ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” ตอบคำถามผู้สื่อข่าวสาธารณสุขผ่านวิดีโอคอลจากเกาหลีใต้ กรณี “คุณหญิงสุดารัตน์” ระบุผิดหวังระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ถูกนำมาทำต่อแบบผิดๆ หากบริหารจัดการดีไม่ต้องรอให้ใครมาวิ่งมาว่ายน้ำขอรับบริจาค  ชี้อย่าเคลม อะไรดีกับประชาชนขอให้ทำ ส่วนกรณีคำถาม 30 บาททำคนไม่ดูแลสุขภาพ จนหมอทำงานมากขึ้นหรือไม่ เรามีนโยบาย 3 หมอ มีเทเลเมดิซีน ขณะที่ภาระงานแพทย์ มีปลัดสธ.ดูแล พร้อมย้ำ! แพทย์เสียสละอยู่แล้ว   

 

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวสาธารณสุขผ่านวิดีโอคอลจากเกาหลีใต้ถึงกรณี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ออกมาระบุผิดหวังกับระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ถูกนำมาทำต่อแบบผิดๆ ใช้หาเสียงการเมือง ถ้าบริหารจัดการดี จะไม่ต้องให้ใครมาวิ่งมาว่ายน้ำรับบริจาค ว่า อย่าเอามาเคลมเลย อะไรที่ดีกับประชาชนก็ทำกันเถิด เรื่องโครงการ 30 บาทเป็นโครงการที่ดี แต่ 30 บาทในวันนั้น กับ 30 บาทในวันนี้ บริบทแตกต่างกัน โดย 30 บาทในวันนั้นก็ช่วยเหลือประชาชนในการรักษาโรค แต่อาจจะยังไม่ครอบคลุมทุกการรักษา ซึ่งเราก็พยายามในการพัฒนามาตลอดจน 30 บาทในวันนี้มีความครอบคลุมการรักษาโรคที่มากขึ้น ขณะที่การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค สธ.และหน่วยงานสุขภาพก็ทำมาตลอด

 

"การบริจาคไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดเป็นเหมือนน้ำใจของประชาชน เป็นความตั้งใจบริจาคหรือการให้ เป็นสิ่งที่เสริมความแข็งแกร่งให้ระบบที่มีอยู่มากยิ่งขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ดีหรือมีจุดเสียอย่างไร มีแต่คนที่เห็นคนอื่นทำดีแล้ววิจารณ์ ใจไม้ไส้ระกำ อีกหน่อยคนเราก็จะเย็นชาต่อการช่วยเหลือผู้อื่น แทนที่จะช่วยกันส่งเสริมให้คนทำความดี ผู้ให้ย่อมเหนือกว่าผู้รับ ฉะนั้น เรื่องนี้ถ้ามาถาม รมว.สธ. คนตั้งใจจะทำความดี นำปัจจัยมาเสริมให้ รพ.ในต่างจังหวัดตามความเหมาะสม ก็จะทำให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ ทั้งนี้ ผมวิจารณ์อะไรไม่ได้ นอกจากชื่นชมและสนับสนุนให้มีการช่วยเหลือ แต่ไม่ได้หมายความว่า ขาดแคลนหรือบริหารทรัพยากรไม่ได้" นายอนุทินกล่าว

เมื่อถามว่า มีการตั้งคำถามว่าบริหารผิดพลาดใช้งบเพื่อรักษามากกว่าส่งเสริมป้องกันโรค ทำให้คนไม่ดูแลสุขภาพ มีงบเท่าไรก็ไม่เพียงพอ นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องถามว่าระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคเคยมีปัญหาหรือไม่ เคยมีใครไป รพ.แล้วใช้ไม่ได้หรือไม่ และถ้าหากงบไม่พอ จะรักษาทุกโรคได้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นทุกปีหรือไม่ อย่างเพิ่มบริการฟอกไตฟรี เพิ่มโรคต่างๆ จัดหาวัคซีนโดยไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสุขภาพประชาชน ให้ อสม.เป็นหมอคนแรกในโครงการ 3 หมอ เพิ่มความรู้ให้คนใส่ใจสุขภาพมากกว่าซ่อมสุขภาพ

