ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสียงสะท้อนกว่า 2 เดือนจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มองนโยบายสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรอย่างไร ทั้งปัญหาภาระงาน อัตรากำลัง  ตัวแทนสหภาพผู้ปฏิบัติงานเข้าใจ แก้ปัญหาชิงโครงสร้างต้องใช้เวลา แต่ระยะสั้นขอ “ชลน่าน” หาทางออก “ห้องฉุกเฉินล้นเกิน”  

เป็นเวลากว่า 2 เดือนนับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว คุมบังเหียนกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการสธ. ด้วยภารกิจมากมาย หลักๆคือการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ 30 บาทพลัส ซึ่งล่าสุดเรียกสั้นๆ เข้าใจง่ายว่า 30 บาทอัปเกรด

โดยหนึ่งใน 13 นโยบายสาธารณสุข คือ “การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร” แน่นอนว่า นโยบายนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะไม่ใช่แค่การบรรเทาปัญหาของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในเรื่องของภาระงาน ค่าตอบแทน สวัสดิการต่างๆ และการจัดระบบให้แพทย์ พยาบาล รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ได้คงอยู่ในระบบ แต่ยังหมายถึงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะชั่วโมงการทำงาน อัตรากำลัง การกระจายตัวของบุคลากรอย่างเหมาะสม  ยิ่งนโยบาย 30 บาทอัปเกรด ทั้งบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ หรือมะเร็งครบวงจร การรณรงค์ฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ฯลฯ หรือแม้แต่การอบรมหลักสูตรทีมประสานใจ CareD+ ที่ต้องการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และบุคลากร ลดปัญหาความขัดแย้งที่บั่นทอนจิตใจทั้งสองฝ่ายแล้วนั้น

นโยบายยกระดับ 30 บาทเหล่านี้ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ยังเกิดคำถามมายังสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus ว่า การบริหารจัดการกำลังคนมารองรับนโยบาย เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระงานจะช่วยได้จริงหรือไม่ ..

ขอ "ชลน่าน" ช่วยติดตามปัญหาค้างคา "เงินเสี่ยงภัย บรรจุขรก.โควิด"

บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า  ตนเข้าใจดีว่า นโยบายสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร จำเป็นต้องใช้เวลา เพราะต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แต่ขณะนี้ยังมีเรื่องที่ส่งผลต่อขวัญกำลังใจของบุคลากรโดยตรง ที่ค้างมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว คือ  การบรรจุข้าราชการโควิด19 รอบสอง ที่ยังค้างคาจากรัฐบาลก่อนและไม่แล้วเสร็จเสียที โดยทราบเพียงว่าต้องรอจัดสรรกำลังภายในกระทรวงก่อน แต่ดูแล้ววี่แววลางเลือนมาก  ขณะที่ค่าเสี่ยงภัยโควิดสำหรับผู้ปฏิบัติงานในช่วงการระบาดโควิด19 ก็ยังมีอีกก้อนที่ค้างกว่า 3 พันล้านบาทที่ยังต้องรอของบฯจากครม. เนื่องจากงบค่าเสี่ยงภัยล็อตแรกช่วงเดือน ก.ค.2564 - ครึ่งเดือนแรกมิ.ย. 2565 ยังดำเนินการไม่เสร็จ เพราะรพ.นอกสังกัดยังส่งข้อมูลหลักฐานไม่ครบ ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ค้างคาจากรัฐบาลก่อน แต่อยากให้รัฐมนตรีชลน่าน เห็นใจและช่วยแก้ปัญหาให้บุคลากร

แก้ปัญหาเร่งด่วน "ห้องฉุกเฉินล้นเกิน"

นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ให้ข้อมูล Hfocus ว่า นโยบายสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร รวมไปถึงการแก้ปัญหาบุคลากรคนทำงานต่างๆ ทั้งภาระงานที่มากเกิน ค่าตอบแทนที่เหมาะสม สวัสดิการต่างๆ สิ่งเหล่านี้อยู่ในนโยบายควิกวิน 100 วันหรือไม่ เพราะหากพูดถึงประเด็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นเรื่องต้องใช้เวลา  และจริงๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของกระทรวงสาธารณสุข  (ก.สธ.) ที่กำลังศึกษาการแยกตัวออกจาก ก.พ.เพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลยืดหยุ่นได้ เพื่อการจัดสรรอัตรากำลังคนดีขึ้น แต่ตรงนี้หากออกไปแล้วก็ต้องทำให้เหมาะสมจริงๆ ไม่ใช่นั้นก็จะไม่ก่อประโยชน์สูงสุด เพราะเรื่องนี้คุยกันมานานหลายปีและหลายครั้งมากๆ ไม่สำเร็จ ก็หวังว่าจะสำเร็จในยุครัฐบาลนี้

