ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเมื่อวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2565 ให้ "การระบาดของฝีดาษลิงทั่วโลกถือเป็นเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่น่าเป็นห่วงในระดับนานาชาติ"

เทดรอสระบุว่าความเสี่ยงในปัจจุบันของฝีดาษลิงอยู่ในระดับปานกลางทั่วโลกและในทุกภูมิภาค ยกเว้นในภูมิภาคยุโรปที่มีความเสี่ยงสูง และ “นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่ชัดเจนของการแพร่กระจายระหว่างประเทศต่อไป แม้ว่าความเสี่ยงของการแทรกแซงการติดเชื้อระหว่างประเทศยังคงต่ำอยู่ในขณะนี้” 

          หัวหน้าองค์การอนามัยโลกกล่าวว่าแม้ว่าเขาจะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เป็นข้อกังวลระหว่างประเทศ แต่ในขณะนี้การระบาดของโรคงฝีดาษลิงนั้นกระจุกตัวในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายโดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน

“นั่นหมายความว่านี่คือการระบาดที่สามารถหยุดยั้งได้ด้วยกลยุทธ์ที่ถูกต้องในกลุ่มที่เหมาะสม” 

          เทดรอสกล่าวว่าจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนของผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย เพื่อออกแบบและส่งมอบข้อมูลและบริการที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อใช้มาตรการที่ปกป้องสุขภาพ สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

พร้อมเตือนว่า “การตีตราและการเลือกปฏิบัติอาจเป็นอันตรายได้พอๆ กับไวรัสใดๆ”  โดยเรียกร้องให้องค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทำงานร่วมกับหน่วยงานในการต่อสู้กับการตีตราและการเลือกปฏิบัติ (1)

          จะเห็นได้ว่าในขณะที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้การระบาดของฝีดาษลิงเป็น "เหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่น่าเป็นห่วงในระดับนานาชาติ" แต่สิ่งที่น่าห่วงพอๆ กันคือการ “การตีตราและการเลือกปฏิบัติอาจเป็นอันตรายได้พอๆ กับไวรัสใดๆ” ซึ่งในที่นี้หมายถึงการตีตรา (Stigma) กลุ่มชายรักชาย อันเป็นกลุ่มหลักที่เสี่ยงต่อการติดเชื้่อผีดาษลิง ประเด็นนี้ถูกพูดถึงกันมาตั้งแต่เริ่มการระบาด แต่เมื่อการระบาดถูกยกระดับมากขึ้น การตีตราก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นด้วย

          นี่ไม่ใช่ความกังวลแบบ "เอาเท่" ในยุคที่ทุกคนต้องพูดถึงความหลากหลายทางเพศ (ไม่อย่างนั้นจะตกขบวน) และต่างร่วมแรงร่วมใจกันเกือบจะทุกฝ่ายเพื่อฉลองเดือน pride month กันไปหยกๆ แต่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงและเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกไม่น้อย 

          ตัวอย่างเช่น กรณีของทวีตเหยียดเพศ/สร้างความรังเกียจทางเพศจากศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย UT-Dallas เกี่ยวกับการระบาดของโรคฝีดาษลิง ทวีตดังกล่าวระบุว่าไวรัสติดต่อทางเพศสัมพันธ์และยังตั้งคำถามว่า “อย่างน้อยเราลองหาวิธีรักษาการรักร่วมเพศโดยเฉพาะในผู้ชายได้ไหม” (2)

          ทวีตนี้ทำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องสั่งสอบเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะเข้าข่าย Homophobia หรือการตั้งแง่รังเกียจกลุ่มรักเพศเดียวกัน โดยเฉพาะการระบุถึงการรักษารสนิยมรักเพศเดียวกัน อันเป็นประเด็นเปราะบางอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับมองว่ารสนิยมทางเพศนี้ "ไม่เหมาะสม" และควรแก้ไข และ/หรือ รสนิยมทางเพศแบบนี้ถือเป็น "โรค" สมควรต้องได้รับการเยียวยา ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ได้รับการยอมรับกัน

