอร์ดใดวอร์ดหนึ่งในรพ.เท่านั้น ภาระงานหนักไม่แตกต่างวิชาชีพอื่น เช่น เภสัชกรมี 1 คน แต่ทำทั้งหมด ทั้งรับใบสั่งยา เช็คยา จ่ายยา ดังนั้น การตรวจสอบข้อมูลการสั่งยามีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่เข้าใจ มองว่าเมื่อเกิดปัญหาทำไมต้องมองที่ระบบ ทำไมโทษที่ระบบ ทั้งๆที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้  ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มาตรฐานมีก็จริง แต่ทุกวันนี้หลายๆที่ทำไม่ได้มาตรฐาน เพราะบุคลากรไม่เพียงพอจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมานานแล้ว

ขอ “รมว.ชลน่าน -ปลัดสธ.” ช่วยอัตรากำลังเภสัชกร

“จากปัญหาอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน เกิด human error ได้ จึงขอฝากทางผู้บริหาร ทาง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงฯ ขอให้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ จำนวนบุคลากร แต่พวกเรา วิชาชีพ ‘เภสัชกร’ มักถูกลืมตลอด สังเกตจากอัตราบรรจุข้าราชการที่ลดลงสวนทางกับภาระงาน ที่ผ่านมาต้องแก้ปัญหาหน้างานกันเอง จึงทำให้เกิด human error ขึ้นได้” ผู้แทนสหภาพเภสัชกรผู้ปฏิบัติงาน กล่าว

ภก.ภูเบศ กล่าวอีกว่า ปัญหาบุคลากรเกิดขึ้นทุกวัน ไม่ใช่แค่จำนวนบุคลากรไม่พอ ภาระงานมาก ยังมี career path ค่าตอบแทน ตำแหน่งการบรรจุ ไม่ได้เป็นข้าราชการแล้ว เรียนมา 6 ปีแต่ได้บรรจุเป็นพนักงานราชการแทน จึงไม่มีสิ่งชักจูง หรือให้อยู่ในระบบมากยิ่งขึ้น ทำให้ไหลออกนอกระบบมากขึ้น คนที่อยู่ในระบบก็โหลดงานมากขึ้น หากไม่เร่งแก้ไข ปัญหาก็จะสะสมไปเรื่อยๆ

“ขนาดเภสัชกรที่เป็นข้าราชการ ความก้าวหน้าก็แทบจะไม่มี ทุกวันนี้กว่าจะขึ้นระดับได้ซี 8 หรือซี 9 แทบไม่ได้ หรือจะโตเป็นผู้อำนวยการ หรือรองผู้อำนวยการก็แทบไม่มีอีก หนำซ้ำทุกวันนี้ยังลดตำแหน่งเหลือพนักงานราชการ ทำให้เภสัชกรที่อยู่ในระบบไม่อยากอยู่ กลายเป็นว่าคนที่อยู่ก็ต้องรับภาระงานกันไปเรื่อยๆ” ภก.ภูเบศ กล่าว

ปัญหาขาดแรงจูงใจ ทำเภสัชกรไหลออกนอกระบบ

เมื่อถามว่าเภสัชกรแต่ละปีผลิตได้เท่าไหร่ และไหลออกนอกระบบเท่าไหร่ ภก.ภูเบศ กล่าวว่า ในแต่ละปีมีการผลิตเภสัชกรประมาณ 1,800-1,900 คน แต่เข้าระบบปีล่าสุดเพียง 200 คน แต่ตำแหน่งกำหนดให้ 350 คน ซึ่งตามระเบียบของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ระบุว่า การจะรับตำแหน่งพนักงานราชการ ไม่ใช่แค่เภสัชกรจบใหม่ แต่ใครเป็นลูกจ้างก็สามารถมาสมัครได้ ซึ่งจริงๆ เภสัชกรจบใหม่ก็ไม่อยากเข้าระบบแล้ว ยิ่งรุ่นใหม่ๆ ไม่มีรับบรรจุข้าราชการแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นตำแหน่งทดแทนมากกว่า

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับเภสัชกรผู้ปฏิบัติงานทั้งสองในนามสหภาพเภสัชกรผู้ปฏิบัติงาน ได้มีการประสานเพื่อขอเข้าพบท่านรัฐมนตรีชลน่าน ซึ่งจะเข้าพบเพื่อหารือปัญหาวิชาชีพ ทั้งแพทย์ เภสัชกร พยาบาล คาดว่าจะได้หารือประมาณเดือนมกราคม 2567

ภก.ภูเบศ โคตรสีเขียว

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ชลน่าน” สั่งหาข้อเท็จจริง พร้อมช่วยเหลือ ‘เด็ก 1 ขวบ 4 เดือน’ ปมรพ.จ่ายยาผิดมีฤทธิ์เป็นกรด)