ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดข้อมูลประสิทธิผลวัคซีนโควิด ต่อโอมิครอนช่วงสายพันธุ์ BA.1/BA.2  สำรวจราว 3 ล้านคน ผู้สูงอายุอีกกว่า 4 แสนคน พบฉีดสูตรไขว้ มีประสิทธิผลลดการป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจได้ 72-83%  และเมื่อฉีดกระตุ้นเข็ม 3 เข็ม 4 ยิ่งเพิ่มประสิทธิผล ลดป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจและลดการเสียชีวิตจาก 70% เป็น 90% และ99% ตามลำดับ  ย้ำ! ขอให้มารับบูสเตอร์หลังทิ้งห่าง 4 เดือน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ กลุ่ม 608

 

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 ส.ค. 2565  สถาบันวัคซีนแห่งชาติ  จัดการเสวนาวิชาการ ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom webinar) เรื่อง: ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น เข็ม 3 และ4 จากการใช้จริงในประเทศไทย และอัปเดตข้อมูลสำหรับวัคซีนรุ่นใหม่ 

 

โดย พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ  นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด19 ว่า  มีการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนตั้งแต่ช่วงสายพันธุ์เดลตา ประมาณปลายปี 2564 ที่ผ่านมา โดยในช่วงเดลตา พบว่า การฉีดวัคซีน 2 เข็มป้องกันการติดเชื้อไม่ว่าสูตรใดก็ตาม ฉีดใหม่ๆจะป้องกันติดเชื้อเดลตาได้ 50% แต่เมื่อมากกว่า 90 วันจะเหลือ 40% แต่หาก 2 เข็มป้องกันการติดเชื้อรุนแรงช่วงแรกๆได้เกือบ 80% ไปจนถึง 90% แต่เมื่อเกิน 3 เดือนตกลงมานิดหน่อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ป้องกันได้ 80% แต่หากฉีด 3 เข็มป้องกันการติดเชื้อได้ 90%  และยังป้องกันได้เกิน 3 เดือนถึง 90%  ภาพรวมคือ 3 เข็มป้องกันการติดเชื้อได้เกือบ 100% ทีเดียว

 

พญ.ปิยนิตย์ กล่าวอีกว่า   ส่วนยุคโอมิครอนระบาดช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2565  ซึ่งเป็นสายพันธุ์ BA.1 BA.2 เป็นหลัก แต่อย่างที่ทราบสายพันธุ์นี้จะดื้อต่อวัคซีนน้อยกว่า BA.4 BA.5 ที่พบในตอนนี้  อย่างไรก็ตาม สำหรับการติดตามข้อมูลการป้องกันการติดเชื้อ 1 โดส และ 2 โดส ถือว่าไม่มีประสิทธิภาพ แต่ 3 โดสมีประสิทธิภาพ แต่หากกระตุ้นมากขึ้นก็จะป้องกันได้มากขึ้น ส่วนป้องกันการติดเชื้อรุนแรง 2 โดสป้องกันได้ 70% แต่เดลตาป้องกันได้ถึง 80% แต่หากกระตุ้นเป็น 3 โดสขึ้นไปจะดียิ่งขึ้น ดังนั้น หากจะป้องกันได้มากต้องกระตุ้น 3 โดสขึ้นไป

สำหรับโอมิครอน BA.1/BA.2  การป้องกันการติดเชื้อรุนแรงนั้น กรณี 2 โดส มีแอสตร้าและไฟเซอร์ได้ถึง 83% ส่วนซิโนแวค+ไฟเซอร์ 79%  คือ การมิกซ์แอนด์แมกซ์พบว่าดีเช่นกัน จึงไม่ต้องกังวลส่วนการฉีด 3 โดสส่วนใหญ่จะเป็นมิกซ์แอนแมกซ์กัน อย่างแอสตร้า 2 เข็ม+ ไฟเซอร์ ได้สูงถึง 85% ส่วนซิโนแวค 2 เข็ม+แอสตร้าได้ 94% ส่วนซิโนแวค 2 เข็ม+ไฟเซอร์ได้ 100%   ส่วนการป้องกันการติดเชื้อรุนแรงในคนทำงาน และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปก็ไม่แตกต่างกัน หากฉีด 3 โดส หรือ 4 โดสจะดีมากเช่นกัน

