ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ ศรินนภากร นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ หัวหน้างานต่อมไร้ท่อ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวถึงการรักษาโรคเบาหวานกับ Hfocus ว่า การรักษาโรคเบาหวานการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาหาร การออกกำลังกาย การลดน้ำหนักตัวถ้าอ้วน ยังคงเป็นหัวใจหลักของการรักษา ส่วนการรักษาด้วยยาขึ้นกับชนิดของโรคเบาหวาน ซึ่งถ้าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่พบในเด็กหรือคนอายุน้อยจำเป็นต้องใช้ยาอินซูลิน ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 มักพบในผู้ใหญ่ที่อ้วนหรือน้ำหนักเกิน แต่พบในเด็กอ้วนหรือคนอายุน้อยลงมากขึ้น สาเหตุของเบาหวานชนิดนี้เกิดจากพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่เหมาะสมและเกินความต้องการ ไม่ค่อยออกกำลังกาย และความอ้วน หากยังใช้ชีวิตแบบเดิม โรคอาจจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะทราบได้จากการที่ใช้ยาปริมาณเพิ่มขึ้นหรือจำเป็นต้องฉีดยาอินซูลิน แต่ถ้ารักษาที่สาเหตุ เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นและปริมาณที่เหมาะสมร่วมกับการออกกำลังและการควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมจะทำให้โรคดีขึ้น เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลดีขึ้นหรือลดขนาดยาลง  ในรายที่ระดับน้ำตาลสูงมากหรือใช้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้จำเป็นต้องใช้ยาซึ่งมีทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีดรวมถึงอินซูลิน โดยอาจจะเริ่มจากยาชนิดรับประทานส่วนการฉีดอินซูลิน จะใช้กับผู้ป่วยที่ตับอ่อนมีปริมาณที่ลดลงมาก เวลาใช้ยาลดน้ำตาลชนิดรับประทานแล้วไม่ได้ผล หรือมีข้อห้ามในการใช้ยากิน เช่น หญิงตั้งครรภ์  

