ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรคเบาหวานเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs : Noncommunicable diseases) ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่เป็นอีกหนึ่งโรคสำคัญเนื่องจากปัจจุบันพบโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และส่งผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย โรคเบาหวานเกิดจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินเพียงพอ และ/หรือภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งอาจจะมีอาการ ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย น้ำหนักลดลง แต่ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่อาจจะไม่มีอาการ เมื่อมีระดับน้ำตาลที่สูงกว่าปกติเป็นเวลานานจะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ตา ไต เส้นประสาทเสื่อม แผลที่เท้า หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง แต่การควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต ระดับไขมัน การควบคุมน้ำหนักตัว การงดการสูบบุหรี่ จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้

ศ. คลินิก นพ. วีระศักดิ์ ศรินนภากร นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ หัวหน้างานต่อมไร้ท่อ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวถึงความชุกของโรคเบาหวานในประเทศไทยกับ Hfocus ว่า จากการสำรวจล่าสุดของ ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร พบผู้คนที่อายุมากกว่า 15 ปี เป็นโรคเบาหวานร้อยละ 9.5 ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากเทียบกับปี พ.ศ. 2557 พบร้อยละ 8.9  และปี พ.ศ. 2552 พบเพียงร้อยละ 6.9 เท่านั้น แต่ที่น่ากังวลคือ ผู้ป่วยประมาณ ครึ่งหนึ่งของผู้เป็นเบาหวานไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเบาหวาน เพราะไม่ได้ไปตรวจระดับน้ำตาลเลือด และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ทราบว่าตนเป็นเบาหวานแต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพราะไม่เข้าใจโรคและผลที่ตามมา เพียงเห็นว่าสบายดี ไม่มีอาการผิดปกติอะไร แต่จะมาพบแพทย์อีกครั้งเมื่อมีอาการมาหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคเบาหวาน ได้แก่ อายุเกิน 30-40 ปีขึ้นไป ก็ควรมาตรวจคัดกรองเบาหวาน ซึ่งช่วงอายุ 30-40 ปี อาจจะพบหลายรายที่มีระดับน้ำตาลเริ่มเตรียมตัวเป็นเบาหวาน (pre-diabetes) โดยมีค่าน้ำตาลก่อนอาหารเช้าที่เริ่มผิดปกติโดยพบว่ามีค่าตั้งแต่ 100 มก./ดล. -125 มก./ดล. แต่ถ้าพบว่ามีค่าตั้งแต่ 126 มก./ดล. ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน และบางรายที่มีระดับน้ำตาล 100 มก./ดล. -125 มก./ดล. ถ้ามาตรวจละเอียดขึ้นโดยการรับประทานน้ำตาล 75 กรัม อาจจะพบว่าเป็นโรคเบาหวานเช่นกัน ซึ่งถ้าพบระยะเตรียมตัวเป็นเบาหวาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะทำให้น้ำตาลกลับสู่ปกติที่ไม่ถึง 100 มก./ดล. ได้ จะห่างไกลจากโรคเบาหวานมากขึ้น แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะเข้าสู่ระยะโรคเบาหวานต่อไป แต่ในกรณีที่ผู้ที่อ้วน น้ำหนักเกินเกณฑ์ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน มีโรคความดันโลหิตสูงร่วม ควรเข้ารับการตรวจให้เร็วขึ้นตามความเสี่ยงโรคเบาหวาน (ซึ่งอาจจะแบบประเมินความเสี่ยงเบาหวานในคนไทยโดย Thai DM risk score*) แต่สำหรับผู้ที่มีอาการ เช่น ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย เพลียง่าย น้ำหนักตัวลด หรือมีอาการที่เกี่ยวข้องกับภาวะแทรกซ้อน อาทิ เช่น  มือเท้าชา ตามัว แผลที่เท้า ควรต้องพบแพทย์เพื่อตรวจระดับน้ำตาลทันทีไม่ต้องรอ 

"ข้อมูลที่บอกว่า มดขึ้นปัสสาวะนั้น คนไข้เบาหวานส่วนใหญ่ น้ำตาลไม่ได้ขึ้นสูงมาก ปัสสาวะก็ไม่ค่อยมีมดมาตอม กลุ่มที่มดมาตอมต้องมีน้ำตาลสูงมากผิดปกติ ซึ่งไม่ควรรอดูว่ามดจะขึ้นปัสสาวะหรือไม่ หากมีอาการอื่นข้างต้นหรือมีความเสี่ยงควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจระดับน้ำตาล จะได้ไม่ช้าเกินไป"

