ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เรื่องภาระหนักเกินตัวเป็นความจริง

ที่หนักฝังใจเหมือนฝันร้ายในชีวิตของแพทย์ คือ การเป็น “แพทย์เวร” ๒๔ ชั่วโมง แล้วยังต้องไปราวน์วอร์ดต่อโดยไม่ได้พัก นานมาแล้วที่ศิริราช อาจารย์หมออวย เกตุสิงห์ เชิญอาจารย์พร รัตนสุวรรณ ซึ่งเรียกกันว่า “พรวิญญาณ” เพราะนั่งสมาธิแล้วเห็นวิญญาณต่าง ๆ นำลูกศิษย์มานั่งสมาธิแล้วถามว่าเห็นอะไรบ้าง ลูกศิษย์บอกว่าเห็นวิญญาณคนไข้ที่ตายไปยั้วเยี้ยไปหมด และเห็น “วิญญาณแพทย์ที่ตายไปแล้วกำลังอยู่เวร” พอถึงตอนนี้พวกแพทย์ที่กำลังมุงดูแตกฮือเลย อุทานว่า “นึกว่าเป็นเวรแต่ชาตินี้ ตายไปแล้วยังต้องอยู่เวรอีก!!”

          เวลาตรวจคนไข้ที่โอพีดี คนไข้ยั้วเยี้ยไปหมด ต้องตรวจแต่ละคนอย่างเร่งรีบ รวบรัด เลยเที่ยงไปแล้วก็ยังไม่หมด ทั้งเหนื่อยทั้งหิว

  • การมีหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง ทำให้จำนวนคนไข้ที่หลังไหลมาโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นหลายล้านคน เมื่อก่อนไม่กล้ามาเพราะไม่มีเงิน อีกส่วนหนึ่งคิดว่าไหน ๆ ก็ฟรีไม่ต้องเสียเงิน ไปตรวจเสียหน่อยก็ดี เดี๋ยวจะขาดทุน
  • คนไข้ส่วนใหญ่ที่มาจากโรงพยาบาล คือ เป็นหวัด เจ็บคอ ปวดหัว ปวดท้อง แต่ต้องมาไกล รอนาน บริการรีบร้อน คุณภาพจะดีได้อย่างไร เลยไปกระทบคุณภาพของบริการผู้ป่วยที่จำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล
  • โรงพยาบาลเอกชนเพิ่มจำนวนขึ้นมาก ดึงแพทย์และพยาบาลออกไปจากโรงพยาลาของรัฐจำนวนมาก ทำให้คนที่เหลือต้องรับภาระหนักเพิ่มขึ้น  โรงพยาบาลเอกชนมีแรงจูงใจสูงกว่า สภาพการทำงานก็ดีว่า งานไม่หนักเท่า ค่าตอบแทนสูงกว่า ใครจะไม่อยากไป

 

  • Medical Hub คนต่างชาติก็นิยมมารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย นำรายได้และชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย ใคร ๆ ก็เชียร์ Medical Hub แต่ผลข้างเคียงที่สำคัญก็คือ ดึงบุคคลออกไปจากโรงพยาบาลของรัฐ กระทบบริการต่อคนจน เพิ่มความเหลื่อมล้ำ แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
  •  
  • ค่าบริการที่โรงพยาบาลเอกชนสูงมาก เพราะผู้ป่วยมีฐานะที่จะจ่ายได้ แต่มีผลกระทบหลายอย่าง เช่น
  • ผู้มีฐานะก็หาทางไปสูบมาจากคนอื่น เพิ่มความเหลื่อมล้ำ
  • บางคนหมดเนื้อหมดตัว เพราะป่วยเรื้อรัง ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเป็นล้าน ๆ
  • ใช้เทคโนโลยีราคาแพงอย่างให้ผลไม่คุ้มค่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ราคาแพง ชิ้นหนึ่ง ๆ หลายร้อยบาทก็มี แต่ก็ต้องแข่งกันมีที่ดีที่สุด และหาเงินมาถอนทุน ทำให้สั่งตรวจโดยไม่จำเป็น ทำให้ผู้ป่วยต้องจ่ายมากเกินควร และเงินไหลออกจากประเทศไปสู่บริษัทผู้ผลิตในต่างระเทศ
  • เป็นการเคลื่อนย้ายเงินจากคนส่วนใหญ่ไปสู่คนส่วนน้อย คือ แพทย์และโรงพยาบาลเอกชนและเจ้าของเทคโนโลยีการแพทย์ราคาแพง เพิ่มความเหลื่อมล้ำให้สูงขึ้นอีก อันเป็นราคาที่ประเทศต้องจ่ายมากเหลือหลาย

ปัญหามันซับซ้อนอย่างนี้ แล้วจะแก้อย่างไร

 

 

วิธีแก้ปัญหา

 

  • โรงพยาบาลของรัฐบริหารอย่างเอกชนเพื่อประชาชน กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลประมาณ ๑,๐๐๐ แห่ง คือ โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลในส่วนกลาง เมื่อเปลี่ยนเป็นการบริหารแบบเอกชน ก็เท่ากับมีโรงพยาบลเอกชนเพิ่มขึ้น ๑,๐๐๐ แห่ง และอยู่ในฐานะจะแข่งขันได้ดีกว่าโรงพยาบาลที่เอกชนเป็นเจ้าของ เพราะต้นทุนถูกกว่า ทำให้ไม่ต้องคิดค่าบริการสูงเกินควร จะเป็นบรรทัดฐานให้โรงพยาบาลเอกชนลดราคาบริการลง

