ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์รณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและภูมิคุ้มกันสําเร็จรูป LAAB ใน รพ.สังกัดกรมการแพทย์ 35 แห่ง ด้านแพทย์รามาฯ ชี้ Long Acting Antibody เป็นอีกทางเลือกของกลุ่มเปราะบาง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง มะเร็ง ไตวาย  แนะหากใครสนใจสามารถสอบถามแพทย์ประจำตัว ลงทะเบียนผ่าน รพ.ใกล้บ้าน

 

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่โรงพยาบาลราชวิถี นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานเปิดงานรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและภูมิคุ้มกันสําเร็จรูป LAAB ว่า วันนี้รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ 35 แห่งทั่วประเทศได้มีการคิกออฟการใช้ LAAB  พร้อมกัน ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกที่มีการรณรงค์ร่วมกับการฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับการติดเชื้อโควิดคาดการณ์ว่า จะมีมากขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพราะจะมีการเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชน มีการร่วมกิจกรรมมากขึ้น ซึ่งสถิติในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 7 วันอยู่ที่ 3,957 ราย เฉลี่ยวันละ 565 ราย  ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบ 432 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 252 ราย เสียชีวิต 65 ราย แต่ล่าสุด 7 วันที่ผ่านมาในเดือนธ.ค. ผู้ป่วยรายใหม่เหลือ 2,900 ราย แต่ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตยังคงที่  ซึ่งยังมีกลุ่มที่ต้องโฟกัสและมีความจำเป็นที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น และ LAAB

 

นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายในการให้บริการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งจะลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ก็เป็นอีกทางที่จะช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ทันที และป้องกันการป่วยหนักและลดการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงต่างๆได้มากขึ้น โดยเมื่อเข้าไปสู่ร่างกายจะสามารถต้านทานโรคได้ทันที ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้กันทั่วโลก และยังมีการขึ้นทะเบียนภูมิคุ้มกันในกลุ่มเปราะบางต่างๆ ที่มีความเสี่ยงเสียชีวิต โดยผลการวิจัยยืนยันสามารถป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตได้

นพ.วีรวุฒิ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า  LAAB หลังเปิดตัวไปเมื่อเดือน ก.ค.จนถึงปัจจุบันฉีดไปได้ 2.6 หมื่นคน จากที่จัดเตรียมไว้จำนวน 2.5 แสนโดสรองรับกลุ่มเป้าหมาย โดยช่วงระยะแรกเน้นกลุ่มผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จากนั้นได้มีการทบทวนให้ขยายใช้กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งกลุ่มที่ได้รับยารักษาที่กดภูมิคุ้มกัน เช่นมะเร็ง HIV เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น รวมถึงผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนนานเกิน 6 เดือน ทั้งนี้ในกลุ่มที่ฉีดไปแล้วพบผลข้างเคียงน้อยมาก แต่ประสิทธิภาพพบสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ถึง 80% ในระยะ 6 เดือน จึงต้องรณรงค์ให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามารับบริการ โดยวันนี้รพ.สังกัดกรมการแพทย์ 35 แห่งได้มีการรณรงค์ให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามารับบริการ รวมถึงรพ.สังกัดอื่นๆ ก็จัดบริการเช่นกันสามารถติดต่อได้ ที่ผ่านมาอาจจะเป็นเพราะประชาชนยังไม่ค่อยทราบ จึงต้องประชาสัมพันธ์ รวมถึงต้องอาศัยแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยช่วยประชาสัมพันธ์ให้รับรู้ 

 

นพ.วีรวุฒิ กล่าวด้วยว่า การครองเตียงขณะนี้อยู่ที่ 12% คาดหลังปีใหม่อาจจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มในลักษณะการระบาดระลอกเล็ก ( small wave) กรมติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง และเตรียมการรับมือทั้งเตียง ยา เวชภัณฑ์ รองรับที่เพียงพอ ยังย้ำให้ประชาชนคงยึดมาตรการ DMHTT รวมถึงหากรับวัคซีนเข็ม2-3 มานานเกิน 4 เดือนแล้วก็ขอให้ฉีดเข็มกระตุ้น 