สำหรับตัวอย่างอาหารที่ใช้ในการรักษาเบาหวาน ได้แก่

  1. จานอาหารสุขภาพ 2:1:1 ทานผักครึ่งจาน ทานข้าว 1 ใน 4 ของจานและควรเป็นข้าวไม่ขัดสี เนื่องจากข้าวกล้องระดับน้ำตาลจะขึ้นน้อยกว่าข้าวขาวและข้าวเหนียว อีก 1 ใน 4 ของจานให้ทานอาหารประเภทโปรตีนจำพวกปลา, ไก่ หรือ ไข่ เลือกเนื้อที่ไม่ติดมัน ไม่ทานหนัง เครื่องดื่มเลือก น้ำเปล่า นมจืด กาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล ทดแทนของหวานด้วยผลไม้ที่น้ำตาลไม่สูง เช่น ส้ม (1 ผล) แอปเปิ้ล (1/2-1 ผล) ชมพู่ (2 ผล) เงาะ (3-4 ผล) เป็นต้น (รับประทานเพียงแต่ละชนิดสลับกันไป) ก็จะดีต่อร่างกายของผู้ป่วยเบาหวาน 
  2. การควบคุมปริมาณแคลอรี่ในอาหารต่อวัน ซึ่งอาจจะให้รับประทานอาหารปริมาณ 1,200-1,500 แคลอรี่ต่อวันในเพศหญิง และ 1,500-1,800 แคลอรี่ต่อวันในเพศชาย แต่อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นกับน้ำหนักตัวและกิจกรรมทางกายต่อวัน ในกรณีที่รับประทานอาหารแคลอรี่ที่ต่ำมาก เช่น  800 แคลอรี่ต่อวัน (Very low calories diet) ควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากอาจจะต้องปรับขนาดยา มีการตรวจระดับน้ำตาล และมีอาหารทดแทนเพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบ บางครั้งผู้เป็นเบาหวานรับประทานอาหารประเภทแป้ง ข้าว ขนมปัง มากจนชิน ถ้ารับประทานน้อยอาจจะรู้สึกว่าไม่อิ่ม แต่การค่อยๆลดข้าวลง เช่น ลด ½ ทัพพี และค่อย ๆ เพิ่ม ผัก เปลี่ยนมาเป็นอาหารเส้นใยสูง เช่น ข้าวกล้อง จะอยู่ท้องและไม่ค่อยหิวมาก พอผ่านไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ เมื่อร่างกายปรับตัวได้ จะค่อย ๆลดข้าวทีละ ½ ทัพพี จนได้ปริมาณแคลอรี่ตามที่แนะนำอาจจะสามารถคงการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าในระยะยาว
  3. การอดอาหารเป็นช่วง ๆ (Intermittent fasting; IF) มีการศึกษาพบว่าการลดปริมาณมื้อเย็นจะช่วยการลดน้ำหนักและค่าน้ำตาลดีขึ้น ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานมื้อเย็นน้อยและให้รับประทานมื้อเย็นเร็วขึ้น จนปัจจุบันหลายรายเริ่มถึงกับมีการงดอาหารเป็นช่วง ๆ ที่เรียกว่า Intermittent fasting หรือเรียกย่อ ๆ ว่า IF ซึ่งมีหลายวิธี แต่สูตร IF 16/8 การกินอาหารในช่วงเวลา 8 ชั่วโมง และอดอาหารในช่วงเวลา 16 ชั่วโมง เป็นสูตรที่แนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มทำ IF เพราะทำได้ง่าย ทำได้ต่อเนื่อง และไม่กระทบการใช้ชีวิตประจำวันมากจนเกินไป แต่ถ้าจะทำ IF ควรปรึกษาแพทย์ เพราะต้องมีการตรวจน้ำตาลด้วยตนเองและการปรับยา โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาที่ทำให้เกิดน้ำตาลต่ำหรืออินซูลิน
  4. การรับประทานอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำ โดยลด น้ำตาล ข้าว แป้ง ขนมปัง เน้น อาหารโปรตีนและไขมัน แต่ควรเป็นโปรตีนที่ดีและไขมันที่ดี เช่น ปลา ไก่ ไข่ น้ำมันมะกอก ซึ่งอาหารประเภทที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำจะมี ชนิด อาหาร Low carb และ อาหาร ketogenic diet ซึ่งอาหาร Low carb จะรับประทานปริมาณคาร์โบไฮเดรต 50-150 กรัมต่อวัน แต่ อาหาร ketogenic diet จะรับประทานปริมาณคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 50 กรัมต่อวัน และโปรตีนไม่เกินร้อยละ 20 ของพลังงาน ซึ่งในระยะสั้นอาจจะลดน้ำหนักได้ดี แต่ผลการลดน้ำหนักในระยะยาวอาจจะไม่ต่างกัน อีกทั้งการรับประทานอาหารลักษณะดังกล่าวอาจจะมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้ในระยะยาวและควรปรึกษาแพทย์โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ

    นอกจากนี้ควรรู้จักวิธีการอ่านฉลากโภชนาการ การเลือกทานอาหารนอกบ้าน ระหว่างการเดินทาง และในวันที่เจ็บป่วยเพิ่มเติมด้วย


 

ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ เพิ่มเติมว่า หากรีบดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่แรก ๆ ตั้งใจเต็มที่ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาหาร ออกกำลังกาย และลดน้ำหนักในคนอ้วนได้มาก ก็จะทำให้อาการของโรคสงบลงได้ (diabetes remission) คือ สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้ปกติโดยที่ไม่ต้องใช้ยา (มีการศึกษาพบว่าถ้าสามารถลดน้ำหนักได้ 15 กก. ในคนอ้วนที่เป็นเบาหวานอาจจะมีระยะสงบของโรคเบาหวานถึง 50% โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานไม่เกิน 6 ปี)  แต่ไม่ถึงกับหายเนื่องจากถ้าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกลับมาใหม่ โรคเบาหวานก็จะกลับมาเช่นเดิม ดังนั้นแม้ว่าโรคจะดีขึ้นจนไม่ต้องใช้ยาแต่ต้องตรวจระดับน้ำตาล และน้ำตาลสะสมเฉลี่ย (HbA1c) เป็นระยะ ถ้ายังสามารถคงระดับ HbA1c ที่น้อยกว่า 6.5% ได้โดยไม่ใช้ยา นานกว่า 3 เดือน อาจจะถือว่าโรคเบาหวานสงบ แต่ต้องติดตามการกลับเป็นซ้ำของโรคเบาหวานโดยอย่าชะล่าใจเกินไป 

"เป้าหมายในการรักษาเบาหวานเพื่อให้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี ไม่มีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ จากเบาหวาน ซึ่งนอกจากการควบคุมระดับน้ำตาลให้ปกติหรือใกลเคียงปกติ ยังควบควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ ความดันโลหิต ไขมันในเลือด การหยุดสูบบุหรี่ การลดน้ำหนัก และมีการตรวจภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆประจำปี ได้แก่ การตรวจตา การตรวจปัสสาวะ การตรวจการทำงานของไต การตรวจเท้า และถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอกมาก แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยวพูดไม่ชัด แผลที่เท้า ควรรีบมาพบแพทย์ นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การดูแลเท้าต้องคอยสำรวจเท้าไม่ให้เป็นแผล หรือต้องรีบรักษา เพราะแผลจะลามเร็ว ใช้เวลารักษานาน ผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องดูแลเท้าโดยควรเลือกรองเท้าให้เหมาะสม ขนาดพอดีกับเท้าและสามารถปรับขนาดได้ พื้นรองเท้าหนา รับการกระแทกได้ดี หัวรองเท้าไม่ควรเลือกหัวแหลมที่บีบปลายเท้า ไม่ควรเดินเท้าเปล่า อาจหารองเท้าสำหรับใส่เดินในบ้านด้วย เพื่อป้องกันการเดินเหยียบแล้วเป็นแผล หลีกเลี่ยงการแช่น้ำอุ่นเพราะเท้าชาไม่อาจรับรู้ว่าน้ำร้อนแค่ไหน เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ แม้แต่การตัดเล็บเท้าถ้าผู้ป่วยมีปัญหาด้านสายตาก็ต้องให้คนอื่นตัดไม่ให้โดนเนื้อ หากมีตุ่มตาปลาหรือตุ่มใส ควรให้แพทย์ช่วยดูแล เพราะแผลเพียงนิดเดียวอาจลุกลามได้เร็วจนมีการตัดนิ้ว ตัดเท้าเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม คนที่อยู่กับโรคเบาหวานโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนได้ คือ คนที่เข้าใจ รู้จักโรคเบาหวาน และปรับตัวให้เข้ากับโรคที่เป็น ถ้าไม่ปรับที่ต้นเหตุมารักษาก็เป็นการรักษาที่ปลายเหตุโดยการปรับยาและเพิ่มยาเพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน เนื่องจากอาหารก็เป็นยาอย่างหนึ่ง สิ่งที่เรากินหรือดื่มเข้าไป จะไปต่อสู้กับโรคหรือส่งเสริมโรคให้เป็นมากขึ้นก็ได้ รวมถึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจโรคและภาวะแทรกซ้อน โดยอยู่ร่วมกับเบาหวานอย่างถูกต้อง ซึ่งหลายสิ่งเป็นสิ่งที่ผู้เป็นเบาหวานต้องทำเอง เพื่อตัวผู้ป่วยเอง โดยที่ไม่มีใครสามารถทำแทนได้" ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ ยืนยัน

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org