ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบกรอบการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ปีงบ 66 ให้มีวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่ม 608 บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า และ อสม. รวมเบื้องต้น 18 ล้านคน  จ่อใช้งบกรมควบคุมโรคเป็นหลัก ขณะเดียวกันเห็นชอบให้ อปท. สามารถจัดซื้อวัคซีนโควิดได้เช่นกัน แต่ต้องไม่ซ้ำซ้อนเรื่องงบประมาณ มอบสถาบันวัคซีฯ เป็นหน่วยงานหลักประสานจัดการ

 

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม  ว่า  จากข้อมูลการฉีดวัคซีนในไทยกว่า 143 ล้านโดสพบว่าช่วยเซฟชีวิตคนไทยได้กว่า 5 แสนคน  ดังนั้น  ที่ประชุมมีการพิจารณาแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 ในปี 2566 ซึ่งจะมีการอิงตามรูปแบบการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1-2 เข็ม โดยฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง “608”  บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เบื้องต้นตัวเลขกลุ่มนี้ราวๆ 18 ล้านคน ฉีด 2 เข็ม ก็ใช้วัคซีนประมาณ 36 ล้านโดส โดยใช้งบจากกรมควบคุมโรคเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของผู้ที่ควรได้รับการฉีดก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิดได้ด้วย เพื่อช่วยกันฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครอบคลุมที่สุด โดยได้มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการประสานดูเรื่องนี้ร่วมกันไม่ให้มีความซ้ำซ้อนเรื่องงบประมาณ กลุ่มเป้าหมาย และไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนสูตรการฉีดเข็มกระตุ้นนั้นต้องมีการพิจารณาตามสถานการณ์เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาวัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงตลอด อย่างไรก็ตามในส่วนของวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ที่มีการติดตาม ณ ตอนนี้เรื่องของประสิทธิภาพ ประสิทธิผลพบว่ายังไม่แตกต่างจากวัคซีนตัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ที่เปลี่ยนแปลงคือราคาที่สูงกว่าวัคซีนเดิมอย่างมาก ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้ติดตามการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศ ซึ่งพบว่าแม้จะเดินไปได้ช้า แต่ก็ขอให้มีการพัฒนาต่อ เพราะอนาคตยังต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอย่างต่อเนื่อง จึงต้องพึ่งพาการผลิตในประเทศด้วย

ปลัดสธ. กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โรคโควิด – 19 ขณะนี้ จากข้อมูลพบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราวๆ 4-5 % ซึ่งเป็นไปตามโมเดลที่มีการคาดการณ์ไว้ เนื่องจากประเทศไทยเริ่มเข้าสู่หน้าหนาว โรงเรียนมีการเปิดการเรียนการสอน และประเทศมีการจัดกิจกรรมต่างๆ จำนวนมากแล้ว ดังนั้นช่วงนี้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันการป่วยหนัก ป้องกันการเสียชีวิต

นพ.โอภาสกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าผลการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ซึ่งมีหลายหน่วยงานของไทยก้าวหน้า แม้จะยังไม่ขึ้นทะเบียน แต่ขอให้ต่อยอดต่อไป เพราะอนาคตอาจต้องฉีดวัคซีนโควิดอีกหลายเข็มหลายโดส เพื่อพึ่งพาศักยภาพการผลิตของประเทศไทยได้เอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพัฒนาวัคซีนมีทั้งรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างจุฬาฯ ทำหลายตัว หรือองค์การเภสัชกรรม ไบโอเทค ส่วนเอกชนก็มีไบโอเนทเอเชีย สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นต้น เป็นเครือข่ายพัฒนาวัคซีนโควิดต่อรวมถึงวัคซีนอื่น

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า แม้การวิจัยวัคซีนโควิด 19 ในประเทศยังไปไม่เร็วแต่มีความก้าวหน้า ที่ประชุมเห็นว่าควรเดินหน้าต่อ จะให้ได้วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนได้ และเป็นตัวต้นทางถ้าจะปรับสายพันธุ์ต่อไป แม้เราทำได้ไม่เร็วเท่าต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนโควิด 19 ของไทยที่ได้ทำการทดสอบในมนุษย์แล้ว จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ 1.วัคซีนโควิด19 ชนิด NDV-HXP-S โดยองค์การเภสัชกรรม 2. วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. วัคซีนโควิด 19 ชนิดดีเอ็นเอ โดยบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และ 4. วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax ชนิด Recombinant โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ขณะที่วัคซีนวัคซีนโควิด 19 รูปแบบพ่นจมูก โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ใกล้เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org