ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันนี้ (5 ก.ค.65) เวลา 10.30 น. ศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าวการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ประจำปี พ.ศ. 2565 “Siriraj International Conference in Medicine and Public Health (SICMPH 2022)” ร่วมกับ ศ.พญ.ธนัญญา บุณยศิรินันท์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และรศ.นพ.อัฐพร ตระการสง่า ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมด้วยคณะกรรมการการจัดงานประชุมวิชาการฯ ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการการประชุมวิชาการฯ กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการฯ ที่ผ่านมาคณะฯ ได้จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในรูปแบบของ onsite และเมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงได้เปลี่ยนรูปแบบเป็น online ซึ่งเป็นรูปแบบที่ยังคงเผยแพร่ให้ความรู้ทางการแพทย์ได้อย่างต่อเนื่องหลังจากที่มีการว่างเว้นกิจกรรมที่ลดการสัมผัสลง ในปีนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้มีจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการแพทย์และการสาธารณสุขประจำปี 2565 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า SICMPH 2022 ขึ้นอีกครั้ง ภายใต้ประเด็นหลัก “Transdisciplinary Approach for Innovative Health System” ซึ่งจะจัดตั้งแต่วันที่ 3 - 5 สิงหาคม 2565 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการประชุม โดยวิทยากรในงานประชุมครั้งนี้ คณะฯ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากศาสตร์ด้านการแพทย์หลากหลายสาขาวิชา รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิจากศาสตร์ด้านอื่น ๆ ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการ ด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการศึกษา และด้านเศรษฐศาสตร์การเงินและการลงทุน มาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ และนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนากับศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข   
   
ส่วนรูปแบบและเนื้อหาของการประชุมวิชาการฯ ในครั้งนี้ ศ.พญ.ธนัญญา บุณยศิรินันท์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า จัดขึ้นในรูปแบบ hybrid ซึ่งเป็นการจัดประชุมวิชาการในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งการจัดประชุมในรูปแบบ hybrid หรือ online ยังทำให้บุคลากรที่อยู่ไกล ไม่สะดวกในการเดินทาง ยังสามารถได้ความรู้จากการประชุมได้ ดังนั้นการจัดงานแบบ hybrid หรือที่เรียกว่า รูปแบบผสมผสานในครั้งนี้ จึงเป็นครั้งแรกของการจัด onsite และ online ที่ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมฟังประชุมได้ทั้งแบบ onsite และ online โดยไม่พลาดหัวข้อเรื่องสำคัญ ๆ และหลังจากจบการประชุมแล้ว ยังสามารถรับชมหัวข้อที่สนใจย้อนหลังได้อีกด้วย

งานประชุมวิชาการฯ ในครั้งนี้ เหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่แพทย์ที่จบแล้ว แพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และนักเทคนิคการแพทย์ รวมถึงบุคคลที่สนใจในศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ซึ่งมั่นใจว่าผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างยิ่งและสามารถนำความรู้ที่ทันสมัย และความรู้แบบข้ามศาสตร์ไปประยุกต์ใช้หรือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในอนาคตได้    

ทั้งนี้ รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ  กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากรูปแบบการจัดงานที่เหมาะสมทันสมัยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว หัวข้อของการประชุมวิชาการยังถูกคิดปรับให้มีความหลากหลายน่าสนใจต่อผู้เข้าร่วมประชุม โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ การแพทย์ข้ามศาสตร์ (Transdisciplinary medicine) ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านวิชาการและวิทยาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่เกิดขึ้นจากบุคลากรหลายสาขาวิชาชีพไม่เพียงแต่ความร่วมมือในวงการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังเป็นความร่วมมือแบบข้ามศาสตร์ ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันจนเกิดการพัฒนาองค์ความรู้รูปแบบใหม่ ๆ เกิดนวัตกรรม เทคโนโลยี ตลอดจนการบริหารจัดการที่มุ่งไปสู่อนาคต รวมถึงการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต และอีกส่วนคือ ความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ในด้านต่าง ๆ (Updated knowledge) ซึ่งเป็นหัวข้อเกี่ยวกับความรู้ที่ทันสมัยประมาณ 50 หัวข้อ ตลอดระยะเวลา 3 วัน 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะถึงการจัดประชุมวิชาการในวันนั้น หัวข้อที่น่าสนใจจะถูกนำไปเผยแพร่ในรูปแบบวีดิทัศน์ก่อนที่จะถึงวันงาน (Pre-Congress) เพื่อให้เกิดความสนใจมากยิ่งขึ้นก่อนได้แก่ หัวข้อเกี่ยวกับแพทยศาสตรศึกษา เช่น Treats & error (ภาวะคุกคามและความผิดพลาด), Human factors (มนุษยปัจจัย), Situation  awareness  &  decision making  (ความตระหนักรู้ในสถานการณ์และการตัดสินใจ),  cognitive bias (อคติทางความคิด) และ surprise & startle effect (การตอบสนองต่อเหตุประหลาดใจหรือเหตุตกใจ) และการวางแผนการลงทุนในอนาคตกับระเบียบโลกใหม่ ซึ่งหัวข้อที่กล่าวมานี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่จัดในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านการแพทย์และการสาธารณสุขประจำปี 2565 ภายใต้หัวข้อหลัก “Transdisciplinary Approach for Innovative Health System” ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sicmph.com 

