ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ดันทางออกปม “หมอลาออก” ปัญหาระบบสาธารณสุขต้องเป็น “วาระแห่งชาติ” เหตุนอกเหนืออำนาจกระทรวงสาธารณสุข และหลายหน่วยงาน ส่วนการยกเลิก “หมออินเทิร์น” ไม่ชัดเจนแก้ปัญหาอย่างไร หนุนหากแก้ไขอัตรากำลังไม่ได้ควรแยกจากสำนักงาน ก.พ.

 

จากกรณีปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่มี “หมอลาออก” โดยเฉพาะหมอจบใหม่ หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ จนเกิดการเรียกร้องภาครัฐให้เร่งแก้ไขโดยด่วน ทั้งเรื่องการแบ่งเบาภาระงานให้เหมาะสม ค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับภาระงาน อัตรากำลังบุคลากร เป็นต้น ขณะที่ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แพทยสภา ชมรมสาธารณสุขต่างๆ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ออกมาประกาศหาแนวทางช่วยเหลือ ซึ่งแนวทางหนึ่งของสธ.คือ เสนอแพทยสภายกเลิกหลักสูตร “หมอเพิ่มพูนทักษะ” และหารือสปสช.ในเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับบุคลากรนั้น

 

สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานมองแนวทางแก้ปัญหายังไม่ตอบโจทย์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร  ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus ว่า มองว่า แนวทางแก้ปัญหาหมอลาออก ยังไม่ตอบรับกับข้อเสนอของแพทย์อินเทิร์นรุ่นนี้ที่เป็นปัญหาอยู่ได้เลย ยังเป็นการแก้ปัญหาจุดๆ ไป อย่างชั่วโมงการทำงาน เรื่องภาระงาน ค่าตอบแทน ก็ยังแก้ปัญหาปลีกย่อย แต่ไม่ได้ทำงานองค์รวม ต่างคนต่างคิดแก้ปัญหาของตนเอง แต่รอยต่อในการแก้ไขต่อได้จริงหรือไม่ เกาถูกที่คันจริงหรือไม่ ควรต้องมีการหารือร่วมกันทั้งหมดเพื่อให้แก้ปัญหาภาพใหญ่ได้จริงๆ อย่างกรณีการทบทวนหลักสูตรหมอเพิ่มพูนทักษะ จาก 6+1 เป็น 7 ปีตรงนี้ก็ไม่ชัดเจนว่า จะแก้ปัญหาหมอลาออกยังไง

ติงข้อเสนอยกเลิกหลักสูตรหมออินเทิร์น แก้ปัญหาหมอลาออกอย่างไร

พญ.ชุตินาถ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญในเรื่องการยกเลิกหลักสูตรแพทย์อินเทิร์นนั้น มองว่าต้องมาคุยว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาการลาออกอย่างไร  หรือเป็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพแพทย์ ซึ่งตนมองว่าเป็นคนละปัญหาหรือไม่ อย่างหากคิดว่า ปรับเปลี่ยนหลักสูตรเป็น 7 ปีมีผลการศึกษา ผลวิจัยรองรับว่า จะเพิ่มคุณภาพได้ก็ต้องมาคุยในรายละเอียดว่า มีข้อดีข้อเสียแตกต่างอย่างไร แต่หากจะบอกว่า การเรียน 7 ปีจะทดแทน และแก้ปัญหาการลาออกของหมอได้ ก็ต้องถามคนหน้างานว่า จริงหรือไม่ แก้ไขได้จริงหรือไม่

ผู้แทนสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน อธิบายเพิ่มอีกว่า  สมมติว่า หากเราเรียนมา 7 ปี แต่ปีที่ 8 เราต้องไปฝึกงานรพ.ศูนย์อยู่ดีหรือไม่ หรือต้องไปวนรพ.ศูนย์อีก ก็จะเจอรูปแบบเดิมๆ อย่างการทำงาน ชั่วโมงการทำงาน ภาระงานเหมือนเดิม ก็คิดว่าไม่ได้แก้ปัญหา ก็คล้ายกันจากทำงานเพิ่มพูนทักษะ 1 ปีได้ใบเพิ่มพูนทักษะมา กลับทำงาน 7 ปีและได้ใบเรียกตัวแทน ตรงนี้ต้องชัดเจนก่อน เพราะจากข้อเสนอยังไม่เข้าใจว่า 7 ปีจะไปแก้ไขเรื่องหมออินเทิร์นยังไง ต้องดูรายละเอียดเหตุผล ต้องมีรายละเอียดกว่านี้

หรือเป็นเพียงรูปแบบการใช้ทุนแบบใหม่?

