ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพพยาบาลฯ และกลุ่ม Nurses Connect   เผยข้อมูลน่าตกใจไม่ใช่แค่ “หมอลาออก” แต่พยาบาลลาออกมากเฉลี่ย 7,000 คนในปี 2565 ดูแลประชากรสัดส่วน 1 ต่อ 406 คน ชี้ไม่ต้องเน้นผลิตเพิ่ม เน้นรักษาพยาบาลอยู่ในระบบให้ได้ เหตุทุกวันนี้มีเวรผี ควงเวรเกิน 24 ชม. ทำงานเกิน 80 ชม.ต่อสัปดาห์ ค่าโอทีค่าเวรได้ไม่เท่ากัน จ่อเสนอรัฐบาลใหม่ -รมว.สธ.คนใหม่ช่วยเหลือ

 

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ออกมาชี้แจงประเด็นในการแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีภาระงานมาก และมีการลาออกจากระบบ ซึ่งพบว่าไม่ใช่แค่แพทย์ แต่ยังมีวิชาชีพอื่นๆ ทั้งพยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีฯ เป็นต้นนั้น โดยแพทย์จากข้อมูล 10 ปีย้อนหลัง ลาออกเฉลี่ยปีละ 455 คนไม่รวมเกษียณอายุราชการ ขณะที่พยาบาลก็เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องมีการแก้ไขควบคู่กันด้วยนั้น

พยาบาลออกจากระบบเฉลี่ยปีละ 7 พันคน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน  น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ ตัวแทนสหภาพพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล และตัวแทนกลุ่ม Nurses Connect   ให้สัมภาษณ์ Hfocus เรื่องนี้ ว่า ปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นปัญหาที่สะสมมานาน หลากหลายวิชาชีพต่างได้รับผลกระทบจากการทำงานโอเวอร์โหลด ชั่วโมงการทำงานเกินอัตรา ไม่ใช่แค่หมอ ยังมีพยาบาล และสายวิชาชีพอื่นๆอีก อย่างพยาบาลที่ทำงานในระบบทุกวันนี้ ผลิตมาเฉลี่ยปีละ 10,000 คน แต่ลาออกเฉลี่ยปีละ 7,000 คน ถือว่าเยอะมาก ซึ่งสาเหตุที่ลาออกคือ ภาระงานมากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อชีวิตต่อสุขภาพ ต่อครอบครัว และค่าตอบแทนก็ไม่สอดคล้องกับภาระงาน ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน

ทั้งนี้  ข้อมูลจากสภาการพยาบาลระบุชัดเจนว่า พยาบาลจบใหม่เข้าปฏิบัติงานปีแรกก็ลาออกถึงร้อยละ 48.86 ในปีที่สองลาออกร้รอยละ 25  โดยอายุการทำงานของพยาบาลเฉลี่ยที่ 22.5 ปี อัตราการสูญเสียร้อยละ 4 หรือ 7,000 คน ซึ่งทางกลุ่มฯ มองว่า การผลิตจำนวน 10,000 คนต่อปีนั้น มีจำนวนเพียงพอ แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การผลิต แต่อยู่ที่ไม่สามารถรักษาพยาบาลไว้ในระบบได้ ซึ่งหากทำไม่ได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพอย่างรุนแรงแน่นอน

สาเหตุออกจากระบบ เหตุภาระงาน ค่าตอบแทน

สาเหตุการลาออกของพยาบาล ไม่แตกต่างจากแพทย์ คือ มีภาระงานหนัก ขณะที่กำลังคนไม่สอดคล้องกับภาระงานที่มากขึ้นทุกวันๆ น.ส.สุวิมล อธิบายว่า  อย่างพยาบาลเราทำงานรวมเวลาในราชการและนอกเวลาราชการเฉลี่ย 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ควงเวรต่อเนื่องอีก 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการทำงานที่โอเวอร์โหลดมากเกินไป ไม่ได้พักผ่อน ขณะที่ตอนนี้โรคโควิด19 กลับมาอีก หลายคนป่วย ทำให้คนที่ไม่ป่วยต้องทำงานแทน ซึ่งตรงนี้เราเข้าใจ เพียงแต่การบริหารจัดการควรมีการจัดการที่ดีกว่านี้ เกลี่ยอัตรากำลังที่เหมาะสม