          เรื่องนี้เกิดในรัฐเท็กซัส ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความเป็นอนุรักษ์นิยมในสหรัฐอเมริกา ในสังคมที่มีลักษณะอนุรักษ์นิยมสูง ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้จะมากเป็นพิเศษ เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีการ "แสดงพลัง" ต่อต้านกลุ่มความหลากหลายทางเพศอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงเดือน pride month ซึ่งมันเป็นช่วงเดือนที่มาพร้อมๆ กับการระบาดของโรคฝีดาษลิงพอดี ทำให้เกิดความกังวลว่ากลุ่มความหลากหลายทางเพศจะถูกโจมตีจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

          The Korea Herald สื่อในเกาหลีใต้ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อตัดสินโดยสื่อสังคมออนไลน์ ข้อกังวลเรื่องการโจมตีกลุ่มหลากหลายทางเพศนั้นไม่ใช่เรื่องเกินกว่าเหตุ โดยอ้างถึงทวีตเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ระบุว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าการติดเชื้อฝีดาษลิงแพร่กระจายไปมากกว่านี้ (ที่นี่ คือ เกาหลีใต้) เนื่องจากเกย์ เลสเบี้ยน และกลุ่มรักร่วมเพศอื่นๆ” อีกคนโพสต์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน โดยอีกคนหนึ่งระบุว่า “เกย์เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อไวรัสโรคฝีดาษลิง” แน่นอนว่า แม้จะเป็นการระบุถึงข้อเท็จจริง แต่การระบุถึงข้อเท็จจริงแบบนี้ก็สุ่มเสี่ยงกับการตีตรากลุ่มเกย์เหมือนกัน

          และจะเห็นได้ว่าเมื่อเคสแรกได้รับการยืนยันในเกาหลีใต้ ปรากฏว่าและโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยโพสต์โจมตีชุมชน LGBT  และความกังวลนี้ทำให้ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม จึงมีบางคนเรียกร้องให้มีการยกเลิกงาน Seoul Queer Culture Festival ด้วยเหตุผลที่ว่ากลุ่มรักร่วมเพศจำนวนมากรวมตัวกันที่ใจกลางกรุงโซล จะทำให้เมืองเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของฝีดาษลิง (3)

          แต่ในชุมชนความหลากหลายทางเพศก็มองเห็นถึงความอิหลักอิเหลื่อของการไม่พุดตรงๆ เกี่ยวกับฝีดาษลิงและความพัวพันของมันกับกลุ่มรักเพศเดียวกันโดยเฉพาะในผู้ชาย เช่น Mark S. King บล็อกเกอร์ นักเขียน นักพูด และนักเคลื่อนไหวด้านเอชไอวี/เอดส์ที่ได้รับรางวัล และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรณรงค์เกี่ยวกับเอชไอวีตั้งแต่แรกๆ ได้เขียนบทความใน Los Angeles Blade ซึ่งเป็นหนักสือพิมพ์ของกลุ่ม LGBTQ ในนครลอสแองเจลิส

          Mark S. King ชี้ว่า "สื่อกระแสหลักและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังระมัดระวังไม่ให้ติดป้ายโรคฝีดาษลิง ว่าเป็น "โรคของเกย์" จนกระทั่งพวกเขากำลังทำร้ายชายเกย์ที่ต้องการข้อมูลที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับการระบาด ในขณะที่ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดไปด้วย" นั่นหมายความว่าการระมัดระวังเกินไปจนกลัวว่าจะเป็นการ "ตีตรา" กลุ่มเกย์ อาจเป็นการทำร้ายกลุ่มเกย์เสียเอง เพราะทำให้ข้อมูลกระพร่องกระแพร่ง

          เขาย้ำว่า แน่นอนว่ามันจะมีการตีตราและการตีขลุม "แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะกลบฝังข้อเท็จจริงที่สำคัญในข้อความที่คลุมเครือและหลีกเลี่ยง" เขาย้ำในตอนท้ายว่า

"ฝีดาษลิงเป็นเรื่องของเกย์ นั่นคือความจริง" (4)

 

 

อ้างอิง

1. "Monkeypox declared a global health emergency by the World Health Organization". (23 July 2022). UN.

2. McGee, Kate. (JULY 20, 2022). "UT-Dallas is investigating a professor’s homophobic tweet with misinformation about monkeypox". Texas Tribune.

3. Choi Jae-hee. ( Jul 7, 2022). "[Newsmaker] Monkeypox feared to trigger fresh wave of homophobia". The Korea Herald.

4. King, Mark S. (July 19, 2022). "Monkeypox is a gay thing. We must say it". Los Angeles Blade.

 

ภาพ FULBERT/wikipedia.org