ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณีการแชร์ข้อมูลว่า อาการเวียนหัว หน้ามืด ปวดร้าวลงแขน ไขมันสูง เสี่ยงเป็นเส้นเลือดในสมองและหัวใจตีบตัน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน โดยนพ.ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ อายุรกรรมประสาท เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมองและการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตันด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ Hfocus ว่า เส้นเลือดสมองกับเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นคนละเรื่องกัน อาการเบื้องต้นไม่คล้ายกัน โรคหลอดเลือดสมอง แขนขาจะอ่อนแรงครึ่งซีก ข้างใดข้างหนึ่ง ปากเบี้ยวหรือปากตก พูดไม่ออก พูดไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน อาการเกิดขึ้นทันทีทันใด ขณะที่นั่ง เดิน เหมือนกับหมดแรง เสี่ยงต่อการล้มได้ บางคนพูดไม่ออก ฟังไม่เข้าใจ ทำตามสั่งไม่ได้ ส่วนอาการของหัวใจจะเจ็บแน่นหน้าอก จุกแน่นลิ้นปี่  ปวดร้าวไปแขน ปวดร้าวขากรรไกร ร้าวไปทางด้านซ้าย เหงื่อแตก ใจสั่น ส่วนอาการต้องสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด มักจะมีอาการกระสับกระส่าย ไม่เคยเจ็บแน่นหน้าอกแบบนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม อาการที่อาจเหมือนกันได้ทั้ง 2 โรค คือ เป็นลมล้มเพราะหัวใจสูบฉีดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ มีกล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนทำงานไม่ไหว ก็จะหมดสติ สิ่งที่น่ากลัวของโรคหลอดเลือดหัวใจ เมื่อเป็นลมหมดสติ หัวใจอาจหยุดเต้น ต้องมีการปั๊มหัวใจหรือใช้ไฟฟ้าช็อตเพื่อช่วยให้หัวใจกลับมาเต้น 

นพ.ธนบูรณ์ เพิ่มเติมว่า ข้อมูลเมื่อปี 2564 พบว่า ผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองมีมากถึง 13 ล้านคนทั่วโลก เสียชีวิต 5 ล้านคนทั่วโลก/ต่อปี ในประเทศไทย พบผู้เสียชีวิต 45,000 คนต่อปี พบมากในอายุ 55 ปีขึ้นไปยิ่งอายุเพิ่มขึ้นโอกาสจะเกิดโรคดังกล่าวก็มีมากขึ้น ส่วนใหญ่พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ที่อายุต่ำกว่านี้ โดยเฉพาะอายุที่น้อยกว่า 45 ปี ถือว่าเป็นผู้ป่วยที่พบในคนอายุน้อย ส่วนสถิติหลอดเลือดหัวใจ ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2564 พบผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 430,000 คนต่อปี อัตราการเสียชีวิตมากกว่า 20,000 คนต่อปี จะเห็นได้ว่า คนไข้ที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีมากกว่าผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

"ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ให้ไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หากพบแพทย์ภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง ตรวจเอ็กซเรย์สมองแล้วพบว่าเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบหรือสมองขาดเลือดก็มีโอกาสได้รับยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ยานี้จะต้องมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน และจะช่วยให้หลอดเลือดกลับมาทำงานปกติ เลือดกลับไปเลี้ยงเนื้อสมองที่ขาดเลือดได้ ทำให้คนไข้มีโอกาสกลับมามีแขนขาที่ปกติได้มาก แต่ถ้าเกิน 4 ชั่วโมงครึ่ง การให้ยาละลายลิ่มเลือดจะเป็นข้อห้าม ไม่สามารถให้กับคนไข้ได้ สำหรับกรณีสงสัยว่า มีหลอดเลือดสมองเส้นใหญ่อุดตัน จะตรวจสอบด้วยการฉีดสีดูหลอดเลือดและรักษาโดยผ่านสายสวนหลอดเลือดสมอง เพื่อไปเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออก ถ้ามาเลย 4 ชั่วโมงครึ่ง แล้วตรวจพบว่ามี ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดเส้นใหญ่ก็สามารถรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดได้เช่นกัน แพทย์จะดูว่า เนื้อสมองยังไม่เสียหายมาก ก็จะเป็นข้อบ่งชี้ในการทำ การนำลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือดเส้นใหญ่ผ่านทางสายสวนสมอง เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก ช่วยให้คนไข้กลับมาปกติได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ กลับมาเดินได้ ใช้ชีวิตกับครอบครัวได้ พูดรู้เรื่อง" นพ.ธนบูรณ์ กล่าวและว่า คนไข้โรคหลอดเลือดสมองมักจะมีความพิการหลงเหลืออยู่บ้างในช่วงแรก อาทิ พูดไม่ชัด อ่อนแรง มีอาการชา สามารถทำกายภาพฟื้นฟูแขนขาที่อ่อนแรง ฝึกพูด ฝึกกลืนไม่ให้สำลัก ฝึกเดิน ฝึกจับสิ่งของ ให้แขนขากลับมามีแรงและสามารถใช้งานได้

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org