ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.เดินหน้าดำเนินการแนวทางแก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข ทั้งภาระงาน การลาออก หลังครม.รับทราบการทำงานร่วมระหว่าง สธ.และ ก.พ. แล้ว เบื้องต้นตีกรอบ 30 วันนำสู่การปฏิบัติ  ยืนยันให้ความสำคัญทุกวิชาชีพ ไม่ใช่เฉพาะพยาบาล ส่วนค่าเสี่ยงภัยโควิดอยู่ที่สำนักงบประมาณ

 

จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบผลการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)  เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งกรณีภาระงานบุคลากร ปัญหาการลาออก  ซึ่งมีการพิจารณาแนวทางต่างๆ ทั้งการขาดแคลนอัตรากำลัง การพัฒนาความก้าวหน้าในสายงาน การเพิ่มอัตราการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน การปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทน และการปรับปรุงสวัสดิการให้แก่บุคลากร เป็นต้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า ที่ประชุมรับทราบผลการหารือและแนวทางในการดำเนินการ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ ในการจัดสรรงบประมาณ โดยครม.รับทราบสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการร่วมกับ ก.พ. ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของครม.ในการดูแลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีปัญหาเรื่องภาระงานเยอะ

ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป คือ การจัดหางบประมาณมาสนับสนุนเพิ่มเติมเวลาเพิ่มความก้าวหน้าของบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน ค่าตอบแทนต่างๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีการคำนวณแล้วว่า หากมีบุคลากรเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 คนก็จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละราว 2,000 ล้านบาท แต่จำนวน 10,000 คนไม่ได้แปลว่า จะเพิ่มขึ้นทีเดียว แต่เป็นขั้นตอน โดยขณะนี้กำลังทำตัวเลขกับทางสำนักงบประมาณอยู่

ให้ความสำคัญทุกวิชาชีพ ไม่ใช่เฉพาะพยาบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีการเพิ่มตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษของพยาบาลวิชาชีพกว่า 9 พันตำแหน่ง ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของการผลักดันความก้าวหน้าบุคลากรหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า  เป็นสิ่งที่ทาง ก.พ.พิจารณาแล้วว่าเหมาะสม คงไม่เรียกว่าความสำเร็จอะไร เพราะเป็นสิ่งที่พยาบาลควรจะได้รับ เนื่องจากมีภาระงานหนักเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่นๆที่จบสายงานเดียวกันในหลายกระทรวงที่ได้ขึ้นซี 8 บางกระทรวงฯได้เกือบ 20%  บางกระทรวงเกิน 20% แต่ส่วนนี้พวกเขาได้เพียง 3%  ตัวเลขตรงนี้เป็นที่ยอมรับของทั่วไปว่า ที่ผ่านมาดูแลน้อยไปหน่อย จึงต้องดำเนินการให้อย่างเหมาะสม

เมื่อถามว่าวิชาชีพอื่นๆ อาจน้อยใจที่พยาบาลได้ความก้าวหน้าเลื่อนระดับก่อน ปลัดสธ.กล่าวว่า ต้องบอกว่าพยาบาลได้น้อย อย่างพยาบาล 100 คน ได้ซี 8 แค่ 3 คน ไม่ใช่เรามุ่งเน้นแต่พยาบาล เราก็จะไปดูวิชาชีพอื่นๆด้วย พิจารณาจากข้อมูลที่มีและบริหารจัดการให้เหมาะสม ขอย้ำว่า ดูแลทุกวิชาชีพ ดูแลทุกคนไม่ได้ทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  โดยเรื่องนี้ไทมืไลน์ในการดำเนินการของพยาบาลวิชาชีพนั้นจะมีนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดสธ.เป็นผู้ดูแล อย่างไรก็ตาม หลังจากครม.รับทราบกรอบดำเนินการแนวทางแก้ปัญหาบุคลากร ทั้งกรณีพยาบาล และอื่นๆ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของ ก.พ.และสธ. แล้วนั้น ขณะนี้มีการหารือร่วมกันว่าจะนำสู่การปฏิบัติภายใน 30 วัน

ค่าเสี่ยงภัยโควิด เหลือรอสำนักงบฯ เบื้องต้น 3 พันล้าน ที่เหลือรอครม.ชุดใหม่

ผู้สื่อข่าว Hfocus ถามถึงความคืบหน้าการติดตามเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด19 นพ.โอภาส   กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ที่สำนักงบประมาณแล้ว ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขติดตามเรื่องนี้ตลอด โดยงบประมาณเบื้องต้นอยู่ที่ 3 พันกว่าล้านบาท แต่หากเกินกว่านี้คงต้องรอ ครม.ชุดต่อไปพิจารณา เพราะเป็นไปตามกติกา  

“ตัวเลขทุกอย่างเราทำหมดแล้ว ซึ่งรองบประมาณลงมา อย่าง 3 พันล้านบาทจะจ่ายเฉพาะถึงเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ส่วนเดือน ก.ค. ส.ค.และก.ย.อยู่ระหว่างรอเคาะแหล่งงบประมาณอยู่” ปลัดสธ.กล่าว และว่า ขอยืนยันว่าค่าเสี่ยงภัยโควิดเราให้ทุกวิชาชีพ รวมสายสนับสนุนที่เป็นไปตามเกณฑ์ต้องได้รับเงินดังกล่าว ส่วนกรณีหลายคนเบิกไม่ได้เพราะต้นสังกัดทำหลักฐานเบิกไม่ครบ ซึ่งหากจ่ายไปและหลักฐานไม่ครบจะมีปัญหาได้

เมื่อถามว่าการเปลี่ยนรัฐบาลจะไม่มีผลต่อการของงบประมาณส่วนนี้ใช่หรือไม่ ปลัดสธ.กล่าวว่า ไม่ทราบ เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ฝ่ายประจำไม่มีความเห็นส่วนนี้