ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“แพทย์ พยาบาล” รุ่นใหม่ ให้ข้อคิดเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำประชาชนไม่ดูแลสุขภาพ หาหมอมากขึ้น กระทบภาระงานแพทย์จริงหรือไม่ ทางออกควรเป็นอย่างไร พร้อมเผย “หมอ” กับคำว่า “เสียสละ” เป็นมายาคติ หรือสิ่งที่ควรมีในวิชาชีพ

 

หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ถึงกรณี “โตโน่ ภาคิน” ว่ายน้ำข้ามโขงเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อระดมหาเงินบริจาคช่วยเหลือ รพ.นครพนม และรพ.แขวงคำม่วน ของสปป.ลาว  โดยที่เป็นประเด็นมากในวงการแพทย์และสาธารณสุข คือ กรณี หมอริท หรือนพ. เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช โพสต์ข้อความว่า

"ต่อให้ว่ายน้ำ 10 ได้เงินพันล้าน หมอ-พยาบาลก็เหนื่อยเท่าเดิม" งานนี้ก็แบ่งออกเป็น 2 เสียง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ หมอริท นั้นได้ออกมาโพสต์ว่า ว่ายน้ำข้ามโขงอีก 10 รอบได้เงินมากกว่าพันล้านบาท หมอ พยาบาลก็เหนื่อยเท่าเดิม พร้อมทั้งยังพูดถึงระบบหลักประกันสุขภาพของไทย 30 บาทรักษาทุกโรคว่า ข้อดีคนจนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา แต่ข้อเสียทำให้คนไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ” กระทั่งเกิดกระแสแฮกแทชเรื่องนี้  และลุกลามไปจนถึงว่า “หมอต้องเสียสละ”  นั้น

ผู้สื่อข่าว Hfocus ได้สอบถามไปยังบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า คิดเห็นอย่างไร โดยมี  พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร และนพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ในฐานะผู้แทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) รวมทั้ง น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ พยาบาลวิชาชีพ กลุ่ม Nurses Connect  ร่วมให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า

เรื่องการบริจาคเงิน หรือการบริจาคเครื่องมือแพทย์ต่างๆให้แก่โรงพยาบาลนั้น เป็นเรื่องที่ดี อย่างเครื่องมือแพทย์ดีๆ ก็มีส่วนช่วยในการบริการดูแลประชาชนได้ แต่ปัญหาคือ ต้องมีคนใช้เครื่องมือแพทย์ มีบุคลากรที่ชำนาญในการใช้ เพราะไม่เช่นนั้นได้มาก็จะไม่ก่อประโยชน์แท้จริง อีกทั้ง เครื่องมือแพทย์ยังจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาต่อเนื่องปีต่อปี หากไม่ต่อเนื่องก็ไม่ก่อประโยชน์เช่นกัน  ยกตัวอย่าง ศูนย์หัวใจที่มีการสวนหัวใจ จำเป็นต้องมีเครื่องมือแพงๆ แต่ก็ต้องมีพนักงานดูแลประจำเครื่องนั้นๆด้วย หรือเครื่องอัลตราซาวน์ก็จำเป็นต้องมีงบในการดูแลเช่นกัน  

“สรุปคือ ทุกอย่างต้องไปด้วยกัน หากบริจาคเงิน บริจาคเครื่องมือ แต่ไม่มีบุคลากรเพียงพอในการมาดำเนินการก็ไม่ก่อประโยชน์อย่างถึงที่สุด  ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องเข้ามามีส่วนในการจัดระบบสุขภาพ ระบบสาธารณสุขให้ดี เพราะทุกวันนี้เรายังมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งไม่เพียงพอกับภาระงานที่มากขึ้น กับการกระจายตัวของบุคลากรก็ยังเป็นเรื่องที่แก้ปัญหาไม่ตกทุกปี”

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “อนุทิน” ตอบปม “หญิงหน่อย” ชี้ผิดหวังระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค หากบริหารดีไม่ต้องรอบริจาค)

 

ผู้แทน สพง. และตัวแทนของ กลุ่ม Nurses Connect ต่างให้ข้อมูลว่า จริงๆ เราไม่ได้ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคแต่อย่างใด เพราะมาถึงขนาดนี้ เกินจุดที่จะมาคิดว่าควรมีหรือไม่ควรมี แต่ต้องคิดว่า จะปรับปรุงพัฒนาอย่างไร ให้ระบบสุขภาพไปในทิศทางที่เหมาะสม ทั้งเงิน คน ของ ทุกอย่างต้องควบคู่กัน

