ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดผลตรวจภูมิคุ้มกันคนไทยเคยปลูกฝีดาษกว่า 40 ปีที่ผ่านมา มีภูมิฯต่อฝีดาษวานรหรือไม่ ศึกษาในอาสาสมัคร 28 คนพบส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นในระดับป้องกันโรค มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่ภูมิฯขึ้นระดับป้องกันได้ ด้านอธิบดีกรมวิทย์ ย้ำวัคซีนไม่ได้ฉีดทุกคน ต้องดูตามความจำเป็น กลุ่มเสี่ยง  พร้อมหารือสถาบันวัคซีนฯ พัฒนาวัคซีนฝีดาษวานรของคนไทย

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 5 ก.ย. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  แถลงข่าว "ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง(Monkeypox)" ว่า  หลังจากมีเคสฝีดาษวานรในประเทศไทย กรมฯได้นำเชื้อมาเพาะทั้ง 2 สายพันธุ์ โดย 7 รายมีทั้ง B.1 และ A.2  โดยส่วนใหญ่ A.2 ซึ่ง B.1 มีเพียง 1 ราย ทั้งสองสายพันธุ์เพาะขึ้นทั้งหมด
ทั้งนี้ การปลูกฝีดาษในอดีต จะแตกต่างจากฝีดาษวานร โดยฝีดาษวานร เกิดตั้งแต่ปี 1958 เกิดในลิง และจากนั้นในปี 1970  หรือพ.ศ.2513 ข้ามมาติดในคน จากประเทศคองโก  และเริ่มแพร่ระบาดในบริเวณแถบแอฟริกากลางและตะวันตก แต่ในปี 2020 หรือ พ.ศ.2563 พบมากขึ้นเรื่อยๆ กว่า 4,594 ราย เสียชีวิต 171 กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยสะสม 50,327 ราย เสียชีวิต 15 ราย พบใน 100 ประเทศ เห็นได้ว่า อัตราการเสียชีวิตไม่มาก

ส่วนคำถามที่ต้องตอบว่า คนไทยที่ได้รับวัคซีนฝีดาษ หรือได้รับการปลูกฝีดาษในอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน  แต่หลังจากปี 2523 จะไม่ได้มีการปลูกฝีดาษอีก เพราะขณะนั้นกวาดล้างฝีดาษหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม กรมฯ จึงทำการตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในคนที่ไดรับวัคซีนฝีดาษวานร โดยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน โดยนำน้ำเลือดมาจางลงเป็นเท่าๆ จนกระทั่งถึงจุดฆ่าเชื้อได้ครึ่งหนึ่ง หรือที่เรียกว่า PRNT 50% ส่วนจะออกมาเป็นไตเตอร์เท่าไหร่ก็จะเป็นตัวเลขเพื่อพิจารณาว่าได้ผลหรือไม่ โดยใช้เวลา 1 สัปดาห์

ที่ผ่านมาเราได้หาอาสาสมัครมาดำเนินการแบ่งตามกลุ่มอายุ โดยแต่ละกลุ่มมี 10 คนในการศึกษา ตรวจทั้งสองสายพันธุ์ คือ B.1 และ A.2   โดยแบ่งเป็นอายุ 45-54 ปี  อายุ 55-64 ปี อายุ 65-74 ปี อย่างไรก็ตาม ข้อมูล คือ ต้องมีระดับไตเตอร์(titer) มากกว่า 32 จึงถือว่ามีภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสฝีดาษวานรได้ ดังนั้น หากต่ำกว่า 32 แม้มีภูมิฯ แต่ไม่สูงพอจัดการได้ 

โดยผลตรวจพบว่า อายุ 45-54  ส่วนใหญ่ไม่มีภูมิฯขึ้นถึง 32 ขณะที่อายุ 55-64 ปี ภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างมาก มีเพียง 2 รายที่มีภูมิฯต่อ A.2 คือ 35 กับ 39 ซึ่งป้องกันได้ แต่ปริ่มๆ ส่วนอายุ 65-74 ปี ไม่มีใครถึงระดับ 32 เช่นกัน

นอกจากนี้ยังตรวจคนที่ติดเชื้อ เพราะเหมือนได้รับวัคซีนธรรมชาติ พบว่า ในกลุ่มนี้สายพันธุ์ A.2  โดยสายพันธุ์ B.1 เราไม่ได้นำมาวิเคราะห์โดยตรง ซึ่งพบว่า กลุ่มนี้มีภูมิฯต่อ A2 สูงมาก และเมื่อมาเทสกับ B.1 ป้องกันได้จำนวนหนึ่ง  นี่คือหลักการธรรมชาติ แต่ไม่ได้ต้องการให้ไปติดเชื้อจะได้มีภูมิฯ ส่วนคนที่ไม่ได้รับวัคซีน เป็นเด็กรุ่นหลัง เรามาตรวจ 3 ราย พบว่า ไม่มีภูมิคุ้มกันใดๆ ทั้งสิ้น ภูมิฯขึ้นต่ำกว่า 4 

"ในเรื่องของวัคซีนนั้น จะป้องกันได้ประมาณ 3-5 ปีกรณีฝีดาษ จากนั้นจะค่อยๆลดลง ซึ่งคนปลูกฝีไม่ได้มีการถูกกระตุ้น เพราะฉีดครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม การนำวัคซีนมาป้องกันโรคนั้น ยังมีประเด็นว่า กรณีเพิ่งติดเชื้อ 2-3 วันสามารถให้วัคซีนฝีดาษได้เพื่อป้องกันความรุนแรงได้ ดังนั้น หากมีวัคซีนเข้ามาไทยก็จะใช้ 2 กรณี คือ กลุ่มเสี่ยงมากๆ เช่น เจ้าหน้าที่แลป คนสัมผัสใกล้ชิด แต่ในคนทั่วไปที่มีประวัติเสี่ยง ไปสัมผัสโรคก็อาจฉีดให้เพื่อลดความรุนแรง" นพ.ศุภกิจกล่าว

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า เมื่อถามว่าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้คนทั่วไปหรือไม่ ก็ยังไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมาก็ยังไม่พบป่วยมาก ขณะนี้ยังมี 7 ราย โอกาสแพร่กว้างขวางไม่มี และส่วนมากสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดคือ A.2 เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ไม่ค่อยรุนแรง อัตราการตายน้อยกว่า 5%  ยกเว้นคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี กินยากดภูมิคุ้มกัน หรือเป็นโรคบางอย่างที่ทำให้ภูมิฯน้อย รวมทั้งเด็กเล็กๆก็อาจมีปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม มาตรการ Universal prevention ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัยก็ช่วยได้ การเว้นระยะห่างหากไม่นัวเนียกันก็ป้องกันได้

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวอีกว่า  ปัจจุบันวัคซีนฝีดาษวานรโดยตรงยังไม่มีใครทำ แต่วัคซีนที่นำมาใช้คือ วัคซีนฝีดาษคน แต่ฉีดแล้วข้ามกันฝีดาษวานรได้ เพราะเป็นตระกูลใกล้เคียงกัน ได้ผลประมาณ 85% ซึ่งถือว่าเพียงพอ และวัคซีนปลูกฝีก็ไม่มีแล้ว เพราะมีความเสี่ยงพอสมควร ขณะนี้จึงมีวัคซีนรุ่น 3 โดยขณะนี้สหรัฐและยุโรป อนุมัติให้ใช้ได้ วิธีฉีดมี 2 แบบ คือ ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง แทงให้เป็นตุ่มเหมือนเป็นถั่วเขียว อันนี้ใช้วัคซ๊นแค่ 0.1 มิลลิลิตร ส่วนอีกวิธีฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ทะลุหนังลงไปอยู่ในชั้นไขมันใช้วัคซีนครึ่งซีซี โดยประเทศไทยซื้อมา โดยกรมควบคุมโรคดำเนินงาน มีประมาณ 1 พันโดส ฉีด 2 ครั้ง ฉีดได้ 500 คน โดยจะฉีดใครอยู่ที่คณะกรรมการวิชาการตั้งหลักเกณฑ์

 "สรุปคือ คนไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับวัคซีนฝีดาษมานานกว่า 40 ปี จำนวน 28 ราย ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสฝีดาษลิง ทั้ง 2 สายพันธุ์ แต่มี 2 รายพบว่ามีระดับภูมิคุ้มกันที่ป้องกันได้" นพ.ศุภกิจ กล่าว 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้หารือกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติและมหาวิทยาลัยบางแห่ง ได้ประสานขอเชื้อ เพื่อทำการวิจัยพัฒนาวัคซีนฝีดาษวานรโดยตรง ซึ่งกรมฯสนับสนุน เพราะหากทำได้ก็เป็นผลงานของไทยเอง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา แต่ง่ายที่สุดน่าจะพัฒนาจากวัคซีนฝีดาษลิงชนิดเชื้อตาย ซึ่งน่าจะทำง่ายและเป็นแพลตฟอร์มคุ้นชิน

ด้านดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กล่าวว่า สำหรับคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะทำอย่างไรนั้น อย่างที่นำเรียนว่า โรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย เพียงแต่ใช้มาตรการ Universal prevention ได้

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org