ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดไทม์ไลน์ผู้ป่วย "โรคฝีดาษวานร" รายแรกในประเทศไทย หนีการรักษาจริงหรือไม่ พบกลุ่มเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกี่ราย

จากกรณีพบผู้ป่วยโรค ‘ฝีดาษวานร’ รายแรกในประเทศไทย เป็นชายชาวไนจีเรีย อายุประมาณ 27 ปี ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกนั้น นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธาณสุขจังหวัดภูเก็ต และนพ.วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ร่วมกันแถลงข่าววันนี้ (22 ก.ค. 2565) ณ ห้องประชุมศาลากลาง มุขหลัง ชั้น 5

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : "ฝีดาษวานร" ไนจีเรียรายแรกในไทย ยังไม่พบรายอื่นเพิ่ม! ผู้ป่วยหนีหรือไม่ รอภูเก็ตแถลง)

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนว่า มีผู้ป่วยที่มีลักษณะคล้ายโรคฝีดาษวานรเข้ารับการรักษาตัว จึงเก็บตัวอย่าง ระหว่างนั้นผู้ป่วยมาพักรอในที่พักอาศัย จนผลออกมาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ยืนยันว่าเป็นโรคฝีดาษวานรจริง มีการนัดเข้ามารักษาตัว ปรากฎว่า ไม่พบตัวแล้ว ขณะนี้กำลังติดตามตัว เพื่อให้เข้ารับการรักษาต่อไป

ด้านนพ.กู้ศักดิ์ กล่าวถึงไทม์ไลน์ของผู้ป่วยชายชาวไนจีเรีย ว่า เคสนี้นับเป็นเคสที่ 4 ที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคฝีดาษวานร ทางโรงพยาบาลจึงเจาะเลือดส่งเพาะเชื้อในวันที่ 18 ก.ค. ทราบผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยืนยันว่าพบเชื้อ จึงได้ประสานผู้ป่วยเพื่อรับตัวมารักษา แต่ผู้ป่วยปฏิเสธและปิดโทรศัพท์ จากนั้นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับทางสำนักงานสาธารณสุขอำเภอกะทู้ ลงพื้นที่ตรวจสอบว่าพักอยู่ที่ไหน พร้อมประสานกับทาง ตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) ทันที มีการเฝ้าที่คอนโด จนในวันที่ 19 ก.ค.ช่วงบ่าย ผลแล็ปที่ 2 จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขก็ยืนยันว่าเป็นโรคฝีดาษวานร 

"สำหรับข้อมูลของผู้ป่วยเป็นเพศชาย ชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี ปฏิเสธการให้ประวัติอาชีพ ช่วงหลังบอกว่าเป็นนักธุรกิจ เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 เข้าพักอาศัยที่คอนโดมิเนียมในตำบลป่าตองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 มีประวัติเสี่ยงในสถานบันเทิงที่ป่าตอง 2-3 สัปดาห์ก่อนป่วย และมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัยกับผู้หญิง จนวันที่ 9 ก.ค. 2565 เริ่มมีอาการป่วย ไอ เจ็บคอ ผื่นขึ้นจากอวัยวะเพศลามไปยังใบหน้า แขน ขา จนวันที่ 16 ก.ค. เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชน เมื่อสงสัยว่าเข้าข่ายของโรคจึงเจาะเลือดส่งตรวจ แต่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล เพราะไม่มีอาการมากนัก โรงพยาบาลจึงรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแนะนำให้กักตัวอยู่ที่คอนโดที่พัก จนวันที่ 18 ก.ค. ในช่วงเย็นทางโรงพยาบาลได้โทรศัพท์ไปประสานเพื่อรับตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แต่ผู้ป่วยปิดโทรศัพท์ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามพบว่า ผู้ป่วยนั่งแท็กซี่ออกจากคอนโดไปในเวลา 19.30 น. ไปเช็คอินที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.ป่าตอง จากนั้นในเวลา 21.00 น. ผู้ป่วยได้นำกุญแจมาวางไว้ที่เคาท์เตอร์และหายไป" นพ.สสจ.ภูเก็ต กล่าว

ส่วนการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด นพ.สสจ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า ทีมสอบสวนได้ดูกล้องวงจรปิดในที่พักอาศัย พบผู้สัมผัสใกล้ชิด 2 คน เป็นชายชาวไนจีเรียกับแฟนสาว ส่วนโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งที่ผู้ป่วยได้เดินทางไปนั้น มีการป้องกันเป็นอย่างดี จึงมีเพียงผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ โดยสรุปรวมมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 17 คน ช่วงวันที่ 18-19 ก.ค. ได้ส่งตรวจไป 7 คน จากคอนโดและสถานบันเทิง ตรวจไม่พบเชื้อ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ส่งตรวจเพิ่มจากคนในชุมชน และยังรอผลของคนที่เพิ่งส่งตรวจไป สำหรับโรคฝีดาษวานรนั้นติดต่อยาก อาการของสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกก็ไม่รุนแรง ต้องเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดแบบเนื้อแนบเนื้อ มีการไอจามใส่หน้ากัน จึงจะเป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง

ขณะที่ นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า โรคฝีดาษวานรเป็นเชื้อไวรัส ลักษณะโรคคล้ายกับโรคอีสุกอีใส มีไข้ ตุ่มน้ำตุ่มหนอง แต่ติดยากกว่าโรคอีสุกอีใส ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับสารคัดหลั่งตรงตุ่มน้ำตุ่มหนอง ไอจามรดกัน หรือมีเพศสัมพันธ์ โดยระยะฟักตัวอยู่ที่  5-21 วัน ส่วนใหญ่ต้องเฝ้าระวังในช่วงที่ผื่นขึ้นซึ่งจะเริ่มแพร่เชื้อในตอนนั้น ระยะของผื่น 2-4 สัปดาห์ และผื่นจะหายไป หลังจากนั้นจะไม่แพร่เชื้ออีก ลักษณะของผื่นจะขึ้นบริเวณ มือ เท้า อวัยวะเพศ ก่อนจะกระจายทั่วตัว สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้องระวัง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เพราะเชื้อนี้ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ หากคนท้องได้รับเชื้ออาจเกิดอาการรุนแรงได้ รวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่แออัด 

ขอบคุณข้อมูลจากไลฟ์ของ Phuket Times ภูเก็ตไทม์ 

 

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมวิทย์ยันผลตรวจสอบคุณภาพวัคซีนฝีดาษคน ของอภ. 13 รุ่น เก็บไว้ 40 ปียังมีคุณภาพ)

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org