ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.ชี้ปี 66  เชื้อโควิดไม่น่ากลายพันธุ์มาก แต่ยังคงต้องเติมภูมิคุ้มกันให้กลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนกระตุ้นกลุ่ม 608 ใช้หลัก "4 เข็ม 4 เดือน"  คือรับให้ครบ 4 เข็ม หากเข็มล่าสุดห่างมาแล้ว 4 เดือนก็ให้กระตุ้น ลดความรุนแรงและเสียชีวิตได้ ขออย่ารอวัคซีนรุ่นใหม่  ส่วนคนกังวลผลระยะยาวฉีดวัคซีน เผยผ่านมา 2 ปี ฉีดกันมากกว่า 80-90% แล้วไม่มีอะไรน่ากังวล แต่มีระบบเฝ้าระวังตลอด

 

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่ผ่านมา ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ลักษณะก็เข้าใกล้เหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ทุกที คือ มีการกลายพันธุ์ย่อยๆ หลากหลายจำนวนมาก ต่างจากช่วงระบาดแรกๆ ที่ระบาดเป็นสายพันธุ์เดียวกันเหมือนกันทั่วโลก จะเห็นว่าปีที่แล้วมีการกลายพันธุ์เกิดเป็นเชื้อใหม่เร็ว ส่วนปีนี้จะเห็นว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนมาตลอด ไม่ได้เปลี่ยนเป็นตัวอื่น แต่มีการกลายพันธุ์ย่อยๆ จำนวนมาก ส่วนสถานการณ์ของประเทศไทยถือว่าเพิ่มขึ้น แต่แนวโน้มขณะนี้เริ่มชะลอตัวลง ผู้เสียชีวิตและป่วยหนักไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจนกระทบต่อระบบสาธารณสุข แต่พบว่าผู้เสียชีวิตหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นกลุ่ม 608 ทั้ง 100% และเกือบทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีน รับวัคซีนไม่ครบ หรือรับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน

 

"มาตรการในช่วงนี้จึงยังต้องเร่งรัดเชิญชวนกลุ่ม 608 หรือผู้ที่รับวัคซีนหรือติดเชื้อมาแล้วเกิน 3-4 เดือนให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ตามหลัก  "4 เข็ม 4 เดือน"  คือรับให้ครบ 4 เข็ม หากเข็มล่าสุดห่างมาแล้ว 4 เดือนก็ให้มารับวัคซีน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า มาตรการป้องกันตนเองอย่างสวมหน้ากากยังมีประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการทางเดินหายใจหรือการอยู่ในที่มีคนจำนวนมากหรือแออัด นอกจากนี้ เรายังเฝ้าระวังกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามและดูแนวโน้มสถานการณ์ เช่น ใน รพ. ตลาด กลุ่มแรงงานต่างด้าว ชุมชนแออัด เป็นต้น ย้ำว่าไม่จำเป็นที่จะต้องไล่ดูว่าติดเชื้อกี่คน ซึ่งไม่มีประโยชน์ในสถานการณ์เช่นนี้ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ สธ.จะออกประกาศแจ้งเตือน ดังนั้น หากยังไม่มีประกาศแจ้งเตือนอะไรก็ไม่ต้องวิตกกังวล

 

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า ช่วงก่อนหน้านี้คนฉีดวัคซีนน้อย เนื่องจากมีการฉีดไปจำนวนมากแล้ว โดยฉีดวันละพันกว่าคน แต่ตอนนี้ฉีดเป็นวันละหมื่นกว่าคน หรือเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า แนวโน้มคนยังต้องการอยู่ ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำสถานพยาบาลในสังกัด สธ.ว่า หากมีประชาชนมาขอรับบริการต้องให้บริการทุกคน อย่าไปกังวลเรื่องการสูญเสียวัคซีนมากนัก ให้หน้างานพิจารณาตามความเหมาะสม เรายอมเสียวัคซีนดีกว่ายอมให้คนเสียชีวิต หรือหากยังให้บริการไม่ได้ก็ต้องมีการนัดอย่างชัดเจน รวมถึงให้จัดบริการเพิ่มขึ้นและหน่วยฉีดเชิงรุกด้วย

