ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

17 เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ เข้ายื่นหนังสือถึง ปธ.คกก.จริยธรรม ปธ.กมธ.สาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ร้อง  ส.ส. เข้าข่ายหนุนบุหรี่ไฟฟ้า  

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ พร้อมด้วยตัวแทน 17 เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ร่วม 10 คน ได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการจริยธรรม และประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ร้องเรียน นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.เชียงราย กรณีให้ข้อมูลสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า โจมตีการทำงานของนักวิชาการและเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งจ่อมีความผิดหลายข้อกฎหมาย อาทิ   ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 มาตรา 4, 12  เป็นต้น

ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดขึ้น ส่อไปในทางให้ข้อมูลบิดเบือน เกินจริง เป็นเท็จ เช่น การให้สถิติคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าของไทยโตขึ้น 4,500% ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จ ทำให้เกิดการเข้าใจผิดและมีผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้คือธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า  รวมถึงการแสดงความคิดเห็นในเชิงกล่าวหา  ไม่เคารพสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น โดยกระทำต่อตัวแทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ที่เข้าให้ข้อมูลการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพและติดตามการบังคับใช้กฎหมายด้านการสาธารณสุข ที่ส.ส.เอกภพ เป็นรองประธานอนุกรรมาธิการฯ ว่านำเสนอข้อมูลแบบมีอคติ    

“ขอให้ประธานคณะกรรมการจริยธรรม เร่งพิจารณาและสอบสวนความผิดของ ส.ส.เอกภพ เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติของสภาผู้แทนราษฎร  อีกทั้ง เป็นแพทย์ที่ควรมีความรู้ด้านระบาดวิทยาทางการแพทย์ โทษอันตรายของบุหรี่ทุกชนิดพอสมควร จึงควรที่จะรู้หลักการทางสถิติพื้นฐาน และปกป้องสุขภาพของประชาชน ”  ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าว

ด้าน นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการสำนักงานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มลาขาดควันยาสูบ เป็นสมาชิกขององค์กรเครือข่ายผู้บริโภคนิโคตินนานาชาติ (International Network of Nicotine Consumer Organizations: INNCO) และแกนนำของกลุ่ม ECST เคยเป็นกรรมการบริหารของ INNCO ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก Foundation for a Smoke Free World (FSFW) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่จัดตั้งและได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ   ที่มีผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าที่กฎหมายประเทศไทยห้ามขาย แต่กลับพบว่าคณะอนุกรรมาธิการฯ กลับให้คนกลุ่มนี้เข้าร่วมประชุม และซักถาม ถือว่าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ ไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ มุ่งเน้นการศึกษาประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรม ไม่คำนึงถึงผลกระทบสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่อาจตกเป็นเหยื่อธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า

“สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ รู้สึกเป็นกังวลในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ต้องการเห็นสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะกรรมาธิการการสาธารณสุข ซึ่งเป็นเสาหลักด้านนิติบัญญัติ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดและติดตามนโยบายด้านการสาธารณสุขของประเทศไทย มีการดำเนินการที่ขัดต่อจรรยาปฏิบัติที่ผู้แทนราษฎร พึงกระทำ และดำเนินการที่ขัดต่อพันธกรณีในฐานะรัฐภาคี ภายใต้กรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก อันจะนำไปสู่ความเสื่อมเสียชื่อเสียงของสภาผู้แทนราษฎร เป็นที่ครหาของนานาประเทศ” นพ.วันชาติ กล่าว