“ 30 บาทรักษาทุกโรคย่อมดีในแง่ทำให้คนเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะระบบสุขภาพต้องดูแลคนตั้งแต่เกิด จนถึงเสียชีวิต แต่ในอีกมุมก็ต้องปฏิรูประบบสาธารณสุขในแง่ของบุคลากรให้สอดคล้องกับความเป็นจริงด้วย คนไข้เยอะ แต่หมอไม่เพียงพอ ตรวจได้ไม่ถึง 5 นาทีต่อคนก็ยังเป็นปัญหาตลอด ดังนั้น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ต้องปฏิรูประบบสาธารณสุข ให้เป็นวาระสำคัญเสียที”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องแพทย์ไม่พอมีการถกเถียงมาตลอด อย่างองค์การอนามัยโลก ระบุสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรว่า แพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน แต่ของไทยมีแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,600 คน แต่จริงๆ มากกว่านั้น เพราะภาระงานมาก และข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมาก็พบว่า มีการผลิตแพทย์ประมาณ 3,000 คนต่อปี แต่ทำงานในระบบจริง 1,800 คนต่อปี มีลาออกอีก แพทย์ก็น้อยลง แต่คนไข้ก็มากขึ้น ภาระงานก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  โดยเฉพาะแพทย์เพิ่มพูนทักษะปีแรก หรือแพทย์อินเทิร์นปี 1 ที่มีภาระงานมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ควงเวรติดต่อกันไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า สุดท้ายกระทบบริการประชาชน กลายเป็นวงจรที่ไม่ได้รับการแก้ไข

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี 30 บาทรักษาทุกโรคทำให้คนไข้ไม่ดูแลสุขภาพและมาหาหมอมากขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งหนึ่งในสามแพทย์และพยาบาลผู้ปฏิบัติงาน ตอบว่า มีส่วน แม้ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข จะมีนโยบายให้ประชาชนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยโรคไม่หนักสามารถหาได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แต่ปัญหาคือ รพ.สต.ก็ขาดแคลนบุคลากรอยู่ ซึ่งนโยบายนี้ดี เพียงแต่ก็ต้องขับเคลื่อนมากขึ้น เพราะปัจจุบันคนเป็นหวัดยังมาหาหมอ รพ.ใหญ่ๆก็ยังมี แต่ส่วนตัวก็มองว่า ระบบ 30 บาทมีย่อมดี ทำให้คนเข้าถึงบริการ แต่ต้องพัฒนาในจุดต่างๆให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“สิ่งสำคัญต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด มีระบบหลักประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ดี แต่ปัญหาเรื่องกำลังคน หมอ พยาบาล ก็ต้องผลิตและกระจายให้เพียงพอด้วย”

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ที่สังคมยังมองว่า แพทย์ คือ อาชีพต้องเสียสละ  โดยแพทย์ และพยาบาลทั้งสาม ให้ข้อมูลว่า การพูดเช่นนี้ เหมือน “มายาคติ” เพราะจริงๆ แพทย์ก็เป็นอาชีพหนึ่ง และแพทย์ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง  หากเราทำงานเสียสละ จนส่งผลต่อสุขภาพ สุดท้ายก็ส่งผลต่อประชาชนอยู่ดี

“ต้องถามก่อนว่าจะให้เสียสละส่วนไหน และการเสียสละสมเหตุสมผลหรือไม่  ต้องถามกลับว่า ระบบสุขภาพมีปัญหาตรงไหนก็ควรไปแก้ไขตรงนั้นใม่ใช่หรืออย่างไร  เพราะโรคภัยเกิดขึ้นได้ตลอด ความเสียสละต้องจำเป็นจริงๆ และการเสียสละภายใต้ร่างกายอ่อนแอ จะดีจริงหรือ สุดท้ายคนที่ได้ผลกระทบก็ประชาชน ดังนั้น ระบบบริการสุขภาพ ไม่ได้ต้องการการเสียสละ แต่ต้องการระบบที่ดี”

สรุปได้ว่า จริงๆ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นระบบที่ดี แต่เป็นระบบที่ต้องพัฒนาให้มากขึ้น รวมทั้งเรื่องระบบบุคลากรในการดูแลสุขภาพประชาชน ควรต้องมีการแก้ปัญหาภาระงาน มีการผลิตและกระจายตัวอย่างเหมาะสม ไม่ใช่งานโหลดจนไม่ได้มีเวลาพักผ่อน ส่งผลต่อร่างกาย และสุดท้ายก็กระทบต่อบริการประชาชนอยู่ดี  

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.แก้ปัญหาชั่วโมงการทำงาน “หมอ-พยาบาล” เผยโรดแมปแผน 3 ระยะ เบื้องต้นมอบผู้ตรวจราชการฯดำเนินการ )

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org