ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดประเด็นสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรสาธารณสุข ในวันประกาศนโยบายกระทรวงฯ ปี 2567-2568 ของ “สมศักดิ์” เดินหน้ากฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. พร้อมดันพ.ร.บ.อสม. ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสุขภาพระดับประเทศ

 

ในการแถลงนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2567-2568 เมื่อเร็วๆนี้ ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากร ซึ่งอยู่ในนโยบาย  5+5 เร่งรัดพัฒนาสานต่อ  จัดอยู่ในกลุ่มสานต่อนโยบาย 5 ด้านของกระทรวงที่มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้สรุปใจความสำคัญประเด็นนโยบายการสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร  ที่มีการเปิดเผยภายในงานประกาศนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมอาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  โดย นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(ด้านบริหาร) ได้กล่าวถึงการดำเนินงานภายใน โดยภาพรวมกำลังคนกระทรวงสาธารณสุขรวม 420,082 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ 59.40% รองลงมาเป็นพนักงานกระทรวงสาะรณสุข 30.83% ลูกจ้างชั่วคราว 4% พนักงานราชการ 3.82% และลูกจ้างประจำ 1.99%

สำหรับการสร้างขวัญกำลังใจ แบ่งออกเป็น 5 ประเด็นหลักที่มีการดำเนินการที่ผ่านมา ดังนี้

ประเด็นที่ 1 บรรจุพยาบาลวิชาชีพในตำแหน่งที่ว่างกว่า 3,000 ตำแหน่ง

สามารถคัดเลือกบรรจุพยาบาลวิชาชีพสำหรับผู้ที่ได้รับการจ้างงานประเภทอื่นให้เป็นข้าราชการได้จำนวน 3,123 อัตรา คิดเป็น 94.61% ทั้ง 12 เขตสุขภาพ (จากตำแหน่งว่างตั้งต้น ณ พ.ย.66 จำนวน 3,318อัตรา)

ประเด็นที่ 2 กำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพระดับชำนาญการพิเศษจำนวน 10,124 ตำแหน่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พ.ค.2567)

              อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข มีมติปรับปรุงกำหนดตำแหน่งเป็นระดับชำนาญการพิเศษ จำนวน 9,847 ตำแหน่ง คิดเป็น 97.26%  กระจายไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงฯ กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมอนามัย และกรมควบคุมโรค    

              อยู่ระหว่างประเมินบุคคลและผลงาน จำนวน 8,676 ตำแหน่ง คิดเป็น 88.11%

              มีมติผ่าน/มีคำสั่งแต่งตั้งเป็นระดับชำนาญการพิเศษแล้วจำนวน 1,171 ตำแหน่ง คิดเป็น 11.89%

ประเด็นที่ 3 หลักสูตรลาศึกษาให้ได้รับการเลื่อนเงินเดือน

              โดย อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 มีมติอนุมัติหลักสูตรลาศึกษาแพทย์ประจำบ้านและหลักสูตรอื่นๆ ดังนี้

              หลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน 23 สาขา 25 อนุสาขา

              หลักสูตรประกาศนียบัตรฯ จำนวน 6 ด้าน(แพทยสภารับรอง1-2ปี)

              หลักสูตรทันตแพทย์ประจำบ้าน 3 ปี จำนวน 2 สาขา

ประเด็นที่ 4 ทีมประสานใจ CareD+ (ญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร)

              มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำและเพิ่มบทบาทของการสื่อสารในการดูแลสุขภาพ โดยให้บุคลากรตระหนักถึงบทบาทสำคัญของการสื่อสารที่ชัดเจนและเห็นอกเห็นใจว่า เป็นสิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งมีเป้าหมาย 10,000 คน มีผู้สมัครเข้าอบรมจริง 28,454 คน เริ่มเข้าอบรมแล้ว 20,926 คน ผ่านการอบรมแล้ว 19,731 คน โดยกระจายทั้ง 13 เขตสุขภาพ และส่วนกลาง

ประเด็นที่ 5 การร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ.