            เคยทดสอบมาแล้วที่ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อการบริหารคล่องตัวแบบเอกชนปรากฏว่ามีแพทย์เพิ่ม ที่ลาออกจากโรงพยาบาลเอกชนก็มี สภาพการทำงานดีขึ้น สามารถให้บริการได้อย่างดี ประชาชนในอำเภอบ้านแพ้วเกือบไม่ต้องไปรับบริการที่อื่นเลย พอใจโรงพยาบาลของเขามาก มาร่วมบริหารโรงพยาบาล หาทรัพยากรมาเพิ่มให้ ฐานะการเงินดี สามารถจัดรถพยาบาลเคลื่อนที่ไปผ่าตัดต้อกระจกฟรีให้ประชาชนทั่วประเทศ สามารถไปซื้อโรงพยาบาลพร้อมมิตรที่บางกะปิมาดำเนินการแบบโรงพยาบาลของรัฐที่บริหารแบบเอกชนเพื่อประชาชน ไม่ใช่เอากำไรไปให้ผู้ถือหุ้น

            อนึ่ง โรงพยาบาลของรัฐที่บริหารแบบเอกชนยังสามารถทำงานเป็นเครือข่ายและร่วมใช้เทคโนโลยีราคาแพง ทำให้ประหยัดเงินที่สูญเสียไปให้ต่างประเทศโดยไม่คุ้มค่า เพราะไม่ต้องแข่งกันทำกำไรให้ผู้ถือหุ้น เพราะรัฐเป็นเจ้าของกิจการ

  • หน่วยพยาบาลในชุมชน ๑ : ๑,๐๐๐ คือ ในชุมชนทั้งในชนบทและในเมือง ซึ่งรวมทั้งชุมชนแบบใหม่ ๆ เช่น ชุมชนบ้านจัดสรรและชุมชนคอนโด ประมาณ ๑,๐๐๐ คน มีหน่วยพยาบาล ๑ หน่วย มีกำลังบุคลากรหน่วยละ ๓ คน คือ พยาบาล ๑ คน ผู้ช่วยพยาบาล ๒ คน

            พยาบาลทั้ง ๓ สามารถดูและคน ๑,๐๐๐ คน อย่างใกล้ชิดประดุจญาติ รู้จักกันเป็นส่วนตัวหมดทุกคน มีข้อมูลของทุกคนอยู่ในคอมพิวเตอร์ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ส่งเสริมให้ทุกคนมีสุขภาพดี ป้องกันโรค และให้การรักษาโรคที่พบบ่อย รวมทั้งควบคุมโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานได้ทุกคนทั่วประเทศ ลดภาระโรคแทรกซ้อนได้อย่างมหาศาล สามารถติดต่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลได้โดยระบบ Tele medicine ถ้าจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลก็จะจัดการติดต่อให้หรือพาไป และรับกลับมาดูแลต่อที่บ้าน รวมทั้งช่วยแนะนำการดูแลเด็กปฐมวัย และเยี่ยมผู้ชราถึงบ้าน

 

 

          นี่แหละที่เรียกว่า บริการใกล้บ้าน ใกล้ใจ คนไทยทุกคนได้รับการบริการใกล้ชิดประดุจญาติ

          ทำได้จริงและทำได้ทันที เพราะพยาบาลมีจำนวนมากกว่าบุคคลากรประเภทอื่นทุกชนิดรวมกัน คือมีประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คน และมีสถาบันการผลิต ๑๐๐ แห่ง สามารถผลิตเพิ่มได้อีก ผู้ช่วยพยาบาลใช้เวลาเรียน ๑ ปี สามารถผลิตได้มากและมีประโยชน์มาก ผลคือ

  • คนไทยทุกคนได้รับบริการที่มีคุณภาพสูงใกล้บ้าน ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล
  • โรงพยาบาลลดภาระแออัดยัดเยียด สามารถให้บริการที่มีคุณภาพสูงนี้
  • สามารถควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้ทั้งประเทศ ลดภาระโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคไตวาย และโรคหลอดเลือดในสมอง
  • ผู้สูงอายุได้รับบริการที่ดีที่ใกล้บ้าน หรือถึงที่บ้าน ทั้งประเทศ
  • ค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพโดยรวมจะลดลงอย่างมหาศาล ในขณะที่บริการสุขภาพทั่วถึง เป็นธรรม และคุณภาพสูงขึ้น แบบที่เรียกว่า

Good health at low cost”

                   ฉะนั้น สปสช. จึงควรจัดระบบการเงินสนับสนุนหน่วยพยาบาลในชุมชน ให้พยาบาล   และผู้ช่วยพยาบาลได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเดือนทางราชการ

          Happy ending ด้วยกันทุกฝ่าย

  • สนับสนุนให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีกำลังและคุณภาพสูง เป็นโรงเรียนแพทย์ และวิทยาลัยพยาบาล

เรื่องนี้ยังไม่แน่นอนและกินเวลา

 

ที่แน่นอนและทำได้ทันทีคือ ๒ วิธีแรก