ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัด สธ. หารือร่วมคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาฯ ถกชั่วโมงการทำงานแพทย์ พยาบาล หาจุดร่วมทางออกของทุกฝ่าย ล่าสุด “หมอทวีศิลป์” เผยมีโรดแมปแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยแผนระยะสั้นมอบผู้ตรวจฯ ดูเขตสุขภาพเกลี่ยอัตรากำลังแพทย์กระจายให้เหมาะสม ล่าสุด 1 ต.ค.เตรียมเก็บข้อมูลกำลังคนแต่ละพื้นที่  ส่วนประธานกมธ.การแรงงานขอติดตามเรื่องอีก 3 เดือน

 

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 ต.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยอนุกรรมาธิการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน และตัวแทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน(สพง.) ร่วมด้วยตัวแทนกลุ่ม Nurses Connect เข้าร่วมประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการหารือประเด็นแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์

ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. นพ.ทวีศิลป์ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า   ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขรับทราบปัญหาเหล่านี้ และมีทีมในการแก้ไขมาตลอด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้ และท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการสธ. ได้เพิ่มจำนวนบุคลากรชุดใหญ่ ตั้งแต่โควิด แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี ยิ่งซอยย่อยในกลุ่มแพทย์ พยาบาลก็ยังมีความแตกต่างจากประเทศพัฒนาอยู่มาก ซึ่งแพทย์ของไทยมีประมาณ 3.8 หมื่นคน หากเทียบกับประเทศอื่นมีประชากรระดับเรา แต่มีแพทย์เป็นแสนคน ดังนั้น จึงเป็นสเตปของการทำงานที่ต้องทำร่วมกันหลายส่วน ทั้งผู้ดูแลกำลังภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) สำนักงบประมาณ แพทยสภา มาหารือและแก้ปัญหาร่วมกัน

“กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกข้อมูลที่คณะกรรมาธิการการแรงงานมาเสนอในที่ประชุม ก็เป็นชุดข้อมูลที่เราได้ศึกษา จึงนำมาเทียบคู่กัน ทำให้เห็นความหลากหลายของข้อมูล ซึ่งจะมีการรวบรวมและวางแผนแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป” รองปลัดสธ.กล่าว

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับระยะสั้น จะเพ่งไปที่แพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์อินเทิร์น จบปีที่ 1 ซึ่งผลการศึกษาปี 2565 พบว่า ประมาณ 50% ของรพ. 65 แห่งใน 117 แห่ง ยอมรับว่าทำงานนอกเวลาเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยจะให้ทางเขตสุขภาพต่างๆ โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ลงไปดูว่า เป็นการกระจุกหรือกระจายตัวของรพ.ใด และจะสามารถกระจายอย่างไรต่อไปได้ นี่คือระยะสั้นที่จะทำโดยเร็ว ส่วนระยะกลาง และระยะยาว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 จะมีการเก็บข้อมูลกำลังคน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ เพื่อเสนอนโยบายในการแก้ปัญหาอัตรากำลัง ภาระงาน ทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป

“ในที่ประชุมมีข้อคิดเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นทุกแห่ง ดังนั้น  การจะออกกฎระเบียบออกไปว่า ไม่ให้แพทย์ทำงานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็อาจกระทบต่อบุคลากรอื่นๆที่ต้องการทำก็ได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เสียงสะท้อน "หมอ" กับ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำคนไม่ดูแลสุขภาพ เพิ่มภาระงานแพทย์จริงหรือ...

ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุป คือ ยังไม่สามารถตั้งกฎระเบียบว่า ห้ามแพทย์ พยาบาลทำงานควงเวรติดต่อกันเกิน 40 ชั่วโมงใช่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีข้อแนะนำจากแพทยสภา เรื่องชั่วโมงการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องกว้างๆอยู่ แต่อย่างที่กล่าวคือ การออกกฎใดๆออกมาก็ต้องคำนึงถึงการบริการประชาชนต้องไม่กระทบด้วย แต่เรามีเขตสุขภาพ ซึ่งก็จะมีการแก้ปัญหา โดยการเกลี่ยบุคลากร ซึ่งทาง ก.พ. ให้ทางสธ.ทำเป็นแซนบ็อกซ์ ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้หารือกับผู้บริหารระดับเขตเพื่อจัดการปัญหาตรงนี้ ทั้งนี้ กรณีแซนบ็อกซ์ มีการดำเนินการแล้วตั้งแต่ปีที่แล้วในเขตสุขภาพที่ 1  เขต 4 เขต 9 และเขตสุขภาพที่ 12

“สำหรับการปรับค่า FTE ภาระงานแพทย์ ขณะนี้ทำเสร็จแล้ว และจะนำเสนอต่อ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขยายกรอบอัตรากำลังเพิ่ม เนื่องจากภาระงานเพิ่ม” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมมีการหารือถึงค่าตอบแทนของพยาบาล 240 บาทตั้งแต่ปี 2552 ก็ยังไม่ได้รับการปรับแต่อย่างใด ซึ่งกระทรวงฯ จะมีการผลักดันและช่วยเหลือต่อไป เพราะเรื่องนี้เราคิดตรงกัน

ด้าน นายสุเทพ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการการแรงงาน ได้รับปัญหาจากหมอ พยาบาล เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข รับว่า มีปัญหาจริง และกำลังดำเนินการแก้ไข  โดยกระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งโรดแมปในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้กับหมอ และพยาบาล จึงถือว่ามีความชัดเจนขึ้น   ซึ่งต้องให้ทางกระทรวงสาธารณสุขมีเวลาในการแก้ปัญหาก่อน โดยจะขออนุญาตมาติดตามเรื่องนี้อีก 3 เดือน

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กมธ.แรงงาน สภาฯ พบผู้บริหาร สธ.  25 ต.ค.นี้ ทวงถามชั่วโมงการทำงานแพทย์ ด้าน ปลัดสธ.รับทราบแล้ว )

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org