ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมคิกออฟ โครงการ Care D + เพิ่มทักษะการสื่อสารแบบใหม่ให้พยาบาลผู้ป่วยนอก เจ้าหน้าที่งานเผยแพร่และนักประชาสัมพันธ์ กว่า 10,000 คน ทั่วประเทศ  ช่วยประสานใจ ระหว่างผู้ป่วย ญาติ และ บุคลากรสาธารณสุข 

 

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการตรียมความพร้อมเปิดตัว ทีม Care D + ที่เป็นหนึ่งใน Quick Win ที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 100 วัน ว่า โครงการนี้เกิดจากความต้องการให้มีทีมประสานใจระหว่างผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้ง กว่า 90% เกิดจากการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน การไม่สื่อสาร รวมทั้งขาดเทคนิคในการบริหารจัดการในสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งทำให้สถานการณ์เล็กๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่ในความเป็นจริงเพียงแค่สื่อสารไม่ตรงกันเท่านั้น    

   

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า Care D + ที่จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย ยกระดับ ปรับระบบบริการสาธารณสุข 30Baht + เป็นการปัดฝุ่นโครงการพยาบาลประชาสัมพันธ์ที่เคยมีตั้งแต่ปี 2534 แต่จัดรูปแบบใหม่ เนื่องจากความรู้ด้านการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป มีการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มใหม่ๆ รวมทั้งการที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้และสามารถ Share ข้อมูลผ่าน Social Media ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งบางครั้งบริบทของการสื่อสารในขณะนั้นยังเป็นเรื่องของอารมณ์ ความคาดหวังและความรู้สึก ที่มีทั้งความกลัว ความไม่รู้ ปะปนกันอยู่ เมื่อมีสิ่งเหล่านี้สื่อออกไปจึงกลายเป็นปัญหา เป็นความขัดแย้งที่ต้องมาตามแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและเสียเวลา

“ทีม Care D+ คือ ทีมที่จะเข้ามาช่วยสร้างวัฒนธรรมใหม่ ใช้หลักใจเขาใจเรา ทำหน้าที่ประสานใจระหว่าง ผู้ป่วย ญาติ และ บุคลากรสาธารณสุข ให้เกิดความเข้าใจ ลดช่องว่างการสื่อสาร เพิ่มความเข้าใจเห็นอกเห็นใจ และที่มากไปกว่านั้น คือ ความใส่ใจ หรือ Care พร้อมที่จะโอบอุ้ม ดูแลกัน ส่วน D คือ ดีต่อใจ Develop พัฒนาทักษะการสื่อสาร ในธีมแบบง่ายๆ  Care for life Share for Love” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านยังกล่าวอีกว่า เริ่มต้นจะมีการจัดอบรมให้ความรู้ เทคนิคการสื่อสารสมัยใหม่ เป็นการ Upskill และ Re-skill นักประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 268 คน เจ้าหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ทั้งในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล และหน่วยบริการ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 373 คน ก่อน จากนั้นจะขยายผลไปยังพยาบาลวิชาชีพ โดยเฉพาะพยาบาลผู้ป่วยนอกที่มีอยู่ทั้งหมด 10,798 คน โดยจะมีทั้งการอบรมแบบ on site ในกรณีที่แต่ละเขตสุขภาพทำได้ และการอบรมโดยใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ Virtual  online โดยวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารสุขภาพ สื่อสารวิกฤต โดยตรง ทั้งนี้ เชื่อว่า ทีม Care D+ จะเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาความขัดแย้ง สร้างความอุ่นใจ ความเชื่อมั่น ให้กับญาติ ผู้ป่วย เป็นอีกหนึ่งของขวัญปีใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขจะมอบให้กับประชาชน