ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบโล่ประกาศเกียรติคุณชุมชนดีเด่นในการดำเนินงาน ตามแนวคิด CBTx & Harm reduction จำนวน 39 ชุมชน และมอบนโยบายการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติด ในงานประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติครั้งที่ 22 เน้นสร้างความสมดุล แก้ปัญหาแบบองค์รวม โดยบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ครอบครัว ชุมชน และสังคม ดูแลช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดครอบคลุมทุกมิติอย่างต่อเนื่อง เน้นลดอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด และพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม

วันนี้ (23 สิงหาคม 2565) ที่ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียติคุณชุมชนดีเด่น 39 ชุมชน ที่มีการดำเนินงานบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน (CBTx & Harm reduction) พร้อมมอบนโยบายการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติด ในงานประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติครั้งที่ 22 ว่า ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และคณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (Commission on Narcotic Drugs: CND) ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายระดับชาติ และดำเนินการตามกรอบทิศทางสากลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่าน ถือเป็นการปรับเปลี่ยนกรอบแนวคิด และทิศทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดครั้งสำคัญ โดยมุ่งเน้นการสร้างความสมดุล เปลี่ยนจากการลงโทษผู้เสพมาเป็นการใช้มิติด้านสาธารณสุข และแก้ปัญหาแบบองค์รวม ทั้งด้านครอบครัว สังคม การศึกษา ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ โดยถือว่า “ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วย” ที่ต้องได้รับการดูแลบำบัดรักษา เน้นลดอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด และพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม โดยข้อมูลของ ป.ป.ส. ได้รายงานผลการสำรวจประชากรที่มีการใช้ยาเสพติดตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2564 - มิถุนายน 2565 มีผู้เข้ารับการบำบัดทั่วประเทศ 74,981 คน ส่วนใหญ่ใช้ยาเสพติดกลุ่มสารกระตุ้นประสาท ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคทางจิตประสาทและพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง สอดคล้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีการเสนอข่าวสารในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและต้องเร่งจัดการความเสี่ยงให้ทันท่วงที 

ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานหลักด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด และการควบคุมยาเสพติด จึงต้องมีความพร้อมในการรองรับการบำบัดรักษา และต้องบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะครอบครัวและชุมชน เพื่อให้การดูแลช่วยเหลืออย่างรอบด้านและต่อเนื่อง และมีระบบการส่งต่ออย่างไร้รอยต่อ เพื่อการดูแลตลอดช่วงชีวิต ซึ่งได้กำหนดนโยบายสำคัญในการบริหารจัดการให้ครอบคลุมทุกมิติใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ต้องเป็นสื่อกลางในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมาย ต่อผู้ติดยาเสพติด ครอบครัว และประชาชน เพื่อให้สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเอง และครอบครัวได้ เมื่อเกิดปัญหา รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากยาเสพติดในทางการแพทย์ที่เหมาะสมและไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสังคม 2.สร้างระบบการป้องกัน เฝ้าระวัง ปัญหายาเสพติดในชุมชน รวมทั้งการบำบัดฟื้นฟูโดยชุมชนเป็นฐาน หรือ CBTx (Community Based Treatment) เกิดระบบการดูแล เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรงจากการติดยาเสพติดและมีโรคทางจิตเวช โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับตำบล และอสม. ร่วมบูรณาการการแก้ไขปัญหาในมิติเชิงสุขภาพระดับพื้นที่ ร่วมกับชุมชนและภาคประชาสังคม 3.โรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาล และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ในสังกัดต้องมีศักยภาพช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง รองรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอันตรายในภาวะวิกฤติฉุกเฉินที่ต้องได้รับการดูแลรักษาเร่งด่วนได้ กรณีที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมาก เช่น ติดรุนแรง/เรื้อรัง ให้ส่งต่อสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาค สังกัดกรมการแพทย์ และกรณีที่มีโรคร่วมทางจิตประสาทขั้นรุนแรง/เรื้อรัง ให้ส่งไปโรงพยาบาลเฉพาะทางสังกัดกรมสุขภาพจิต โดยรักษาฟรีทุกทีไม่มีค่าใช้จ่าย 4.การบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาแบบองค์รวม จึงต้องได้รับการแก้ไขแบบรอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาด้านสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งระบบการส่งต่อ การดูแลช่วยเหลือ บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตลอดช่วงชีวิต ร่วมกับสถานฟื้นฟูสมรรถภาพภาครัฐ อาทิ สถานฟื้นฟูในสังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด สังกัดกรมการปกครอง และสถานฟื้นฟูภาคเอกชน เป็นต้น

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org