ไทยพบสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ป่วยโควิดรักษาตัวในรพ.กว่า 2.8 พันราย เสียชีวิต 7 ราย แต่ตัวเลขความรุนแรงและเสียชีวิตในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่มากเท่าเดิม ขณะที่การระบาดกลุ่มก้อนมักพบใน รร. เรือนจำ ค่ายทหาร ล่าสุดคณะอนุกรรมการฯ กำลังพิจารณาความจำเป็นฉีดวัคซีนโควิด19 เสนอต่อ สปสช. ว่าต้องบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่เฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เหตุความรุนแรงของโรคเปลี่ยนไป ไม่แนะนำต้องฉีดทุกคน
โควิดมักระบาดในรร. เรือนจำ ค่ายทหาร
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 9–15 มิถุนายน 2567) พบผู้ป่วยโควิด 19 รายใหม่ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 2,881 ราย (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 119 ราย) เป็นผู้ป่วยอาการรุนแรงปอดอักเสบ 748 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 339 ราย เสียชีวิต 7 ราย จากข้อมูลพบว่า ผู้ที่มีอาการรุนแรงใส่ท่อช่วยหายใจและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในช่วงสัปดาห์ก่อนเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ในช่วงที่ผ่านมา มีรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อนส่วนใหญ่ยังพบในโรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร เนื่องจากมีการรวมตัวของกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้มากกว่าสถานที่อื่น ๆ
โควิด19 เป็นโรคประจำถิ่น ยังเป็นสายพันธุ์ JN.1 และลูกหลาน
ทั้งนี้ โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น จึงสามารถพบการระบาดได้ตลอดทั้งปี แต่อาจพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์ JN.1 และสายพันธุ์ลูกหลาน สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่ยังคงมีการระบาดทั่วโลก ที่มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น อาการไม่รุนแรง คล้ายไข้หวัดทั่วไป ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่หากไม่ระวังจะทำให้แพร่เชื้อติดต่อกันได้ง่ายขึ้น และขณะนี้เปิดเทอมแล้ว ขอเน้นย้ำสถานศึกษาคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้าหากพบมีอาการระบบทางเดินหายใจให้สวมหน้ากากอนามัย และแจ้งผู้ปกครองพาไปรับการรักษา หรือหากพบการป่วยเป็นกลุ่มก้อนให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ประชาชนมีความตระหนักแต่ไม่ตระหนก โดยแนะนำประชาชน ที่มีอาการเสี่ยง เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK หากพบผลติดเชื้อ (ขึ้น 2 ขีด) ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แยกตัวไม่ใกล้ชิดกับผู้อื่น และรีบพบแพทย์โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 เนื่องจากหากกลุ่มเสี่ยงติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ สำหรับประชาชนทั่วไปที่ยังไม่มีอาการ สามารถป้องกันตนเองได้ โดย
1) หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
2) หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด หรือกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก
3) สวมหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ
4) หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ
5) หากมีอาการป่วยแต่ผลตรวจ ATK ยังไม่ติดเชื้อ ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อใกล้ชิดกลุ่มเด็กเล็กหรือกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อไปสู่ผู้สูงอายุและเด็กเล็กในครอบครัว ซึ่งอาจทำให้มีอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้ ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจข้อมูลสถานการณ์โรคโควิด 19 และโรคติดต่ออื่นๆ
ปัจจุบันกรมควบคุมโรค มีระบบเฝ้าระวัง Digital Disease Surveillance (DDS) ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและติดตามได้ที่หน้าเว็บไซต์กรมควบคุมโรค หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
กำลังพิจารณาความจำเป็นฉีดวัคซีนโควิด บรรจุในชุดสิทธิประโยชน์
ผู้สื่อข่าวถามถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนโควิด19 นพ.ธงชัย กล่าวว่า ณ ขณะนี้ความรุนแรงของโรคโควิด ไม่ได้มากเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งก็ไม่ได้แนะนำว่าทุกคนต้องฉีดวัคซีน ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยง
เมื่อถามว่าจะนำวัคซีนโควิดเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์คล้ายวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ให้ฉีดฟรี 7 กลุ่มเสี่ยงหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ใช่ จะไม่ได้วัคซีนทุกคน ไม่ได้แนะนำเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องรอคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งจะมีข้อมูลวิชาการต่างๆ ถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนโควิด จากนั้นก็ต้องนำเรื่องเสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่า โควิดสายพันธุ์เปลี่ยนไปตลอด วัคซีนที่มีอยู่ยังพัฒนาตามไม่ทันเชื้อโควิด ดังนั้น แม้วัคซีนจะมีประสิทธิภาพ แต่ก็จะไม่มากเหมือนเดิม ดังนั้น ขอให้รอคณะอนุกรรมการสร้างเสริมฯ รวบรวมข้อมูลตรงนี้ก่อน
- 304 views