“ส่วนตัวมองว่า ข้อเสนอนี้จะกลายเป็นเงื่อนไขการใช้ทุนแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่ใบเพิ่มพูนทักษะ ที่ทำให้แพทย์จบใหม่ลาออกได้ แต่เป็นเหมือนได้เลข ว. ในการทำงานในระบบเพิ่มอีก 1 ปีหรือไม่ เรื่องนี้จึงต้องดูรายละเอียด เพราะจากแถลงเมื่อวานยังไม่ชัดเจน ว่า แตกต่างอย่างไร รูปแบบการฝึกงานแทบไม่แตกต่าง และปัญหาการกระจายตัวจะเกิดการกระจุกตัวมากขึ้นอีกหรือไม่ เรื่องนี้จึงต้องพิจารณาและทบทวนกันดีๆ” พญ.ชุตินาถ กล่าว

พญ.ชุตินาถ กล่าวเพิ่มว่า แพทย์ก็เป็นอีกอาชีพ นักศึกษาแพทย์หลายคนไม่ได้มาจากบ้านที่มีฐานะ ดังนั้นอาชีพแพทย์จึงเป็นเหมือนความหวังของครอบครัวที่ส่งเสียให้เรียนจนจบ การเพิ่มการเรียน 1 ปี คือค่าแรงอีก 1 ปีที่หายไป ต้องดูผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดกับครอบครัวเหล่านั้นด้วย

เห็นด้วยหากบริหาร HR ไม่ตอบโจทย์ควรแยกจากสำนักงาน ก.พ.

ส่วนแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขในการศึกษาการออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เพื่อบริหารจัดการด้วยตนเองแบบเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะเรื่องอัตรากำลัง พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า  จริงๆ รูปแบบคล้ายบริษัท อย่างบริษัทไม่สามารถคำนวนจำนวนบุคลากรอย่างเหมาะสม ไม่ยืดหยุ่นสถานการณ์หน้างานได้ ก็ควรต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย HR ก็เห็นว่าควรต้องคุยถึงความเป็นไปได้ในการออกจากสำนักงาน ก.พ.  ที่สำคัญหากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมาคุยกันและพบว่า ประโยชน์จะได้มากกว่าหากเราออกจาก ก.พ. ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องใช้แนวทางเดิมอีกต่อไป

“ช่วงที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหายังติดกรอบหลายอย่าง ดังนั้น หากปัญหาทั้งหมดอยู่นอกเหนือความสามารถของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ก็น่าจะมีหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจมาทำงานร่วมกัน เช่น การเพิ่มค่าตอบแทน ก็น่าจะคุยกับสำนักงบประมาณ หรือกรอบอัตรากำลังต้องคุยกับสำนักงาน ก.พ. ที่แบบคุยแล้วมีความคืบหน้าออกมาได้จริงๆ หากสุดท้ายเรื่องกำลังคน ทาง ก.พ.ติดกรอบก็ต้องมาดูว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะออกจาก ก.พ.” พญ.ชุตินาถ กล่าว

สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานดันปัญหาหมอลาออก เป็นวาระแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ควรต้องเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่ พญ.ชุตินาถ กล่าวว่า ควรเป็นวาระแห่งชาติ เพราะหลายส่วนใหญ่เกินกว่ากระทรวงสาธารณสุขจะแก้ไข และเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากทุกวันนี้ปัญหาภาระงานบุคลากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาสุขภาพของประชาชนก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ต้องมีแผนรองรับภาพรวม ทั้งเรื่องสุขภาพประชาชน ทั้งเรื่องบุคลากรทำงาน เพราะบุคลากรก็เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน หากบุคลากรไม่ได้รับการใส่ใจ ไม่ได้รับการแก้ปัญหาจริงๆ ระบบสาธารณสุขจะมีปัญหาแน่นอน

เตรียมเข้าพบรัฐบาลใหม่หาทางออกระบบสาธารณสุข

พญ.ชุตินาถ ทิ้งท้ายว่า เมื่อรัฐบาลใหม่มา รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ ทางสหภาพฯ จะรวมตัวกันเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง และพูดคุยถึงปัญหาระบบสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-สธ.ประชุม 4 ชมรมสาธารณสุข หาทางออกภาระงานปม “หมอลาออก” ห่วงถ่ายโอนรพ.สต.ทำบริการล้น!

-สปสช.เตรียม5แนวทางหารือ สธ.ลดภาระการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

-แพทยสภาห่วงปัญหาหมอลาออก และขาดแคลนแพทย์ ของสธ. เร่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด เพื่อดำเนินการ

-เสียงสะท้อน “พยาบาล” ลาออกเพียบ! เฉลี่ยปีละ 7,000 คน เหตุภาระงานล้น ค่าตอบแทนน้อย

-สธ.เตรียมหารือ สปสช. ถกปัญหาบริการบัตรทองเพิ่ม ทำภาระงานแพทย์ พยาบาล บุคลากรล้น!

-สธ.แจง “หมอลาออก” ปัญหาสะสม ล่าสุดวางเป้า 3 เดือนแก้ไขทำงานนอกเวลา 64 ชม.ต่อสัปดาห์