“เรื่องอัตรากำลังเราเข้าใจว่า ต้องใช้เวลามากกว่า 2 เดือนเพียงแต่เรื่องที่ทำได้ทันที ก็น่าจะทำ คือ การบริหารจัดการห้องฉุกเฉิน สามารถสื่อสารหรือทำอย่างไรให้ลดการรับบริการห้องฉุกเฉินนอกเวลา ทั้งที่ไม่ได้เจ็บป่วยฉุกเฉินจริงๆ เพราะเรื่องนี้มีการพูดกันเป็นพักๆ แต่พอโรงพยาบาลไหนประกาศว่าใครไม่เจ็บป่วยฉุกเฉินนอกเวลาหากมารับบริการจะขอเก็บค่ารักษา ก็กลายเป็นเรื่องไม่เข้าใจกัน ซึ่งจริงๆ รพ.ไม่ได้ต้องการเก็บค่ารักษา แต่ต้องการให้เรารู้ว่า ถ้าไม่ฉุกเฉินอย่าเพิ่งมารับบริการ เพราะยังมีคนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินจริงๆ เรื่องนี้จึงอยากฝากท่านรัฐมนตรีชลน่าน ในการแก้ปัญหาเร่งด่วนด้วย” นพ.ณัฐ กล่าว

เตรียมขอเข้าพบ รมว.ชลน่าน

นอกจากนี้ นพ.ณัฐ ยังฝากว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องภาระงาน ชั่วโมงการทำงานนั้น เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคเพื่อไทย และทางสหภาพฯ เคยเข้าไปหารือร่วมกัน ซึ่งหลังจากนี้เราจะประสานเพื่อขอเข้าพบรัฐมนตรีชลน่าน ในเร็วๆนี้ โดยจะขอหารือในประเด็นต่างๆ รวมไปถึงเรื่องเร่งด่วน อย่างที่ผ่านมาก็มีข้อร้องเรียนเรื่องค่าเสี่ยงภัยโควิดที่ยังได้ไม่ครบ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่จะมีการติดตามขอความช่วยเหลือเช่นกัน 

ชงตัวแทนคนทำงานร่วมคกก.แก้ปัญหาบุคลากร

พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ตัวแทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าวว่า นโยบายสร้างขวัญกำลังใจ ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก เข้าใจว่าต้องใช้เวลา และตอนนี้เราจะเห็นเรื่องการยกระดั 30 บาทพลัส โดยเฉพาะบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ซึ่งประเด็นนี้ตนก็ยังไม่มั่นใจว่า ระบบจะเชื่อมข้อมูลได้อย่างราบรื่นมากน้อยแค่ไหน หากทำได้ดีก็จะลดภาระงานบุคลากรได้ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมารอประเมินหลังมีการประกาศใช้ ส่วนโครงการสร้างทีม CareD+ นักประสานใจคอยไกล่เกลี่ยหรือสื่อสารเชิงบวกระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตรงนี้ไม่แน่ใจเช่นกันว่าจะแตกต่างจากซูเปอร์ไวเซอร์ (Supervisor)  ที่มีหรือไม่ และเห็นว่ายังเป็นการอบรมบุคลากรทางการแพทย์ อย่างพยาบาล ก็ต้องมาดูว่าจะลดภาระงานอย่างไร แต่โดยหลักก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่มีทีมที่จะคอยสื่อสารความเข้าใจ เพียงแต่ระดับรพ.ก็ต้องบริหารจัดการอัตรากำลังให้ดีเช่นกัน

“จริงๆการแก้ปัญหาบุคลากร การแก้เชิงโครงสร้างเป็นสิ่งที่เราเห็นด้วย แต่ที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวลักษณะผลิตแพทย์มากกว่า ซึ่งยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ยังมีเรื่องภาระงาน การกำหนดชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมอีก ส่วนการตั้งคณะกรรมการบริหารบุคคลของกระทรวงสาธารณสุขที่เรียกว่า ก.สธ. เพื่อศึกษาการแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ตรงนี้เห็นด้วย  เพียงแต่ก็ต้องมีการจัดแผนมารองรับ เพราะถ้าออกมาแล้ว แต่การแก้ปัญหาไม่ตอบโจทย์ก็ไม่ช่วยอะไร” พญ.ชุตินาถ กล่าว