 

“ตอนนี้ผลงานรัฐบาลส่วนใหญ่มาจากงานสาธารณสุข ใครๆ ก็อยากมีส่วนเกี่ยวข้อง ขอให้ได้พูด แต่ทั้งหมดไม่ได้เกิดจากฝีมือนักการเมือง ไม่มีปัญญามาหาเสียงกับระบบสาธารณสุขไทยได้ เพราะระบบเข้มแข็งอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ บุคลากรมีประสบการณ์ มีความสามารถ มีความคิดริเริ่มทำสิ่งต่างๆ ที่มีประโยชน์กับสุขภาพประชาชน รมว.สธ.มีหน้าที่ฟัง ถ้าเข้าท่าก็สนับสนุนให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด ไม่ต้องไปแย่งแสงจากแพทย์” นายอนุทิน กล่าว

 

เมื่อถามว่าหลายฝ่ายมองว่า 30 บาททำให้คนไม่ดูแลสุขภาพแล้วมาหาหมอมากขึ้น เพิ่มภาระงานให้กับ รพ. มีปัญหาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ สธ.จะมีนโยบายช่วยเหลืออย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ก็มีนโยบาย 3 หมอ โทรเวช (Telemedicine) และ Big Data ที่ทำให้การกระจายผู้ป่วยสามารถลงไปในระดับ รพ. ซึ่งไม่ได้เน้นแต่ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปได้ และนโยบาย 3 หมอจะเป็นการลดภาระของผู้ให้บริการ เพราะจะมีการคัดกรองจำนวนผู้ป่วยแต่ละระดับชั้น หากผนวกรวมกับการปรับปรุงประสิทธิภาพของการสื่อสารแล้ว นโยบายนี้น่าจะช่วยลดภาระต่างๆ ให้กับบุคลากรสาธารณสุขได้ เรื่องของการทำงาน ถ้ามีช่วงใดที่รัฐบาลจัดสรรไปดูแลเรื่องค่าเวร ค่าป่วยการ ค่าเสี่ยงภัย เราก็จัดให้ตลอดเวลา ช่วงโควิดจัดให้ครบถ้วนจนเราประกาศยกเลิกโควิดสิ้น ก.ย.ก็ต้องสิ้นสุดไปตามภารกิจ เราดูแลมา 2 ปี 7 เดือน ก็ถือว่ามีเหตุอันสมควร เราไม่ได้ใช้โดยไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย การจัดสรรค่าตอบแทนให้กับบุคลากรสาธารณสุข รวมถึง อสม. เราให้การดูแลเต็มที่ ครม.ก็อนุมัติเห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าแพทย์ส่วนหนึ่งระบุว่าไม่ควรใช้คำว่า "แพทย์ต้องเสียสละ"  เพราะทำงานมากก็เหนื่อย ส่งผลสุขภาพตนเองสุดท้ายกระทบบริการประชาชน นายอนุทินกล่าวว่า เทียบกับผู้ใช้แรงงานไม่ได้

เมื่อถามย้ำว่าแพทย์ต้องเสียสละหรือไม่  นายอนุทินกล่าวว่า เขาเสียสละอยู่แล้ว คนมาทำงานกระทรวงสาธารณสุข มีโอกาสไปหารายได้ทางภาคเอกชนยังไม่ไป แสดงว่ามีความเสียสละเป็นทุนอยู่แล้ว เขาก็มีชมรมวิชาชีพต่างๆ ให้ว่ามา ตรงนี้เป็นเรื่องที่ปลัด สธ.ต้องดูแลลูกน้องตนเอง

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

เสียงสะท้อน "หมอ" กับ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำคนไม่ดูแลสุขภาพ เพิ่มภาระงานแพทย์จริงหรือ...

สธ.แก้ปัญหาชั่วโมงการทำงาน “หมอ-พยาบาล” เผยโรดแมปแผน 3 ระยะ เบื้องต้นมอบผู้ตรวจราชการฯดำเนินการ