ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ มุ่งแก้ปัญหาเบาหวานในพื้นที่ ตั้งโรงเรียนหวานน้อย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามหลัก 3อ 3ส 1น ลดอัตราการการป่วยจากโรคเบาหวาน-ความดัน

วันที่ 16  มีนาคม 2567 ที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของโรงพยาบาล มอบใบประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมมอบถุงของขวัญพระราชทานให้กับผู้ป่วย และให้กำลังใจบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน

นพ.เชิดชัย กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง ให้บริการในระดับทุติยภูมิเป็นหลัก โดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และแพทย์เฉพาะทางสาขาหลักบางสาขา มีการดำเนินงานตามหลักโรงพยาบาลต้นแบบแห่งความสุขชุมชนมีสุขภาวะ โดยในปี 2566 ได้จัดตั้งโครงการโรงเรียนหวานน้อย เพื่อแก้ไขปัญหาผู้ป่วยเบาหวานที่พบมากถึงปีละกว่า 4,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพื่อควบคุม ดูแล ป้องกัน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

โดยใช้กระบวนการสร้างสุขภาพดี วิถีใหม่ วิถีธรรม วิถีไทย วิถีเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยหลัก 3อ 3ส 1น (อารมณ์ อาหาร ออกกำลังกาย/สวดมนต์ สมาธิ สนทนาธรรม/นาฬิกาชีวิต) และระบบการดูแลทางสังคมจิตใจ ผลการดำเนินโครงการตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 - 30 กันยายน 2566 ผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด 166 ราย มีระดับน้ำตาลลดลง 115 ราย คิดเป็นร้อยละ 69.28 ระดับน้ำตาลคงเดิม 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.05 กำลังรอผลตรวจซ้ำ 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.65 และสามารถลดยาเบาหวานได้ 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.02 โดยผู้ป่วยทุกรายมีความพึงพอใจ ทำให้ผ่านเกณฑ์ประเมินรับรองการให้บริการด้านการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ใน NCD Clinic Plus Online ที่ร้อยละ 83.48 อยู่ในระดับดีมาก

นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังมีผลงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข อาทิ โครงการเฉลิมพระเกียรติฯผ่าตัดตาต้อกระจก 220 ราย, ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ 275 รูป, คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยการตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระในกลุ่มประชากร อายุ 50 - 70 ปี รวม 1,660 ราย และคัดกรองด้วยวิธีส่องกล้อง (Colonoscopy)ในกลุ่มผู้เสี่ยงสูง, จัดตั้งศูนย์ชีวาภิบาลและสถานชีวาภิบาล, การพัฒนาสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข MOPH-4T ในปี 2566 ได้คะแนนถึงร้อยละ 98.18 และการเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ Smart Hospital ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินระดับเพชร