ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ชมรมความผิดปกติทางอารมณ์แห่งประเทศไทย (TSAD) ค่ายเพลง เทโร มิวสิค และบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ร่วมสนับสนุนศิลปินไทยบนสื่อโทรทัศน์ ดนตรี และโซเชียลมีเดียเพื่อเพิ่มความตระหนักและให้ความรู้แก่คนไทยเกี่ยวกับการสำรวจภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ภายใต้แคมเปญ Mind voice เสียงที่ต้องใช้ใจฟัง พร้อมหารือเรื่องวิธีการลดการตีตราผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตและวิธีการใหม่ๆในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตให้ผู้คนเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในช่วงวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกประจำปี 2565 หรือ World Suicide Prevention Day 2022 ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายนของทุกปี ซึ่งที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการดูแล และช่วยเหลือผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตซึ่งมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ได้ผลักดันและรณรงค์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีเพื่อลดการสูญเสียจากการฆ่าตัวตายในประเทศไทย

โดยพัฒนาช่องทางในการเข้าถึงและช่วยเหลือหลากหลายรูปแบบ ได้พัฒนาคู่สายการบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพิ่มมากขึ้นและเสริมศักยภาพในปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อเข้าช่วยเหลือ จากข้อมูลของสายด่วน 1323 ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ในระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึง สิงหาคม 2565 พบว่ามีผู้รับบริการที่มีพฤติกรรมหรือมีความคิดฆ่าตัวตายถึง 1,554 ราย ซึ่งเฉลี่ยแล้วเท่ากับมีผู้รับบริการที่คิดฆ่าตัวตาย 141 รายต่อเดือน และจากการติดตามโดยเจ้าหน้าที่ 1323 พบว่า ผู้รับบริการมีระดับความคิดฆ่าตัวตายที่ลดลง ถึงร้อยละ 74.09 และมีผู้รับบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และอีก 1 ช่องทางที่กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาเพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินตนเอง ผ่านแอพพลิเคชั่น Mental Health Check In ระบบจะแสดงผลการประเมินและคำแนะนำในการดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้น

โดยสามารถแจ้งเบอร์โทรให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ หรือแจ้งขอรับการติดตามเยี่ยมที่บ้านได้ ซึ่งในกลุ่มที่ยังไม่เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือ อสม. ช่วยประเมินให้ โดยระบบเปิดให้บริการเมื่อ 1 มกราคม 2562 จนถึงปัจจุบันมีผู้ให้ข้อมูลถึง 3,555,911 ราย สามารถค้นพบผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายถึง 167,216 ราย โดยทีมช่วยเหลือได้เข้าถึงให้คำแนะนำได้ถึงร้อยละ 92.15

ผศ.นพ.ปราการ ถมยางกูร ผู้แทนสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ว่า “ยังคงมีการตีตราผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือปัญหาด้านสุขภาพจิตในสังคมเราซึ่งนั่นอาจทำให้กลุ่มคนที่ป่วยเป็นโรคเหล่านี้ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากใคร เพราะฉะนั้นการได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา พวกเราสามารถช่วยเหลือเพื่อนหรือคนในครอบครัวได้โดยการสังเกตพฤติกรรมต่างๆของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตกิจกรรมบนโซเชียลมีเดียเช่นการลบหรือเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นรูปสีดำ สังเกตอาการว่าพวกเขาวิตกกังวลและหงุดหงิดง่ายหรือไม่ หรือแม้แต่สังเกตการนอนหลับของพวกเขาว่ามีปัญหาในการนอนหลับหรือไม่ สิ่งสำคัญคือเราต้องให้พวกเขารับรู้ว่าเราพร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนเขาทุกเมื่อ
     
ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร ประธานชมรมความผิดปกติทางอารมณ์แห่งประเทศไทย (TSAD) และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ภาวะซึมเศร้าเกิดจากปัจจัยหลายประการ ดังนั้น เราจึงต้องเปลี่ยนวิธีการศึกษาภาวะนี้ให้ครอบคลุมโดยการมองจากหลายแง่มุม ด้วยการใช้แบบจำลอง Biopsychosocial (ชีวะ-จิต-สังคม) เราสามารถระบุปัจจัยทางชีววิทยา จิตวิทยา และสังคมที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจมีส่วนทำให้เกิดความผิดปกตินี้ได้ ตัวอย่างเช่น ว่าด้วยปัจจัยทางชีววิทยา การวิจัยชี้ให้เห็นว่ายีนมีอิทธิพลต่อการแพร่กระจายของภาวะซึมเศร้าจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งได้

นายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า เดิมที่อัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยนับว่าเกือบจะสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้อัตราคนฆ่าตัวตายในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นไปอีก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาคนตกงานทำให้พวกเขาขาดรายได้เพื่อประคองชีพจนอาจทำให้ตัดสินใจคิดสั้นในที่สุด ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีช่องทางการติดต่อต่างๆเพื่อการเฝ้าสังเกตกลุ่มคนเสี่ยงอย่าง HOPE Taskforce : ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย ที่จะคอยทำหน้าที่เฝ้าสังเกตกลุ่มคนเสี่ยงบนโซเชียลมีเดีย อีกทั้งทางกรมสุขภาพจิตได้จัดให้มีช่องทางการติดต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต อาทิ บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 แอพพลิเคชันคุยกัน (KhuiKun)

ที่มีให้บริการบนแอพพลิเคชันไลน์เป็นบริการสุขภาพจิตให้การปรึกษาเบื้องต้นในกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพจิต และ Sati App แอพพลิเคชันแพลตฟอร์มที่ให้คนสามารถเข้าถึงผู้ฟังด้วยใจง่ายขึ้นผ่านทางโทรศัพท์มือถือความท้าทายของกลุ่มคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder: MDD) ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าผู้คนกว่า 900,000 คนทั่วประเทศไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เราเชื่อว่าหากเราช่วยให้ผู้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับภาระของภาวะซึมเศร้าประเภทต่างๆ รวมถึงโรคซึมเศร้าที่ดื้อต่อการรักษา (Treatment Resistant Depression: TRD) และความคิดอยากฆ่าตัวตาย เราทุกคนจะสามารถดูแลตัวเราเองและคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น

โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม จนถึง 10 กันยายน 2565 กรมสุขภาพจิตร่วมกับชมรมความผิดปกติทางอารมณ์แห่งประเทศไทยได้มีโอกาสทำแคมเปญ 'Mind Voice' ร่วมกับเพื่อนำเสนอมุมมองของศิลปินเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรับรู้ก่อนถึงวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกอีกด้วย