สำหรับกิจกรรมภาคประชาชน รศ.นพ.อัฐพร ตระการสง่า ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพ ในฐานะผู้แทนประธานคณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมภาคประชาชน กล่าวว่า จัดในรูปแบบ hybrid เช่นเดียวกัน ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมภาคประชาชนได้จากทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งรูปแบบ hybrid นี้ยังสอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กิจกรรมภาคประชาชนมีทั้งกิจกรรมบนเวทีและนิทรรศการในด้านสหวิทยาการสำหรับนวัตกรรมระบบสุขภาพศิริราช พร้อมทั้งมีกิจกรรมบทเวทีเสวนา และการออกบูธกิจกรรมให้ความรู้ โดกิจกรรมในวันแรก (3 ส.ค.) จะเป็นการจัดแสดงและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ ศูนย์ความเป็นเลิศการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม (Siriraj Hip and Knee Joint Replacement Excellent Center หรือ SIELITE) ในวันที่สอง (4 ส.ค.) จะเป็นการนำเสนอนวัตกรรมการช่วยเหลือผู้ป่วย Stroke ผ่านรถโมบายสโตรคยูนิต (Mobile Stroke Unit) รูปแบบใหม่เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน รวมถึงมี Model รถขนาดจำลองมาจัดแสดง และวันสุดท้าย (5ส.ค.) จะเป็นกิจกรรม Workshop การช่วยฟื้นคืนชีพ Cardiopulmonary Resuscitation (CPR) สำหรับประชาชนทั่วไป และมีตัวแทนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษามาแข่งขัน Cardiopulmonary Resuscitation (CPR)  มีการสอนปฏิบัติจริง นอกจากนี้ ยังมีภาคีเครือข่ายมาร่วมให้ความรู้กับประชาชนในครั้งนี้ ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมอนามัย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงออกกำลังกายผ่านระบบ Telemed จากงานสร้างเสริมสุขภาพศิริราช ทุกกิจกรรมจะมีการ Live ผ่าน Facebook Fanpage: งานสร้างเสริมสุขภาพศิริราช ซึ่งประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมภาคประชาชนในครั้งนี้ จะได้รับรู้นวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย และช่วยเพิ่มความมั่นใจในการรักษามากยิ่งขึ้น ประชาชนที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง Facebook Fanpage: งานสร้างเสริมสุขภาพศิริราช และ http://www.si.mahidol.ac.th/th/division/HpH

นอกจากกิจกรรมที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา กล่าวปิดท้ายว่า การประชุมวิชาการในปีนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาส ๑๓๐ ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในหัวข้อ “มหิดลบำเพ็ญ” โดยจัดทำในรูปแบบ Hybrid exhibition โดยสถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวโรกาสครบรอบ ๑๓๐ ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ ในปี พ.ศ.2565 จัดแสดง ณ บริเวณศาลาศิริราช ๑๐๐ ปี โดยมีเนื้อหา 4 ส่วนหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
1. “เจ้าฟ้ามหิดล” นำเสนอพระราชประวัติ
2. “พระมหากรุณาธิคุณ” ของสมเด็จพระบรมราชชนกต่อโรงพยาบาลศิริราช และที่อื่น ๆ เช่น พระราชทานเงินสร้างอาคารต่าง ๆ ในโรงพยาบาลศิริราช อาทิ ตึกมหิดลบำเพ็ญ ตึกอัษฎางค์ ตึกตรีเพ็ชร 
3. “เสด็จสวรรคต” นำเสนอผลสืบเนื่องมาจากพระกรณียกิจหลังเสด็จสวรรคตแล้ว
4. “มหิดล”

ซึ่งประชาชนผู้สนใจสามารถรับชมนิทรรศการออนไลน์ ได้ที่ www.si.mahidol.ac.th/exhibit/ 

และกิจกรรมสุดท้ายที่จะจัดขึ้น เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ต้องกล่าวถึง เพราะเป็นครั้งแรกที่คณะฯ จะจัดกิจกรรมนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคณะฯ ได้ก้าวไปพร้อมกับยุคสมัยใหม่ กิจกรรมนั้นคือ Siriraj Hackathon ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นกิจกรรมการระดมสมองเป็นทีมระหว่างนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาคณะอื่น ๆ และนักเรียนชั้นมัธยมปลาย ที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อค้นหาและสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ในการแก้ไขโจทย์ปัญหาที่กำหนดให้ในระยะเวลาอันสั้น และเกิดการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งความคิดที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้จริง ซึ่งผู้ชนะการแข่งขันในครั้งนี้ จะได้รับรางวัล และอาจจะมีการพัฒนาความคิดไปจนถึงการทำโครงการร่วมกันในอนาคตกับคณะฯ ได้ ท่านที่สนใจการแข่งขันในครั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดการแข่งขันและการรับสมัครได้ที่ www.sicmph.com 

จึงขอเชิญชวนแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขร่วมลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมวิชาการฯ ได้จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ผ่าน www.sicmph.com สอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานวิชาการ โทร. 0 2419 2673- 4, 0 2419 2678 (วันเวลาราชการ) หรือ e-mail: sirirajconference@mahidol.edu

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org