“ที่ผ่านมาทางสหภาพพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล และตัวแทนกลุ่ม Nurses Connect ได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องการควงเวร ทำงานเกินเวลาจำนวนมาก ทั้งของรพ.บางละมุง กับรพ.ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านั้น ซึ่งเราพบว่า มีอีกหลายที่ โดยร้องเรียนเกี่ยวกับการควงเวร 24 ชั่วโมง หรือที่เรียกกันว่า “เวรผี” มีการแทบทุกที่ เพียงแต่ไม่ได้มีการจดบันทึกรายงานไว้ ขณะนี้ทางสหภาพฯ และกลุ่ม Nurses Connect กำลังรวบรวมปัญหาทั้งหมดเพื่อสื่อสารไปยังผู้บริหารที่เกี่ยวข้องในการหาทางออกต่อไป” ตัวแทนสหภาพพยาบาลฯ กล่าว  

เวรผี ควงเวรเกิน 24 ชั่วโมง

เวรผี หรือการควงเวร 24 ชั่วโมงเป็นอย่างไร น.ส.สุวิมล เล่าว่า ข้อกำหนดของสภาการพยาบาลไม่ให้ทำงานควงเวรเกิน 16 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงอย่างทำงานเกิน 16 ชั่วโมงแล้ว แต่ก็ให้อยู่เวรรีเฟอร์ อีก 8 ชั่วโมง ซึ่งก็ 24 ชั่วโมงอยู่ดี ที่สำคัญค่าตอบแทนค่าเวรผลัดบ่ายดึก ค่าโอทีก็ไม่เหมาะสมกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาตรงนี้ได้รับร้องเรียนมาเยอะประมาณ 20% ของการขึ้นเวร

ทางออกในเรื่องการขึ้นเวรควรอยู่ที่กี่ชั่วโมงการทำงาน น.ส.สุวิมล กล่าวว่า จริงๆควรอยู่ที่ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ด้วยคนไม่เพียงพอ มีคนลาออกกันมากก็ทำให้ภาระงานยิ่งเยอะ กลายเป็น 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการหารือกับสภาการพยาบาลก็เห็นว่า มีแนวทางโดยพยายามหารือกับทางกระทรวงสาธารณสุขในการลดชั่วโมงการทำงานให้เหมาะสม อย่าง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ให้ค่อยๆลดเหลือ 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนค่าตอบแทนก็เช่นกัน ควรต้องเหมาะสมกับภาระงาน

“รพ.ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ปรับขึ้นค่าโอทีอยู่ที่ประมาณ 1,200 บาทต่อผลัด หรือประมาณ 8 ชั่วโมง แต่ของกระทรวงสาธารณสุขแม้จะปรับเพิ่มค่าโอทีแต่ก็ไม่เท่ากัน เพราะอยู่ที่เงินบำรุงของแต่ละโรงพยาบาลอีกเฉลี่ยได้ประมาณ 650-800 บาทต่อผลัด จริงๆ ค่าเวรค่าโอทีควรเท่ากันทั้งประเทศในทุกสังกัด เพราะพยาบาลก็ทำงานคล้ายๆ กัน ดูแลคนไข้เหมือนกัน ภาระงานมากเช่นกัน” น.ส.สุวิมล กล่าว

บัตรทองไม่เกี่ยวทำภาระงานล้น

เมื่อถามว่าปัญหาภาระงานที่โอเวอร์โหลด มีการพูดว่า มาจากบัตรทองทำให้คนมารับบริการมากเกินไป น.ส.สุวิมล กล่าวว่า ไม่จริง เพราะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทองนั้น เป็นรัฐสวัสดิการที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการรักษา ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ตรงนี้เราไม่ควรจะมาพูดแล้วว่า เพราะบัตรทอง เนื่องจากการเข้าถึงการรักษาเป็นเรื่องดี ประเด็นคือ ระดับนโยบายต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม จัดระบบการดูแลสุขภาพของประชาชน ให้คนมารพ.น้อยที่สุด ให้เกิดการดูแลในระดับชุมชน การบริการปฐมภูมิ หรือไพรมารีแคร์ (Primary Care) ให้ได้มาก รวมไปถึงเรื่องการดูแลระยะยาว (Long-term care) ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม

“เข้าใจว่ารัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายตรงนี้มานาน แต่การขับเคลื่อนเรื่องนี้มองว่ายังไม่มากพอ คนยังไม่เข้าถึงระบบไพรมารีแคร์กันมาก เราต้องให้ความรู้ประชาชนในการสร้างเสริมสุขภาพ ให้เกิด health literacy ให้รู้ว่าอาการแบบไหนควรมาโรงพยาบาล อาการแบบไหนไม่ควรมา สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้น หรืออยู่ในระดับของไพรมารีแคร์ได้” น.ส.สุวิมล กล่าว

