ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กมธ.สาธารณสุข ไม่ขัดขวางการถ่ายโอน รพ.สต. แต่กังวลช่วงเปลี่ยนผ่าน ห่วงลูกจ้างชั่วคราวเดิมสังกัด สธ.จ้างด้วยเงินบำรุง เมื่อโอนไปอบจ. จะจ้างต่อหรือไม่  ขณะที่ รพ.สต. กลุ่ม PCC มีหมอจาก รพช. รพศ. ดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก หากถ่ายโอนเตรียมแพทย์บริการอย่างไร ฝากท้องถิ่นและหน่วยงานเกี่ยวข้องดูแล ด้าน "สาธิต" มอบรองปลัดฯ เตรียมพร้อมช่วงเปลี่ยนผ่านถ่ายโอน พร้อมมอบนพ.สสจ. ช่วยเหลือบุคลากรเปลี่ยนใจไม่ต้องการถ่ายโอน

เมื่อวันที่ 12 ส.ค.2565 นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สาธารณสุข) กล่าวถึงประเด็นการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป ว่า ประเด็นการถ่ายโอนเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งล่าสุดจากการแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายปี 2566 สรุปจะได้ถ่ายโอนไปทั้งหมดกว่า 3 พันแห่งที่แสดงความประสงค์ ตรงนี้ทางคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้ติดใจ เพราะเป็นขั้นตอนการดำเนินงาน แต่ที่มีการหารือและเป็นข้อกังวลเรื่องนี้ยังมีหลายประเด็นในเรื่องการเตรียมความพร้อมช่วงเปลี่ยนผ่านแรกๆ 

"การถ่ายโอนช่วงแรกหรือช่วงเปลี่ยนผ่านที่เป็นห่วง คือ การถ่ายโอนรพ.สต.ไปอบจ.ครั้งนี้ จะมีลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งเดิมจ้างด้วยเงินบำรุงของ รพ.สต. ที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่เมื่อถ่ายโอนไปแล้วก็จะอยู่ในกำกับของ อบจ. ว่าจะจ้างงานต่อหรือไม่ ตรงนี้อยากให้มีการหารือในส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือคณะกรรมการในระดับพื้นที่ว่า จะดำเนินการอย่างไร" นพ.เจตน์ กล่าว

นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในส่วนของ รพ.สต.เดิมที่มีการพัฒนาจนเป็นคลินิกหมอครอบครัว หรือ PCC(Primary care cluster) มีบริการผู้ป่วยจำนวนมาก และมีการเชื่อมโยงให้แพทย์ของโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) หรือโรงพยาบาลศูนย์ มาช่วย แต่เมื่อถ่ายโอนแล้วและแยกสังกัดแล้วจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เบื้องต้นก็ต้องหารือกันว่า ช่วงแรกๆ ให้มีหมอมาบริการประชาชนก่อนจนกว่า รพ.สต. จะสามารถจ้าง หรือจ้างเหมา หรือดำเนินการได้ด้วยตนเองภายใต้ของอบจ. 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางออกของบุคลากรส่วนที่เดิมแจ้งความประสงค์ถ่ายโอน แต่เปลี่ยนใจจะทำอย่างไร นพ.เจตน์ กล่าวว่า  ต้องมาดูว่า ยังสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ตามเงื่อนเวลาหรือไม่ เพราะหากเซ็นชื่อไปแล้ว ไม่ว่าจะถูกจูงใจหรือสมัครใจเอง ชื่อมีอยู่แล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น ยกเว้นหากมีหลักฐานว่า ไม่ได้สมัครใจก็สามารถร้องได้ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบมีการสอบถามทั้งในส่วนของ อบจ. และของกระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ต้องดูว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

"จริงๆ กระทรวงสาธารณสุข ต้องยืนในหลักการว่า ไม่ได้ขัดขวางการถ่ายโอน หากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข บุคลากรของตัวเองจะไป แต่ต้องให้ข้อมูลอย่างสมบูรณ์ด้วย และต้องช่วยเหลือกลุ่มที่ไม่ต้องการไป หรือบุคลากรของตัวเองที่กำลังมีปัญหาเรื่องนี้ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ขณะเดียวกันส่วนตัวมองว่า รพ.สต.ที่มี PCC ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะมีหมอและดูแลประชาชนจำนวนมาก กรณีนี้ต้องมีความพร้อมจริงๆ ไม่เช่นนั้นหากไม่พร้อมจะกระทบประชาชน" นพ.เจตน์ กล่าว

ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวว่า ในเชิงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อปฏิบัติหลังการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ไปอบจ.นั้น ค่อนข้างมีข้อห่วงใยจำนวนมาก  ซึ่งรายละเอียดขณะนี้ตนยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้า  ได้มอบให้ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. ดูแลเรื่องนี้ 

เมื่อถามการช่วยเหลือบุคลากรที่เปลี่ยนใจไม่ต้องการถ่ายโอน ณ ขณะนี้ ซึ่งหลายคนไม่มั่นใจว่า ยังถอนตัวได้หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า โดยหลักการการแจ้งความประสงค์ว่าจะถ่ายโอนหรือไม่ ไม่สามารถบังคับบุคลากรได้ เป็นเรื่องของความสมัครใน  ดังนั้น หากแสดงเจตจำนงกับท้องถิ่นว่า ต้องการไป และภายหลังต้องการยกเลิกนั้น ก็มีกติกาว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่อาจมีเงื่อนเวลา  อย่างไรก็ตาม คงต้องไปดูว่า กรณีบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องการถอนตัว แต่ไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนเวลาทำได้ จะมีแนวทางปฏิบัติ หรือช่วยเหลืออย่างไรต่อไป 

"เรื่องนี้เข้าใจว่าเป็นปัญหาสำหรับบุคลากรที่เดิมต้องการถ่ายโอน แต่ขณะนี้ไม่ต้องการถ่ายโอนแล้ว  ก็ต้องไปดูว่า จะสามารถช่วยเหลืออย่างไรได้   ผมจะหารือและประสานไปยังหน่วยงานในกำกับ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดให้ไปช่วยเหลือบุคลากรกลุ่มนี้ว่า จะทำอย่างไรได้บ้าง" รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.กล่าว 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เผยทางออกกรณี กมธ.สาธารณสุข ห่วงถ่ายโอน รพ.สต. แต่ไร้แพทย์ดูแลประชาชน

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org