ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ร่วมกับ Nurses Connect สหภาพคนทำงาน Workers' Union  และ  CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ จัดงานเสวนา "Who cares for the care workers : คุณดูแลคนไข้ แล้วใครดูแลคุณ" ตั้งวงถกและถาม ความจริง ความฝัน สู่ชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม 

เมื่อความจริงของคนทำงานในระบบสาธารณสุขไทย แตกต่างจากความคาดหวังที่เคยฝันไว้ แล้วชีวิตการทำงานจะเป็นธรรมและดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ร่วมกับ Nurses Connect สหภาพคนทำงาน Workers' Union  และ  CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ จึงได้จัดงานเสวนา "Who cares for the care workers : คุณดูแลคนไข้ แล้วใครดูแลคุณ" โดยเชิญคนทำงานในโรงพยาบาลเข้าร่วมงานเพื่อตั้งวงถกและถาม ความจริง ความฝัน ร่วมพูดคุยกับวิทยากร อ.ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ อาจารย์แพทย์ และ พ.ว.วุฒิชัย สมกิจ กรรมการสภาการพยาบาล เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ Manycuts Artspace 

พ.ว.วุฒิชัย สมกิจ กรรมการสภาการพยาบาล ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว Hfocus ว่า การได้พูดคุยกันในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มาแบ่งปันเรื่องราว ความจริง ความฝัน ของคนทำงานในระบบสาธารณสุขไทย สำหรับปัญหาพยาบาลจะละเอียดอ่อนมากกว่าแพทย์ เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำทั้งจากภาระงาน รายได้ และความก้าวหน้า ซึ่งจำนวนพยาบาลที่รักษาไว้ในระบบสุขภาพยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย หากเทียบกับภาระงานที่ต้องเจอ เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ ชั่วโมงภาระงานควรสมดุลกับประกาศของสภาการพยาบาลที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนค่าตอบแทนต้องปรับให้มีความเหมาะสม สภาการพยาบาลร่วมกับกองการพยาบาล และอีกหลายภาคส่วน ได้ยื่นข้อเสนอให้กับรัฐบาล เพื่อให้แก้ปัญหาตรงนี้ 

"ที่ผ่านมาพบความเหลื่อมล้ำทั้งเรื่องรายได้และภาระงาน จำนวนพยาบาลมีน้อยเมื่อเทียบกับคนไข้ที่ต้องรับในแต่ละวัน พยาบาลจึงทำงานหนักมาก ในบางโรงพยาบาลพบว่า พยาบาลต้องทำงานหนักมากกว่า 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แทบจะไม่มีวันพัก ค่าตอบแทนโดยเฉพาะค่าโอทีจะขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลนั้น ซึ่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจะมีอัตราการจ่ายที่สูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จะช่วยรักษาให้พยาบาลอยู่ในระบบสุขภาพมากยิ่งขึ้น จากการศึกษาทั้งของกองการพยาบาลและสภาการพยาบาลพบว่า อัตราการสูญเสียพยาบาลทั้งจากการลาออก การเกษียณอายุราชการจะสูง เมื่อเทียบกับจำนวนที่ผลิตได้ต่อปี ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่ผลิตพยาบาลรวมทั้งหมด 97 สถาบัน มีความสามารถในการผลิตพยาบาล 10,000-12,000 คนต่อปี จากการวิจัยย้อนหลังพบว่า การสูญเสียพยาบาลออกจากระบบประมาณ 7,000 คน อัตราส่วนของพยาบาลต่อคนไข้อยู่ที่ 1 ต่อ 371 ถือว่าเยอะมาก หากยังผลิตได้จำนวนนี้ ในปี 2575 จะมีอัตราส่วนอยู่ที่ 1 ต่อ 317 เทียบได้ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) คำนวณให้กับประเทศไทย ปัญหาสำคัญคือ การธำรงบุคลากรไว้ในสถานพยาบาล จึงต้องดูทั้ง 3 ประเด็น ค่าตอบแทน ภาระงาน ความก้าวหน้า แม้ว่าจะมีการแก้ไขปัญหานี้มาตลอด แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนกลวิธีในการแก้ไขปัญหา ถ้าไม่แก้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ประชาชน" พ.ว.วุฒิชัย กล่าว