 

** ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการเสวนา “หาคำตอบ สู้โควิด” โดย ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า สำหรับข้อแตกต่างของ LAAB หรือ Long Acting Antibody กับวัคซีนโควิดนั้น โดยวัคซีน เป็นสารอย่างหนึ่งที่เมื่อเข้าไปในร่างกายด้วยวิธีการใดวิธิการหนึ่ง ซึ่งมีแบบฉีด และยังมีแบบกิน เช่น โปลิโอที่หยอดกันตอนเด็ก โดยเมื่อเข้าไปแล้วจะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ ที่ร่างกายจะสร้างภูมิฯได้เต็มที่ แต่การสร้างภูมิคุ้มกันก็จะขึ้นกับแต่ละคนด้วย  บางคนภูมิคุ้มกันสูงมาก แต่บางคนภูมิฯขึ้นไม่สูง  ส่วน LAAB เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่ออกฤทธิ์ยาว โดยเมื่อเข้าไปในร่างกาย ร่างกายไม่ต้องปรุงโดยพร้อมใช้ทันที จะมีประโยชน์กับคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ใช้ยากดภูมิฯ ซึ่งLAAB ใช้ได้ทันที

 

“หากร่างกายแข็งแรงดีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดจะดีกว่า  ส่วนคนที่สามารถใช้ LAAB นั้นจะเหมาะกับบุคคลที่ไม่สามารถรับวัคซีน เช่น มีอาการแพ้ หรือกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย รวมไปถึงผู้สูงอายุ  กลุ่มเปราะบางจะเหมาะเพราะรับวัคซีนไม่ได้ หรือรับแล้วภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น” ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าว

 

สำหรับวิธีการฉีด LAAB จะมี 2 ขวด โดยหนึ่งขวดจะมี 1.5 ซีซี ฉีดที่สะโพกข้างละ 1.5 ซีซี ซึ่งฉีดครั้งเดียวจบ โดยผลการศึกษาพบว่า เมื่อฉีดแล้วจะออกฤทธิ์ยาว 6 เดือน ป้องกันโควิดได้ร้อยละ 83  อันนี้เป็นช่วงที่มีการศึกษา แต่จะยาวนานกว่านี้หรือไม่ต้องรอข้อมูลที่กำลังติดตามต่อเนื่อง ส่วนวัคซีนโควิดฉีดแล้วภูมิคุ้มกันขึ้น แต่สักพักภูมิฯก็จะตก จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดย 4 เดือนควรฉีดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608  

ภญ.ชิดชนนี โกศลพัฒนดุรงค์ รักษาการหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับวัคซีนทั่วไปได้ สามารถติดต่อกับแพทย์เจ้าของไข้ของท่าน เพื่อให้แพทย์ตัดสินใจพิจารณาว่า สมควรได้รับวัคซีน หรือ LAAB หลังจากเข้าพบแล้ว ทางแพทย์จะลงทะเบียนในระบบของโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งโรงพยาบาลราชวิถีเรามีโต๊ะลงทะเบียน โดยผู้ป่วยที่รับบริการของรพ.ราชวิถีสามารถติดต่อลงทะเบียนได้ทันที ส่วนประชาชนในต่างจังหวัดสามารถติดต่อ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ในจังหวัดของท่าน หรือรพ.ใกล้บ้านของท่านได้ ซึ่งแต่ละรพ.จะมีระบบในการให้บริการ

 

ทั้งนี้ สำหรับอาการข้างเคียงจากการใช้ LAAB ไม่รุนแรง ส่วนใหญ่ปวด เจ็บบริเวรที่ฉีด ซึ่งเป็นอาการทั่วไป โดยพบประมาณ1.3-1.4% หรือคนที่รับLAAB 100 คนจะพบอาการ 2 คนครึ่ง จึงไม่ต้องกังวล เพราะมีการศึกษาวิจัยรองรับว่า ผลข้างเคียงน้อย ไม่รุนแรงและหายได้เอง

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org