 

"ส่วนพื้นที่ กทม. ก็ได้ประสานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ให้ช่วยเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุในพื้นที่ให้ครบถ้วน และไม่ใช่การดูเฉพาะ รพ.สังกัด กทม.เท่านั้น แต่ต้องดูแลทั้งหมด อย่างเรื่องการเปิดพื้นที่จัดบริการฉีดวัคซีนต่างๆ ก็เป็นหน้าที่ของประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ที่มีกฎหมายโรคติดต่อในมือไปจัดการเรือ่งเหล่านี้" นพ.โอภาสกล่าว

ส่วนวัคซีนรุ่นใหม่ที่เป็น Bivalent สองสายพันธุ์อู่ฮั่นและ BA.2 ถ้านำมาฉีดกระตุ้นก็ไม่ได้ดีไปกว่าการฉีดวัคซีนรุ่นเก่ามากนัก จึงไม่ควรรอ เพราะสิ่งสำคัญคือการฉีดให้ตรงตามกำหนด หรือแม้กระทั่งกรณีวัคซีนเด็กที่ระบุว่าพัฒนาจากสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ขณะนี้เด็กเล็กในไทยยังฉีดไม่ครบ 3 เข็มเลย และแม้จะเป็นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 แต่ก็ไม่น่าจะทันกับการระบาดในปัจจุบัน เพราะเชื้อโควิดในประเทศไทยขณะนี้แทบไม่มี BA.4/BA.5 แล้ว แต่ถูกแทนที่ด้วย BA.2.75 ก็ย้ำเตือนว่าอย่าไปรอรุ่นใหม่ สายพันธุ์ย่อยๆ ยังมีโอกาสเปลี่ยนอีกหลายรอบ

 

*** นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนการคาดการณ์โรคโควิด 19 ในปี 2566 เราดูจาก 3 ปัจจัย คือ 1.เชื้อโรค มองว่าคงกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ แต่เป็นการกลายพันธุ์แบบย่อยๆ เล็กน้อย เราอยู่กับโอมิครอนมา 1 ปีแล้วก็ยังไม่เปลี่ยนเป็นตัวอื่น อย่างไรก็ตาม เรามีการติดตาม หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็จะประกาศให้ทราบ  2.คน ขณะนี้คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ก็จะช่วยลดความรุนแรงและการเสียชีวิต การฉีดเข็มกระตุ้นจึงสำคัญ เพราะขณะนี้วัคซีนทุกยี่ห้อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้เหมือนกัน แต่ป้องกันการติดเชื้อไม่ค่อยได้ และภูมิคุ้มกันอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องเน้นกลุ่ม 608 คนที่มีโอกาสสัมผัสผู้คนจำนวนมาก บุคลากรสาธารณสุข บุคลากรด่านหน้า คนทำงานภาคบริการ  และ 3.สิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วงที่ระบาดใหม่ๆ แรกๆ เราควบคุมไม่ให้คนมาพบกัน ลดความเสี่ยงปิดการเดินทาง เมื่อคนมีภูมิคุ้มกันเยอะขึ้น ก็ใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติเหมือนกันทั่วโลก แม้จะมีการกลายพันธุ์เยอะคนก็ไม่ค่อยกังวลมาก และระบบเรารองรับได้ ถ้ามียาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะช่วยควบคุมสถานการณ์ดีขึ้น

 

"ดังนั้น การระบาดถ้าเทียบกับปีนี้คงไม่แตกต่างกันมาก คาดว่าเชื้อไม่น่าจะกลายพันธุ์ไปมากนัก ยังคงต้องเติมภูมิคุ้มกันให้กลุ่มเสี่ยง ยังสามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยใช้ชีวิตร่วมกับโควิด ส่วนคนที่ยังกังวลเรื่องการฉีดวัคซีนขอยืนยันว่า เรามีการฉีดมาแล้ว 2 ปี ฉีดกันมากกว่า 80-90% แล้ว ก็ไม่มีอะไรผิดสังเกต ซึ่งทางสธ.มีระบบติดตามเฝ้าระวังตลอด" นพ.โอภาสกล่าว