สาเหตุสำคัญของโรคเบาหวาน ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า โรคเบาหวาน เกิดได้จากทั้งกรรมพันธุ์ ได้แก่ ประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว ส่วนปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเป็นการใช้ชีวิต พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นความเสี่ยง เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีผลทำให้น้ำหนักตัวเกิน ทั้งพิษจากน้ำตาล และพิษจากอาหารที่มีไขมันสูง โดยช่วงแรกของโรคมักจะไม่มีอาการ แต่ภาวะน้ำตาลที่สูงมากกว่าคนปกติเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง ส่งผลต่อหลอดเลือดเล็ก เช่น ตา ไต เส้นประสาท รวมทั้งหลอดเลือดใหญ่ เช่น หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง หรือในกรณีที่น้ำตาลสูงเฉียบพลัน ก็ทำให้เกิดอันตรายได้ ส่วนเบาหวานชนิดอื่น ๆ เช่น เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ เบาหวานที่มีสาเหตุจากยาสเตียรอยด์ โรคต่อมไรท่อ ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานนั้นมีทั้งคนอ้วนและคนผอม เพราะโรคเบาหวานเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางคนเป็นโรคเบาหวานในเด็กและคนอายุน้อย ส่วนหนึ่งอาจจะต้องใช้ยาฉีดอินซูลินเนื่องจากตับอ่อนถูกทำลายจากการที่มีภูมิคุ้มกันต่อเซลล์ของตับอ่อนซึ่งอาจจะเกิดหลังการติดเชื้อไวรัส ส่วนสาเหตุอื่นโดยเฉพาะคนอ้วนจะมีความเสี่ยงโรคเบาหวานสูงจากน้ำหนักเกิน รับประทานอาหารมากเกินไป หรืออาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทำให้ในช่วงแรกมีการดื้ออินซูลิน ร่างกายจะมีการพยายามสร้างอินซูลินให้มากขึ้นเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้ปกติแต่เมื่อเวลานานขึ้นการทำงานของตับอ่อนจะเริ่มลดลงเช่นกัน ซึ่งช่วงแรกอาจจะตอบสนองต่อยาชนิดรับประทานแต่ระยะหลังบางรายอาจจะต้องฉีดยาอินซูลินเช่นกัน 

ส่วนกรณีน้ำตาลตกต้องรีบกินขนมหรือน้ำหวานหรือไม่ ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ เพิ่มเติมถึงผู้ที่เข้าใจว่าน้ำตาลตกต้องรีบรับประทานขนมหรือน้ำหวาน ว่า บางครั้งอาจเกิดจากความอยากกินแล้วเข้าใจว่า น้ำตาลตก แต่ในบางกรณีผู้ป่วยอาจได้รับยาในการรักษาเบาหวานบางชนิดอาจจะมีผลทำให้น้ำตาลตกได้ ซึ่งอาจจะมีคำแนะนำจากเภสัชกรหรือแพทย์ที่แจ้งผลข้างเคียงของยาว่าสามารถทำให้เกิดน้ำตาลต่ำได้ ซึ่งหากสงสัยว่าน้ำตาลตกหรือไม่ สามารถตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีค่าที่ต่ำกว่า 70 มก./ดล. อาจจะต้องรีบกินขนมหรือน้ำหวาน และรับประทานอาหาร ซึ่งสาเหตุน้ำตาลตกอาจจะเกิดจาก การเลยเวลารับประทานอาหาร การออกกำลังกายหนัก การดื่มสุรา โรคตับ โรคไต หรือยาที่ใช้เริ่มเกินขนาดความจำเป็น ถ้ามีอาการรุนแรงอาจจะหมดสติได้ซึ่งต้องรีบนำส่งแพทย์ซึ่งจำเป็นต้องฉีดน้ำตาลกลูโคส ดังนั้นถ้ามีอาการนอกจากการแก้ไขเบื้องต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและปรับเปลี่ยนการรักษาต่อไป 

ข้อมูลในโลกออนไลน์เกี่ยวกับโรคเบาหวาน มีทั้งข้อมูลจริงและความเชื่อผิด ๆ ที่เมื่อนำไปปฏิบัติตามแล้ว ความรุนแรงของโรคกลับเพิ่มมากขึ้น การรู้เท่าทันข้อมูลจริงจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อการรักษาอย่างถูกวิธีให้โรคเบาหวานสงบ ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับโรคนี้ได้โดยไม่เกิดอันตรายรุนแรง

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org