ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชลน่าน” ลั่นผลสำเร็จนโยบายสร้างขวัญกำลังใจ ชูความก้าวหน้าพยาบาล สร้างทีม CareD+  ให้สิทธิหมอประจำบ้าน 13 สาขาลาเรียนได้เสมือนปฏิบัติราชการ มีความก้าวหน้าเงินเดือนเหมือนเดิม เผยสาเหต 13 สาขาเป็นกลุ่มขาดแคลน เรียนน้อย เร่งสร้างแรงจูงใจตอบโจทย์สุขภาพปฐมภูมิ -ส่วนค่าเสี่ยงภัยขีดเส้น 1-2 เดือน

 

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงนโยบายสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรสาธารณสุข ภายในการแถลงข่าว “ผลสำเร็จ Quick Win 100 วัน" ว่า สำหรับนโยบายสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรคนทำงานนั้น มีเรื่องการอบรมพัฒนาสร้างประสิทธิภาพบุคลากรเป็นเสมือนญาติเฉพาะกิจ ที่เรียกว่า ทีม CareD+ ในหน่วยบริการทุกระดับ เป็นการทำงานประสานใจ การสื่อสารสร้างความเข้าใจระหว่างบุคลากรและผู้ป่วย และญาติ โดยได้ส่งมอบทีมงานที่ผ่านการอบรมแล้ว 1,000 คนภายในเดือนธันวาคมนี้แล้ว ซึ่งเป้าหมายต้องการสร้างให้ได้ 10,000 คน แต่ตอนนี้มีคนสนใจลงทะเบียนอบรมถึง 16,500 คน โดยมีคนผ่านการอบรมแล้ว  10,127 คน ซึ่งเมื่อประชาชนเข้าไปรับบริการจะพบทีมนี้คอยดูแล

นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าเรื่องการบรรจุพยาบาลเข้าสู่ตำแหน่ง เป้าหมายคือร้อยละ 50 จาก 3,318 อัตรา ขณะนี้บรรจุไปแล้ว 2,433 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 73.3 และมีการกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพระดับชำนาญการพิเศษจำนวน 10,120 ตำแหน่ง  ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 9,489 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 93.73

เหตุผล 13 สาขาหมอประจำบ้านได้สิทธิลาศึกษาแบบไม่ขาดราชการ

“ที่สำคัญล่าสุดมติคณะอนุกรรมการสามัญประจำสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สป.สธ.)  เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้สิทธิแพทย์ประจำบ้าน 13 สาขาที่ขอลาศึกษาให้เสมือนไปปฏิบัตราชการ ได้มีการพิจารณาเงินเดือนได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงค่าตอบแทนต่างๆได้เหมือนปกติ เป็นการโน้มน้าวให้แพทย์เรียนสาขานี้เพิ่มเติม เป็นการสร้างแรงจูงใจอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะครอบคลุมสาขาต่างๆ อย่างสูตินรีแพทย์ หรือหมอเด็กก็จะอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะปัจจุบันแพทย์ไม่ค่อยเรียนมาก ประกอบกับเข้ากับนโยบายส่งเสริมการมีบุตร ให้มีแพทย์เฉพาะทางรองรับด้วย” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามเหตุผลการให้สิทธิแพทย์ประจำบ้าน 13 สาขา นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  เป็นสาขาที่มีความจำเป็นตามแนวยุคใหม่ที่เน้นบริการปฐมภูมิเป็นหลัก ซึ่งจะมาตอบโจทย์เป็นการโน้มน้าวชักจูงให้มาศึกษา เมื่อลาศึกษาต่อ และเงินเดือนหยุดชะงักก็อาจทำให้ความก้าวหน้าลดลงได้ จึงมีมติดังกล่าวออกมา โดย  13 สาขา ประกอบด้วย 1. เวชศาสตร์ครอบครัว 2. เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ซึ่งต้องมีทุกสถานพยาบาล โดยขณะนี้ปลัดสธ.กำลังกระจายให้ทั่วถึง   3. อาชีวเวชศาสตร์  4. ศัลยศาสตร์ เป็นสาขาหลักแต่พบว่ายังขาด คนเรียนน้อยลง  5. วิสัญญีวิทยา  6. เวชศาสตร์ฟื้นฟู ต้องเร่งจูงใจเพื่อรองรับการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง   7. สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา  8. กุมารเวชศาสตร์  9. อายุรศาสตร์  10. ออร์โธปิดิกส์  11. อายุรศาสตร์โรคไต  12. อายุรศาสตร์โรคระบบหายใจ และภาวะวิกฤตระบบการหายใจ  และ13. อายุรศาสตร์โรคหัวใจ

“ทั้งหมดเป็นสาขาที่ต้องตอบโจทย์ยุคนี้ โดยการลาเรียนของแพทย์สาขาดังกล่าว ไม่ต้องกังวลเรื่องภาระงาน เพราะจะมีการจัดระบบแพทย์ มีการทดแทน การกระจายตำแหน่ง เป็นเรื่องการบริหารจัดการ” นพ.ชลน่าน กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : มติ อ.ก.พ.สป.สธ.เห็นชอบหลักสูตร ‘แพทย์ประจำบ้าน’ 13 สาขา ลาศึกษาเหมือนปฏิบัติราชการ)

ค่าเสี่ยงภัยโควิดติดตามต่อเนื่อง ขีดเส้น 1-2 เดือน

ผู้สื่อข่าวถามถึงอีกนโยบายสร้างขวัญกำลังใจที่สำคัญคือ ค่าเสี่ยงภัยโควิด จะดำเนินการอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  เรื่องนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ติดตามเรื่องนี้ตลอด ซึ่งจะตอบเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะเราเข้าใจและติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการจ่ายให้กับบุคลากรที่เข้าเกณฑ์ทุกคน

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. กล่าวถึงประเด็นค่าเสี่ยงภัยโควิด19 ว่า สำหรับค่าเสี่ยงภัยโควิด19 จากงบกลางวงเงิน 2,995.95 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 - ครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายน 2565  ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการจ่ายหมดแล้ว ยังเหลือส่วนของนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กำลังประสานผู้ที่เกี่ยวข้องให้เร่งส่งเอกสารมา คาดว่าจะปิดได้ทั้งหมดภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดเดทไลน์ เพื่อที่จะได้ตัดงบฯก้อนนี้ และจะได้ทำเรื่องเสนอขอค่าเสี่ยงภัยที่ยังค้างอีกก้อน ประมาณครึ่งหลังเดือนมิถุนายน และกันยายน 2565 ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการดำเนินการ

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-สธ.โชว์ผลสำเร็จ Quick Win 100 วัน “10 ประเด็น” นโยบายยกระดับ 30 บาท