ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ลงนามแอสตร้าฯ เปลี่ยนวัคซีนโควิด-19 เป็นแอนติบอดีสำเร็จรูป "LAAB"  2.5 แสนโดส ใช้ป้องกันติดเชื้อกลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำ ลดเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต  คาดเข้าไทยเดือน ก.ค.ก่อน 7 พันโดส ด้านกรมควบคุมโรคเผยหารือร่วมผู้เชี่ยวชาญโรงเรียนแพทย์ ราชวิทยาลัยต่างๆ มุ่งใช้กลุ่มไตเรื้อรังที่ต้องฟอก ล่าสุดเพิ่มกลุ่มปลูกถ่ายอวัยวะ พร้อมหารือ สปสช. จัดสัดส่วนก่อนกระจายพื้นที่ทั่วประเทศ

 
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาจัดหาแอนติบอดีสำเร็จรูป Long Acting Antibodies (LAAB) เพื่อการป้องกันโควิด 19 ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้ลงนามจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ เพื่อเข้ามาสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนในประเทศ อย่างไรก็ตาม วัคซีนทุกชนิดเมื่อฉีดแล้วจะมีประชากรบางกลุ่มที่ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีหรือภูมิคุ้มกันตกลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดแล้วป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ ได้แก่ ผู้สูงอายุมากๆ กลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือปลูกถ่ายไขกระดูกและได้รับยากดภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ทุกวัน ดังนั้น ศบค.จึงมอบหมายให้ สธ.จัดหา LAAB มาใช้ดูแลกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด 19

สำหรับ LAAB เป็นแอนติบอดีที่ออกฤทธิ์ยาว มีส่วนประกอบ 2 ชนิด คือ Tixagemab 150 มิลลิกรัม และ Cilgavimab 150 มิลลิกรัม ผ่านการรับรองใช้แบบในภาวะฉุกเฉินที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้ว ล่าสุด อย.ไทยได้อนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นกันเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 มีข้อบ่งใช้ในผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 40 กิโลกรัม โดยให้ก่อนการสัมผัสโรค ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 6 เดือน มีประสิทธิผลร้อยละ 83 ในการลดความเสี่ยงอาการรุนแรงของโควิด และจากการศึกษาพบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

 

"การลงนามในครั้งนี้จะจัดหา LAAB เข้ามาจำนวน 2.5 แสนโดส โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม เนื่องจากเป็นการปรับสัญญาเพื่อเปลี่ยนวัคซีนแอสตร้าฯ บางส่วนมาเป็น LAAB ภายในกรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่ ครม.อนุมัติ ซึ่งก็ทำให้ใช้งบลดลง 125 ล้านบาท ถือว่าวินวินทั้ง 2 ฝ่าย โดยจะทยอยเข้าภายในเดือนนี้ก่อน 7 พันโดส  " นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวถึงแนวทางการกระจายและการเข้าถึงบริการของภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ว่า เราเชิญทางโรงเรียนแพทย์ เช่น จุฬาฯ รามาฯ ศิริราช รวมถึงราชวิทยาลัยต่างๆ มาหารือว่าจะใช้ในกลุ่มไหน ซึ่งเดิมในการศึกษาเราใช้ในกลุ่มที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกไตว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แต่ทางผู้เชี่ยวชาญทางโรงเรียนมาหารือก็อยากเพิ่มกลุ่มปลูกถ่ายอวัยวะ เนื่องจากกลุ่มนี้กว่าจะได้อวัยวะมาก็ยาก แม้การศึกษาเบื้องต้นอาจจะยังไม่คุ้มค่าแต่ไม่ได้ดูเรื่องคุณภาพชีวิต จึงขอให้เพิ่มกลุ่มนี้ด้วย เราก็จะใส่เพิ่มเข้าไป กลุ่มเป้าหมายสามารถเพิ่มได้ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หลังจากกำหนดกลุ่มเป้าหมายแล้วก็เชิญ สปสช. ซึ่งอยู่ในคณะมาหารือว่าแต่ละจังหวัดมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเท่าไร ซึ่ง สปสช.มีข้อมูลอยู่แล้ว ก็จะกระจายตามสัดส่วนลงไป ส่วนผู้ป่วยกลุ่มอื่นที่เพิ่มเข้ามาจะขอข้อมูลเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นยาตัวใหม่ใช้ได้ทั้งการป้องกันและการรักษา ซึ่งทางบริษัทยื่น อย.ในเรื่องการใช้ในการป้องกัน แต่ทราบว่าน่าจะยื่นเรื่องการรักษาเพิ่มเติมในเดือนนี้ ทางอาจารย์โรงเรียนแพทย์หลายท่านก็อยากนำไปศึกษาวิจัยเพิ่มเติมว่าประสิทธิภาพเป็นอย่างไร รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ด้วย ส่วนจำนวนตัวเลขชัดๆ ว่าจะกระจายเท่าไร น่าจะเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้

"ผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ก็จะเหมือนวัคซีนโควิดที่เราส่งไปที่จังหวัดเพื่อให้ไปกระจายต่อตามจำนวนผู้ป่วยที่มีข้อมูลของ สปสช. ส่วนโรงเรียนแพทย์จะเน้นการศึกษาวิจัยมากกว่า จะได้ดูกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นและได้ประโยชน์ด้วย เนื่องจากเป้นยาใหม่ความรู้การนำมาใช้ในประเทศยังน้อย  ประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับเพราะ อย.ขึ้นทะเบียนแล้ว แต่จะใช้ในกลุ่มเป้าหมายไหนให้เหมาะสมต้องศึกษากันต่อไป" นพ.โอภาสกล่าว

ถามว่าการฉีดในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ต้องฉีดทุก 6 เดือนเหมือนกันหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า เบื้องต้นขึ้นทะเบียนฉีดไป 1 ครั้งฤทธิ์จะอยู่ได้นาน 6 เดือน แต่จากนั้นต้องฉีดต่อหรือไม่ต้องดูอีกครั้ง เนื่องจากเราต้องดูตามสถานการณ์การระบาดด้วย ช่วงนี้น่าจะเหมาะที่สุดเพราะโรคกำลังระบาด แต่สมมติครบ 6 เดือนแล้ว โรคยังไม่ระบาดก็อาจจะดูอีกครั้งก่อนได้ จะดูประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และสถานการณ์การระบาด  

ถามถึงสัดส่วน LAAB 2.5 แสนโดส แลกเปลี่ยนกับวัคซีนแอสตร้าฯ จำนวนเท่าไร  นพ.โอภาสกล่าวว่า LAAB จำนวน 2.5 แสนโดส ประมาณ 6 พันกว่าล้านบาท เปลี่ยนกับวัคซีนเป็นจำนวนเท่าไรนั้น ตัวเลขชัดๆ ยังไม่แน่ใจ แต่หากเป็นราคาก็พบว่าทำให้การจ่ายเงินลดลงหรือประหยัดไปมากกว่า 100 ล้านบาท ก็ไม่ต้องขอ ครม.ในงบประมาณเพิ่มเติม

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org