              อยู่ระหว่างดำเนินการ ขับเคลื่อนโดยคณะอนุกรรมการการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ.. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดขอบเขตสาระสำคัญและรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ฯ

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ยังกล่าวในการประกาศนโยบายสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร เกี่ยวกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ให้มีการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.อสม. เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนแก่ อสม.ราว 1.07 ล้านคน เป็นการรับรองสถานภาพ การพัฒนาศักยภาพ รวมถึงสิทธิประโยชน์และการยกระดับอื่นๆ  โดยเฉพาะนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว อสม.จะมีส่วนสำคัญในการช่วยสื่อสารให้ความรู้ประชาชนในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพื่อประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่ฉุกเฉินรักษาใกล้บ้านได้ เป็นต้น

(สบส.รับนโยบาย “สมศักดิ์” ฟื้นร่าง พ.ร.บ.อสม.ปี 65  จ่อประชาพิจารณ์ 4 ภาคเร็วๆนี้(คลิป))

ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ยังเน้นย้ำ การสื่อสารสร้างความสัมพันธ์บุคลากร ผู้ป่วยและญาติ ปรับปรุงบ้านพักบุคลากรสาธารณสุข ลดภาระงาน ลดภาระหนี้สินของบุคลากร และการนำกระทรวงสาธารณสุขออกจาก ก.พ. 

ขณะที่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ยังกล่าวในการประกาศนโยบายฯ ว่า พร้อมสนับสนุนและดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกระดับการบริการและหน่วยบริการสุขภาพในทุกระดับ  การพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศรวมไปถึงการดูแลส่งเสริมขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรสาธารณสุขมีความสำคัญไม่น้อยกว่าอื่นๆ โดยฝากรมว.สาธารณสุข ถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากร ขาดแคลนหมอ เพื่อร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้

(“สมศักดิ์” ประกาศนโยบายเดินหน้า 30 บ.รักษาทุกที่ ดันกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ.)

 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการดูแลบุคลากร ทางด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยเปิดเผยถึงนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการแก่แพทย์และทันตแพทย์ที่บรรจุเป็นข้าราชการใหม่ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้มอบให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาล  ย้ำถึงความสำคัญในการดูแลข้าราชการใหม่ ทั้งสายงานแพทย์ ทันตแพทย์ และสหวิชาชีพอื่นๆ ให้มีความเป็นอยู่และประสบการณ์การทำงานที่ดี เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ โดยคำนึงถึงความต้องการของข้าราชการใหม่ 5 เรื่อง คือ 1. ค่าตอบแทน 2. ภาระงาน 3. ความก้าวหน้าในวิชาชีพ   4. การศึกษาต่อ  และ  5. การสั่งสมประสบการณ์   

(ปลัดสธ.มอบนโยบายแพทย์-ทันตแพทย์บรรจุใหม่ แนะ 5 เรื่องผู้บริหารต้องดูแล)

นอกจากนี้ ในเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพ ภาระงานต่างๆ ปลัดสธ.ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้กำลังขับเคลื่อนร่างยุทธศาสตร์แผนกำลังคนด้านสุขภาพทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้ทราบอัตรากำลังได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น

('สมศักดิ์'สั่งเคลื่อนงานเพื่อบุคลากร ด้านปลัดสธ.เผยแผนกำลังคนระดับชาติ คาดเสร็จ มิ.ย.นี้)

 

ขณะที่ค่าเสี่ยงภัยโควิด บรรจุข้าราชการโควิด ความคืบหน้าล่าสุดเป็นไปตามที่มีการนำเสนอข่าวก่อนหน้านี้ 

-รวมตรงนี้!บรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง-นักสาธารณสุข – แผนความก้าวหน้าวิชาชีพอื่นๆ

-“สมศักดิ์” รวบรวมประเด็นเสนอนายกฯ "คน เงิน" รับแผนยกระดับ 30 บ.ไม่ทิ้งค่าเสี่ยงภัยโควิด

 

ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างการดำเนินงานคร่าวๆที่กระทรวงดำเนินการ ยังไม่รวมในเรื่องของการผลิตแพทย์เพิ่มตามโครงการผูกพันจากครม. ทั้งทีมหมอครอบครัว แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว  หรือ 9 หมอ อีกหลายเรื่องน่าจับตามอง แต่ประเด็นสำคัญที่บุคลากรต้องการมากที่สุด คือ ค่าตอบแทน ภาระงาน ความก้าวหน้า ความเป็นธรรมในวิชาชีพ ฯลฯ 

เป็นอีกยุคของรมว.สมศักดิ์ ว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างไร