ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนโควิดปี 2566 เน้นเข็มกระตุ้น ใช้หลักการบริหารวัคซีนเดิมและบริจาค ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมแต่อย่างใด  พร้อมตั้งคณะกรรมผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน และทีมวิชาการชุดเดิม 7 ท่าน มี “นพ.สมหวัง” เป็นประธาน

 

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.  ที่กระทรวงสาธารณสุข   นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2565 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

 

นพ.โอภาส กล่าวภายหลังการประชุม ว่า  ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการสธ. ได้แจ้งที่ประชุมว่า มีการลงนามในการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะที่ดูแลเรื่องข้อมูลวิชาการ โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่านเดิม มี ศ.เกียรติคุณ นพ.สมหวัง  ด่านชัยวิจิตร ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร และนพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ นอกจากนี้  ท่านอนุทินยังแจ้งที่ประชุมว่า  ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ส่งหนังสือกล่าวชื่นชมประเทศไทยต่อการดำเนินงานในช่วงสถานการณ์โควิด ส่วนหนึ่งเป็นความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม

 

นายโอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โควิด19 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแถบทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีเหตุผลหลายปัจจัย  เช่น ปลายปีมีกิจกรรมที่ผู้คนรวมตัวกันหนาแน่น  ประกอบกับเข้าสู่ฤดูหนาว เชื้อจะอยู่นานขึ้น และภูมิคุ้มกันฉีดวัคซีนเริ่มลดลง จึงต้องเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิด โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น ซึ่งข้อมูลไทยชัดเจนว่า ผู้เสียชีวิตรอบที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง จึงต้องมีการเร่งรณรงค์ให้มาฉีดเข็มกระตุ้น

ปลัด สธ. กล่าวอีกว่า ที่ประชุมในวันนี้ได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ปี 2566 โดยมีกรอบในการจัดหาและบริหารจัดการให้มีวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่ม 608 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้าและ อสม. รวมถึงประชากรทั่วไปตามความสมัครใจ จำนวน 1-2 โดสต่อคน โดยให้พิจารณาสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส และแนวโน้มประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์ที่ระบาด และนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้คำแนะนำสำหรับการให้วัคซีนโควิด 19 ในปี 2566 อย่างเหมาะสม รวมถึงยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโควิด 19 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ภายหลังการประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อสนับสนุนภารกิจวัคซีนโควิด 19 ให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน เป็นที่ปรึกษา และอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธาน

 

สุดท้ายยังตั้งคณะกรรมการวิชาการ เป็นไปตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.สมหวัง  ด่านชัยวิจิตร เป็นประธาน และกรรมการท่านอื่นๆ รวมทั้งหมดด 7 ท่าน ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดเดิม มี ศ.วุฒิคุณ ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ รศ.ดร.นพ.ประดาป สิงหศิวานนท์ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นพ.สมชาย พีระปกรณ์  และผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เป็นเลขานุการ

 

"ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ตุลาคม 2565 - กันยายน 2566) ระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยขณะนี้ทุกจังหวัดมีแผนปฏิบัติการรองรับทุกแห่ง 77 จังหวัด ส่วนผลการดำเนินงานด้านวัคซีนโควิด 19 ประเทศไทยฉีดไปแล้ว 143.7 ล้านโดส รับอย่างน้อย 1 เข็ม 57.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 82.4 รับครบตามเกณฑ์ 53.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 77.5 และรับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วกว่า 32.4 ล้านโดส ส่วนเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี ข้อมูลถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 รวม 17,745 คน" นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามกรณีการจัดหาวัคซีนโควิด 2566 ต้องใช้งบประมาณมากน้อยแค่ไหน   นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  วันนี้มีการอนุมัติแผนวัคซีนโควิดปี 2566 โดยรวมเน้นกลุ่มเสี่ยง คือ 1. กลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ มีโรคร่วม และหญิงตั้งครรภ์ 2.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข  บุคลากรด่านหน้า อสม. ฯลฯ และ 3. กลุ่มเสี่ยงเด็ก อย่างไรก็ตาม จากที่ยังไม่มีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกออกมา จึงใช้ตามคำแนะนำข้อมูลวิชาการเสนอมา คือ เน้นการใช้วัคซีนเข็มกระตุ้น โดยจะใช้ 2 โดสต่อ 1 คน สำหรับกลุ่มเสี่ยงประมาณ 18 ล้านคน เตรียมวัคซีนไว้ 36 ล้านโดส

“ขณะนี้เรามีวัคซีนที่เตรียมการไว้ก่อน และบริจาคมา จึงไม่ต้องใช้งบประมาณในการจัดหาสำหรับปี 2566  แต่ใช้การบริหารจัดการทั้งเตรียมการก่อนหน้านี้ กับวัคซีนที่ได้รับการบริจาค” นพ.ธเรศ กล่าว

เมื่อถามว่าวัคซีนของเดิมจะป้องกันหรือมีประสิทธิภาพสู้เชื้อใหม่ๆ ในปีหน้าได้หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า  เบื้องต้น ทีมวิชาการติดตามดูว่า ยังไม่มีผลการศึกษาว่าต้องเปลี่ยนแปลงวัคซีนเป็น วัคซีนโควิด 2 สายพันธุ์ (Bivalent Vaccine) เพื่อการกระตุ้นที่ดีกว่า ฉะนั้นเบื้องต้นเราจะใช้วัคซีนเดิมที่มีเพื่อกระตุ้น แต่จะมีการติดตามผลวัคซีนใหม่ๆ ถ้ามีประสิทธิผลดีกว่าก็จะนำเข้ามา โดยขณะนี้การติดต่อเพื่อขอบริจาควัคซีน bivalent vaccine ให้เรา ซึ่งทีมวิชาการกำลังศึกษาอยู่

 

เมื่อถามว่าปี2566 ประชาชนทั่วไปจะสามารถฉีดได้หรือไม่ มีช่องทางอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า จะเน้นในกลุ่มเสี่ยงก่อน แต่ถ้ากลุ่มที่สมัครใจฉีดก็สามารถฉีดได้ คิดว่าวัคซีนเพียงพอ ส่วนจะฉีดอย่างไรก็ต้องปรับไปตามสถานการณ์ เพราะตอนนี้จริงๆ มีวัคซีนกระจายอยู่ทุกรพ. สามารถติดต่อขอรับได้