 

พญ.ปิยนิตย์ กล่าวว่า สรุปผลการศึกษาจากผลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนใช้จริงระดับประเทศ ช่วงการระบาดสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่เดือน ม.ค.- เม.ย.2565 พบว่า

- ผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มไม่ป้องกันการติดเชื้อ แต่ลดป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อช่วยหายใจ 70% และลดการเสียชีวิต 72%  

- ผู้ที่ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 6% ลดป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจ 90% และลดการเสียชีวิต 91%

- ผู้ที่ฉีดวัคซีน 4 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 71% ลดป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจ 99%  และลดการเสียชีวิต 99% 

-  ผู้ที่ฉีดวัคซีน 5 เข็มป้องกันการติดเชื้อ 83%

 

“การฉีดวัคซีน 2 เข็มแบบไขว้ มีประสิทธิผลลดการป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจได้ 72-83%  โดยสูงกว่าการฉีด 2 เข็มแบบคู่ทุกแพตฟอร์ม แต่หากฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 และเข็ม 4  เพิ่มประสิทธิผลวัคซีนแบบ 2 เข็ม โดยเฉพาะลดการป่วยที่รุนแรงแบบใส่ท่อหายใจและลดการเสียชีวิตจาก 70% เป็น 90% และ99% ตามลำดับ  โดยไม่ว่าจะฉีดกระตุ้นด้วย mRNA หรือ Viral Vector ประสิทธิผลไม่ต่างกัน และหากฉีดเข็ม 4 เข็ม 5 จะป้องกันติดเชื้อ 71% และ83% ตามลำดับในช่วงการระบาดโอมิครอนปี 2565”

 

พญ.ปิยนิตย์ กล่าวว่า ดังนั้น ประชาชนควรได้รับวัคซีนโควิด 3 เข็ม สูตรใดก็ได้เป็นพื้นฐาน เพื่อให้ปลอดภัยจากการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตจากโควิดมากกกว่า 90% ทั้งนี้ สูตร 2 เข็มแรกแบบไขว้และกระตุ้นเข็มสามด้วยไวรัลเวกเตอร์ หรือ mRNA มีประสิทธิผลสูงในช่วงโอมิครอน

 

ต่อคำถามว่าจริงหรือไม่การฉีดวัคซีนเข็ม 4 ติดเชื้อได้ทุกคน  พญ.ปิยนิตย์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเข็ม 4 ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่ไม่ใช่ว่าติดทุกคน  อย่างไรก็ตาม  การฉีดวัคซีนใหม่ๆ ช่วงแรกภูมิฯย่อมดี แต่เมื่อฉีดไปนานเกิน 4 เดือนภูมิคุ้มกันย่อมตก ดังนั้น จึงต้องมีการกระตุ้น โดยเฉพาะหากเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 มีโรคประจำตัว ขอแนะนำหากครบ 4 เดือนขอไปกระตุ้นอีกครั้ง  

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อมูลดังกล่าวติดตามกี่คน และมีการแยกกลุ่ม 608 หรือไม่ พญ.ปิยนิตย์ กล่าวว่า มีการติดตาม 3 ล้านคนในช่วงโอมิครอน ซึ่งมีการแยกกลุ่ม 608  ในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี มี 450,193 คน

 

(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : อัปเดต! วัคซีนโควิดรุ่นใหม่ พบ 3 ยี่ห้ออยู่ระหว่างพัฒนา แต่ไม่ใช่ BA.4/BA.5 )

ขอบคุณข้อมูลสไลด์จากพญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ  นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค  ประกอบการเสวนาออนไลน์

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org