ไม่เห็นด้วยร่วมจ่าย

น.ส.สุวิมล ยังตอบกรณีคำถามว่า หากการร่วมจ่าย หรือโคเพย์เมนท์ (CO-PAYMENT) จะเป็นอีกทางเลือกให้คนไม่แห่ไปรพ.ใหญ่ๆ หรือไม่ ว่า  สหภาพพยาบาลฯ และกลุ่ม Nurses Connect ยังเห็นด้วยกับรัฐสวัสดิการมากกว่า เพราะการร่วมจ่าย สุดท้ายก็อาจไปตัดโอกาสของคนบางกลุ่มที่เขาไม่มีจ่าย การจะมาแยกว่ากลุ่มนี้จ่าย กลุ่มนี้ไม่จ่าย ดูจะเป็นการเลือกปฏิบัติ จะทำให้การรักษาไม่เท่ากัน ดังนั้น ควรแก้ไขภาพรวมในระบบ อย่างเรื่องภาระงานล้นก็ควรแก้ไขให้ถูกจุดมากกว่า

อย่างไรก็ตาม น.ส.สุวิมล กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางสหภาพพยาบาลฯ และกลุ่ม Nurses Connect  กำลังรวบรวมข้อมูลปัญหาภาระงานต่างๆ และทางออกว่า จะต้องดำเนินการอย่างไร โดยเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็จะนำเรื่องนี้เข้าเรียกร้องขอความเป็นธรรม รวมทั้งจะขอเรียกร้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านใหม่ด้วย

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : วิกฤตระบบสาธารณสุข ภาระงานล้น บุคลากรอ่อนแรง ทางแก้ต้องเป็น “วาระแห่งชาติ”)

คาดการณ์พยาบาลวิชาชีพปี 2560-2580 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่ม Nurses Connect  ได้เปิดเผยข้อมูลพยาบาลวิชาชีพที่คาดว่าจะมีในระหว่างปี 2560-2580 อ้างอิงจากแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ตีพิมพ์ปี 2562 โดยคาดการณ์การสูญเสียพยาบาลออกจากระบบ หรือลาออกจากระบบเฉลี่ยปีละ 3.96%  คาดการณ์ได้ดังนี้  

ปี 2560 ผู้สำเร็จการศึกษาต่อปีอยู่ที่ 9,069 คน สูญเสียหรือลาออกประมาณ 6,795 คน โดยพยาบาลในระบบบริการสุขภาพ 1คนต่อประชากร 441 คน

ปี 2565 ผู้สำเร็จการศึกษาต่อปีอยู่ที่ 10,014 คน สูญเสียหรือลาออก 7,017 คน โดยพยาบาลในระบบบริการสุขภาพ 1คนต่อประชากร 406 คน

ปี 2570 ผู้สำเร็จการศึกษาต่อปี 10,190 คน สูญเสียหรือลาออก 7,017 คน โดยพยาบาลในระบบบริการสุขภาพ 1คนต่อประชากร 362 คน

ปี 2575 ผู้สำเร็จการศึกษาต่อปี 10,190 คน สูญเสียหรือลาออก 7,197 คน โดยพยาบาลในระบบบริการสุขภาพ 1คนต่อประชากร 321 คน

ปี 2580 ผู้สำเร็จการศึกษาต่อปี 10,190 คน สูญเสียหรือลาออก 7,161 คน โดยพยาบาลในระบบบริการสุขภาพ 1คนต่อประชากร 292 คน

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-สธ.ประชุม 4 ชมรมสาธารณสุข หาทางออกภาระงานปม “หมอลาออก” ห่วงถ่ายโอนรพ.สต.ทำบริการล้น!

-สปสช.เตรียม5แนวทางหารือ สธ.ลดภาระการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

-แพทยสภาห่วงปัญหาหมอลาออก และขาดแคลนแพทย์ ของสธ. เร่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด เพื่อดำเนินการ

-สธ.เตรียมหารือ สปสช. ถกปัญหาบริการบัตรทองเพิ่ม ทำภาระงานแพทย์ พยาบาล บุคลากรล้น!

-สธ.แจง “หมอลาออก” ปัญหาสะสม ล่าสุดวางเป้า 3 เดือนแก้ไขทำงานนอกเวลา 64 ชม.ต่อสัปดาห์