พญ.ชุตินาถ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การมีกรรมการชุดต่างๆมาแก้ปัญหาบุคลากร อยากให้มีตัวแทนที่ไม่ได้มาจากผู้บริหาร แต่ควรมีตัวแทนคนทำงานทั้งในสังกัดและนอกสังกัดด้วย เพราะเรื่องอัตรากำลัง การกระจายตัวของแพทย์ไม่ได้มีเฉพาะกระทรวงฯ อย่างการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ หรือซูเปอร์บอร์ดระบบสุขภาพที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น ในเรื่องนี้ยังไม่มีการพูดคุย อย่างการประชุมนัดแรกที่ผ่านมายังไม่มีเรื่องดังกล่าว ที่สำคัญอยากให้มีการเปิดเผยมติบอร์ด รายละเอียดการหารือต่อสาธารณะ

“เรื่องภาระงานบุคลากรเป็นเรื่องที่พูดคุยกันมานาน กระทรวงสาธารณสุขเคยประชุมหลายครั้งมีการแยกเป็นกลุ่มๆ และระบุว่าจะดำเนินการแก้ไขเป็นเฟสๆ อยากให้มีการเผยแพร่เรื่องนี้ว่า มีการดำเนินการอย่างไร เพราะสมัยนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เป็นรองปลัดสธ.ที่ดูแลเรื่องนี้เคยออกมาพูด แต่ตอนนี้ไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้าเรื่องนี้ ทั้งที่ภาระงานบุคลากรหนักทุกวัน อย่างมีคนร้องเข้ามาว่า แพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือหมออินเทิร์น ทำงานควงเวรเกิน 32 ชั่วโมงติดต่อกัน ทำงานมากกว่า 100-120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้เรื่อยๆ แพทย์ก็จะออกนอกระบบ ไม่มีใครอยู่ได้” ตัวแทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานกล่าวทิ้งท้าย

"ชลน่าน" ยินดีรับฟังทุกภาคส่วนร่วมทางออกแก้ปัญหาบุคลากร

ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้สอบถามทางนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ล่าสุดรมว.สาธารณสุข รับทราบประเด็นต่างๆ โดยกล่าวว่า  การแก้ปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข   เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ยินดีอย่างยิ่งหากจะมีการหารือร่วมกันกับทางสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อให้เข้าใจและร่วมกันแก้ปัญหาเป็นระบบอย่างแท้จริง

(ข่าวเกี่ยวข้องอัปเดต : “ชลน่าน” จ่อคุยสหภาพฯปม 'ภาระงาน' บุคลากรสธ. - ตอบประเด็น‘บรรจุขรก.โควิดรอบสอง’)

ความคืบหน้านโยบายสร้างขวัญกำลังใจ

สำหรับนโยบายสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร ก่อนหน้านี้ผู้บริหารสธ.รวมทั้งนพ.ชลน่าน เคยเผยความคืบหน้าว่า มีการกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ 9,358 ตำแหน่ง โดยมีการพิจารณาและผ่าน อ.ก.พ.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมาแล้วกว่า 92.43% มีการบรรจุผู้ได้รับจ้างงานอื่นตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ  1,387 อัตรา    และยังมีเรื่องการสร้างทีม CareD+ จำนวน 10,000 คน ตั้งเป้าเดือนธันวาคม 1,000 คน แต่มีคนมาลงทะเบียนอบรมหลักสูตรแล้ว 10,550 คน นอกจากนี้ ยังเตรียมพิจารณาหลักสูตรตามเกณฑ์ ก.พ. เรื่องแพทย์ลาเรียนได้รับการยกเว้นได้เลื่อนเงินเดือนระหว่างลาศึกษาต่อ รวมไปถึงเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รมว.สาธารณสุขยังตั้งคณะกรรมการที่เรียกว่า ก.สธ. พิจารณาร่างกฎหมายเพื่อแยกตัวออกจาก ก.พ. เป็นต้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ‘ชลน่าน’ แจงถูกติง "รมต.โลกลืม" ชี้ผลงานเห็นชัด ทั้งปัญหาบุคลากร-กม.กัญชา (ชมคลิป) )