ด้าน น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ พยาบาลวิชาชีพ กลุ่ม Nurses Connect เพิ่มเติมว่า ชั่วโมงการทำงานลดลงเหลือ 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเป็นมาตรฐานที่สูงที่สุด จากข้อมูลของสภาการพยาบาลที่ควรทำงานอยู่ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ที่ผ่านมา ค่าตอบแทนของพยาบาลมีไม่มากจึงทำให้พยาบาลเลือกทำงานหนัก หากมีการเพิ่มค่าตอบแทน จะช่วยลดภาระพยาบาลได้ อีกทั้งควรกำหนดมาตรฐานว่า ต้องไม่เกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนไข้ที่เข้ามารับบริการด้วย แม้พยาบาลจะบอกว่าไหว แต่ผู้ที่รับความเสี่ยงโดยตรงคือ คนไข้ ส่วนข้อเสนอปรับค่าตอบแทนพยาบาลวิชาชีพจาก 600 บาทเป็น 650 บาทต่อผลัดนั้นไม่เห็นด้วย เพราะปัจจุบันหลายโรงพยาบาลมีการจ่ายค่าตอบแทนมากกว่า 600 บาทอยู่แล้ว เรื่องนี้ได้ประโยชน์แค่บางโรงพยาบาล ส่วนโรงพยาบาลที่ให้มากกว่านั้นจะไม่ลดและไม่เพิ่ม ส่วนโรงพยาบาลที่กำลังพิจารณาเพิ่มจาก 600 บาท เป็น 700 บาท อาจจะเพิ่มตามเพดานที่ 650 บาท สิ่งที่ต้องการเรียกร้อง คือ 1,000 บาทต่อ 1 เวรหรือเป็นผลัด (OT) เท่ากันทุกโรงพยาบาล โดยให้มีนโยบายที่ลงมาช่วยพยุงและจัดสรรเงินบำรุงพยาบาลด้วย

"การทำงานในระบบสุขภาพ สิ่งที่ยึดถือเป็นสำคัญ คือ สุขภาพของประชาชน ความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางทั้งหมด ต้องลดความเสี่ยงที่เกิดกับคนไข้ให้น้อยที่สุด ความเสี่ยงหนึ่งมาจากบุคลากรหรือคนทำงาน ถ้าไม่สามารถลดชั่วโมงการทำงาน จะส่งผลต่อผู้ป่วยทั้งหมดที่อยู่ในประเทศนี้ จะไม่มีหมอคนไหนได้คุยกับคนไข้เกิน 5 นาที พยาบาลที่ถูกผลิตออกมาอย่าง Nurse Manager ที่มีความรู้ สามารถให้คำแนะนำได้ ถ้าความก้าวหน้าทางอาชีพพยาบาลไม่มี จะมี Nurse Manager  น้อยลงที่จะมาช่วยคุยกับคนไข้ ให้ความรู้ ปรับพฤติกรรม จะส่งผลตรงต่อประชาชนและผู้ป่วย ถ้าคนไข้ไม่ได้รับคำแนะนำจากหมอและพยาบาลมากพอที่จะดูแลตัวเองได้ ผลเสียจะเกิดกับประชาชน" น.ส.สุวิมล กล่าว 

ขณะที่ พญ.ปริญรศา มงคลกุล ตัวแทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เสริมว่า จากความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์ในวันนี้ มีทั้งความคาดหวังและประสบการณ์ที่เจอจากการทำงาน โดยพบปัญหาเรื่องระยะเวลาการทำงานที่เรียกร้องอยู่ ค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอต่อภาระงาน ผลพวงจากชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป ครั้งนี้จึงเป็นการระดมความคิดเห็น ข้อจำกัดด้านอื่น ๆ ที่อาจสรุปเป็นข้อเรียกร้องต่อไป รวมถึงแนวคิดการรวมตัวเพื่อเป็นสหภาพแรงงาน เพราะการจับมือกันหลายฝ่ายจะส่งเสียงได้มากขึ้น 

"ตัวอย่างภาระงานของแพทย์ เมื่อแพทย์อินเทิร์นต้องกระจายไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อให้มีคนอย่างเพียงพอในทุกพื้นที่ แพทย์ทำงานโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละมากกว่า 100 ชั่วโมง แพทย์บางคน 114 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แม้ว่าการทำงานจะเริ่ม 7 โมงเช้า เลิกงาน 4 โมงเย็น แต่แพทย์ก็ต้องอยู่เวรทั้งคืน หรืออยู่จนเช้า ทำงานวันเว้นวัน เวรห้องฉุกเฉินจะมีเวร 4 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน หรือเที่ยงคืนถึง 8 โมงเช้า จึงยืนยันข้อเรียกร้องให้มีเวลาการพักขั้นต่ำของแพทย์หลังอยู่เวรเป็น 8 ชั่วโมง มีชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อม ลดโอกาสความผิดพลาดในการปฏิบัติงานที่อาจเป็นอันตราย" พญ.ปริญรศา กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง