ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สัปดาห์นี้จะเป็นอีกช่วงสำคัญของประเทศไทยสำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดจัดงานเมกะอีเวนต์ระดับโลก “Specialised Expo 2028 Phuket , Thailand  สำหรับขั้นตอนการนำเสนอความพร้อมของประเทศ (Country Presentation) ครั้งที่ 2 ต่อคณะกรรมการ Bureau International des Expositions (BIE) วันที่ 27-29 พ.ย. ที่ฝรั่งเศส เป็นการนำเสนอความพร้อมครั้งสุดท้าย เพื่อชี้แจงความก้าวหน้าในรายละเอียดของสถานที่จัดงาน รูปแบบการจัดงานและแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่หลังจบงาน (Legacy Planning) หลังจากคณะกรรมการบริหารวิเคราะห์และหารือเจากรายงานการสำรวจพื้นที่เชิงลึก (Enquiry Mission) เมื่อกลางปีที่ผ่านมา มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าทั้ง 5 ประเทศได้แก่ สหรัฐ สเปน เซอร์เบีย อาร์เจนตินา และไทย ได้รับการพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้และสอดคล้องกับกฎของ BIE ในการเป็นเจ้าภาพ

หลังจากขั้นตอนนี้แล้ว จะเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศที่เสนอตัวได้จัดประชุมสัมมนา (symposium ) และนิทรรศการเพื่อหาเสียงสนับสนุน ก่อนชี้ชะตาจากเสียงโหวตของชาติสมาชิก 170 ประเทศในเดือนมิ.ย.ปีหน้า ซึ่งแม้จะไม่ใช่งานง่ายแน่นอนสำหรับประเทศไทย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

 

>> จุดขายของธีม

 “Future of Life : Living in Harmony, Sharing Prosperity ชีวิตแห่งอนาคต-แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่ง” คือธีมของประเทศไทย เกิดจากแนวคิดของการใช้พื้นที่กว่า 141 ไร่ของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตที่มีโครงการจะทำเป็นเมดิคัล พลาซ่า หรือศูนย์บริการทางการแพทย์แบบครบวงจรที่ใหญ่ที่ในประเทศ และเมืองภูเก็ตที่มีความโดดเด่นในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรม โดยชูเรื่องของเมดิคัลและเวลเนสส์

ใกล้เคียงกับแนวคิดของสหรัฐอเมริกา(มินิโซต้า) ที่มาในธีม “Healthy People, Healthy Planet: Wellness and Well-Being for All” ซึ่งนำเสนอเป้าหมายการดูแลสุขภาพและส่งเสริมความเป็นอยู่ รวมถึงนวัตกรรมทางการแพทย์

ขณะที่อีก 3 ชาติ สเปน (มะลากา) เน้นเรื่องการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมโดยเน้นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในธีม “The Urban Era: towards the Sustainable City” เซอร์เบีย (เบลเกรด) ใช้ธีม “Play for Humanity-Sport and Music for all” พลังจากการเล่นจะช่วยสร้างสรรค์สิ่งดีๆ โดยเน้นเรื่องดนตรีและกีฬา และอาร์เจนตินา (เซนคารอส เดอ บาริโลเช่) “Nature + Technology = Sustainable Energy. A viable future for humanity” การนำธรรมชาติมาผสานกับเทคโนโลยีเพื่อให้เป็นพลังงานที่ยั่งยืนในโลกอนาคต

หากมองในแง่ของเทรนด์โลกตอนนี้ เวลเนสส์ถือว่าได้รับความสนใจอย่างมากโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของโลกในบริบทหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงน่าจะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและการพัฒนารูปแบบการให้บริการสาธารณสุขในอนาคต สร้างความร่วมมือในทุกมิติเพื่อเตรียมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ

“หลังโควิดปรัชญาของคำว่า wellness เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น นี่จะเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ ทั้งศาสตร์ของไทยและต่างประเทศที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้” นพ.วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวไว้

แนวคิดชีวิตแห่งอนาคตของไทยยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) ซึ่งมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย โดยหนึ่งในนั้นคือการสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย

>> ความชัดเจนของ Legacy Planning

ปกติการจัด Specialised Expo จะมีข้อสำคัญอยู่ 2-3 เรื่องหนึ่งในนั้นคือแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่หลังจบงาน หรือ Legacy Planning  ไม่ใช่จบงานแล้วทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์

อย่างที่ทราบกันว่าบนพื้นที่กว่า 141 ไร่ที่จะใช้จัดงาน ส่วนหนึ่งคือโครงการเมดิคัล พลาซ่า ของรพ.วชิระภูเก็ตที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2569 และรูปแบบการดำเนินงานชัดเจนอยู่แล้ว ประกอบด้วย ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร (International Health/Medical Plaza) ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ (Premium Long Term Care) ศูนย์ใจรักษ์ (Hospice Home) หรือศูนย์การดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิต และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร (Rehabilitation Center) เมื่อเสร็จงานทางรพ.วชิระภูเก็ตก็ได้รับคืนไปบริหารจัดการตามแผน

ขณะที่อีก 2 ส่วนได้แก่ ศูนย์ประชุม 5,000 ที่นั่งและพื้นที่กันชน ธเนศ ตันติพิริยะกิจ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่าในส่วนของศูนย์ประชุมจะนำมาใช้ต่อเป็นศูนย์ประชุมนานาชาติอีกแห่งของจังหวัด เพิ่มศักยภาพในการรองรับอุตสาหกรรมไมซ์ ส่วนพื้นที่กันชนจะเป็นพื้นที่สาธารณะเป็นเหมือนปอดของชุมชนโดยจะรวมทั้ง 3 พื้นที่เข้าด้วยกันเพื่อให้ทุกคนเข้ามาใช้ประโยชน์ในหลากหลายมิติ

“เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่า Legacy Planning  น่าจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้ความพร้อมของเราติดอันดับ 1-2 ในสายตาของคณะกรรมการ” ธเนศ กล่าว

 

>> การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

อีกอย่างที่คณะกรรมการ BIE ให้ความสำคัญคือ การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ภาครัฐ เอกชน ซึ่งในการลงพื้นที่ตรวจสอบเชิงลึกที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนเป็นที่น่าพอใจ ทั้งในแง่ของความตื่นตัวและการรับรู้

ขณะที่ในการนำเสนอความพร้อมรอบนี้ทีมไทยจะมี “น้องกานพลู” ด.ญ.อัญช์ณฎา ลักขณา  อายุ 12 ปี จากโรงเรียนขจรเกียรติศึกษา ผู้ชนะการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนเยาวชนจะเป็นตัวแทนร่วมนำเสนอด้วย เป็นการตอกย้ำความร่วมมือและธีมชีวิตแห่งอนาคตอีกด้วย

นอกจากนี้แนวคิดที่ใช้ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพยังสอดคล้องกับนโยบายยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมการบริการทางการแพทย์แบบครบวงจรเป็นอุตสาหกรรมการบริการแห่งอนาคตและตั้งเป้าพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติให้ได้ภายใน พ.ศ. 2569

นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต ยกตัวอย่างอเมริกาที่เข้าไปใช้โรงพยาบาลเมโยคลินิก ซึ่งถูกยกให้เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลก มีจุดแข็งในแง่ของชื่อเสียงและการใช้เอกชนนำ แต่ในขณะเดียวกันในแง่ของ BIE อยากเห็นว่าโครงการเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่เซกเตอร์ใดเซกเตอร์หนึ่งที่เกิดประโยชน์

>> แม่เหล็กเมืองเจ้าภาพ

เมื่อเปรียบความน่าดึงดูดใจของเมืองที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพทั้งหมด ภูเก็ตถือว่าค่อนข้างได้เปรียบในแง่ของการเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก

นอกจากชื่อเสียงของเกาะยอดนิยมในประเทศไทยจะเป็นที่เลื่องลือในระดับโลกอยู่แล้ว ทั้งในแง่ของความสวยงามทางธรรมชาติ วัฒนธรรม อาหารแล้ว ผลการศึกษาโดยมาสเตอร์การ์ดล่าสุดพบว่า ภูเก็ตเป็นเมืองเดียวในบรรดา 5 เมืองที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพที่มีชื่อติดท็อป 20 เมืองที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดในโลกในปีที่ผ่านมา การันตีได้ถึงการเป็นเมืองแม่เหล็กที่ได้รับความสนใจและดึงดูดนักเดินทางได้ไม่น้อยในการจัดงานเมกะอีเวนต์ระดับโลก 

ขณะเดียวกันก็ไม่อาจประมาทมะลากาของสเปน ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองเก่าแก่ที่สุดของโลกและมีศักยภาพการเป็นเมืองท่องเที่ยวเช่นกัน

 

>> ตัวแปรสำคัญ...ฐานเสียง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีน้ำหนักมากที่สุดตอนนี้คะแนนโหวต ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 7 เดือนในการหาเสียงสนับสนุนที่ทุกชาติต่างก็พยายามใช้ทุกคอนเนคชั่นที่มีในการล็อบบี้หาเสียงอย่างเต็มที่ เพราะทราบดีว่าหากได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก

ในการประชุมเอกเปคที่ผ่านมา ได้มีการจัดนิทรรศการเพื่อนำเสนอการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialised Expo 2028  ระหว่างการประชุม APEC ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมขอเสียงสนับสนุนจากชาติสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมซึ่งคุณธเนศเผยว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เช่นเดียวกับในส่วนของจังหวัดภูเก็ตที่มีโอกาสได้ต้อนรับฑูตจากประเทศต่างๆ

“จากเท่าที่ได้มีส่วนร่วมด้วยตัวเองใน 2-3 วาระ เช่นท่านฑูตคาซัคสถานที่ได้เชิญทางทีมไปงานวันชาติและประกาศจะสนับสนุนภูเก็ต หรือล่าสุดท่านทูตบังคลาเทศมาเยี่ยมผู้ว่าฯ และเปิดให้เอกชนเข้าด้วยก็บอกว่าจะสนับสนุนเต็มที่ ผมคิดว่าในแง่การล็อบบี้ก็ดูดี ไม่ได้ขาดตอนไป ถ้าจะประเมินจากทั้งความพร้อมและฐานเสียง ณ ตอนนี้ภูเก็ตก็อยู่ในลิสต์ที่มีโอกาสสูงที่จะได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ” ธเนศ กล่าว

สำหรับคู่แข่งสำคัญน่าจะเป็นสเปน ซึ่งนอกจากจะมีศักยภาพด้านเมืองท่องเที่ยวไม่ต่างจากภูเก็ตแล้ว ยังเคยได้จัดงานเอ็กซ์โปมาแล้ว บวกกับมีการตั้งทูตงานนี้เพื่อของเสียงสนับสนุนโดยเฉพาะน่าจะมีฐานเสียงทางฝั่งยุโรปเหนียวแน่นพอสมควร รวมทั้งสหรัฐ ที่เคยเสนอตัวใน  Specialised Expo 2023  มาแล้วและยังคงเสนอเมืองเดิมด้วยจุดเด่นเรื่องนวัตกรรมทางการแพทย์ของเมืองตลอดจนพลังการล็อบบี้ในฐานะชาติยักษ์ใหญ่

ด้านอาร์เจนตินาก็เป็นอีกชาติที่หลายคนมองว่าน่าจะมีฐานเสียงดีเช่นกัน หลังได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ Specialised Expo 2023 มาแล้วแต่เจอโควิดเลยไม่ได้จัดต้องมาบิดกันใหม่นั้น มีการประเมินว่าปัญหาทางเศรษฐกิจอาจมีผลต่อคะแนนเสียงในครั้งนี้พอสมควร เช่นเดียวกับเซอร์เบียที่มีปัญหาเชิงการเมือง

เพราะฉะนั้นตัวแปรสำคัญที่สุดหลังจากนี้คือ การใช้ทุกคอนเนคชั่นในการหาเสียงให้ได้มากที่สุด!