ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์แพทย์ รพ.รามาธิบดี เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อกิน “ถั่งเช่าสีทอง” ไม่มีสรรพคุณบำรุงไต หรือป้องกันโรคได้ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ชี้ยิ่งทำให้เกิดอาการไตเสื่อม เสี่ยงไตวาย อีกทั้งคนละชนิดกับ “ถั่งช่าทิแบต” ซึ่งหาได้ยาก

 

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม  รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีผลกระทบจากการรับประทานถั่งเช่ากับการเกิดโรคไต ว่า ในทางการแพทย์แผนจีนนั้น จะมีการพูดถึง "ถั่งเช่าทิเบต" ที่เป็นหญ้าหนอนชนิดหนึ่ง โดยระบุถึงการช่วยเรื่องของสมรรถภาพทางเพศ ชะลอวัยต่างๆ รวมถึงรักษาสมรรถนะและบำรุงไตให้ดีขึ้น แต่ถั่งเช่าที่คนไทยรับประทาน ไม่ใช่ถั่งเช่าทิเบตที่หาได้ยาก แต่เป็น "ถั่งเช่าสีทอง" ซึ่งเป็นหญ้าหนอนคนละตระกูลกันที่มีการเพาะเลี้ยงขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ยังไม่เคยเห็นการศึกษาถึงสรรพคุณต่างๆ ที่สำคัญทางการแพทย์แผนจีนก็ไม่ได้แนะนำการใช้ถั่งเช่าสีทอง แต่กลับมีการเอาตัวนี้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ แล้วไปอ้างสรรพคุณรักษาและป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งหากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณการรักษาหรือป้องกันโรคได้

 

รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า จากการดูแลผู้ป่วยโรคไตของโรงเรียนแพทย์หลายแห่งพบว่า ผู้ที่รับประทานถั่งเช่าสีทองบางคนมีอาการไตแย่ลง ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีโรคไตอยู่เดิม จากที่ยังชะลออาการไตเสื่อมไว้ได้ให้อยู่ได้ 5-10 ปีไม่ต้องล้างไต ก็กลับทำให้เกิดไตมีอาการแย่และเสื่อมลงอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่เดือน บางรายที่เสื่อมถึงขั้นไตวายได้ ตรงนี้เนื่องจากฤทธิ์ของถั่งเช่าไม่เหมือนกัน และถั่งเช่าสีทองน่าจะไปออกฤทธิ์คล้ายกับการมีพิษต่อท่อไต ซึ่งทำหน้าที่นำปัสสาวะออกมา เมื่อทำให้เป็นพิษ ก็ทำให้ไตอักเสบ และไตเสื่อมได้ นอกจากนี้ ไม่เพียงเฉพาะผู้ป่วยโรคไตเท่านั้น แม้แต่คนทั่วไปก็ทำให้เกิดปัญหาที่ไตได้ เพราะเคยเจอผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีไตปกติ แต่เมื่อไปรับประทานถั่งเช่ามาประมาณ 2 เดือน แล้วเกิดอาการไตเสื่อมระยะ 3 เมื่อหยุดรับประทานแล้วพบว่าไตก็เริ่มดีขึ้น

 

"ผมไม่แนะนำให้ใช้ถั่งเช่า เนื่องจากสรรพคุณรักษาโรคไตไม่ได้ และไม่มีรายงานทางวิชาการสนับสนุน และถั่งเช่าของประเทศไทยเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ยารักษาโรค เพราะฉะนั้น ประโยชน์ไม่มีแน่นอน บางคนเกิดผลเสียด้วย มีความเสี่ยงเป็นพิษต่อไตและไตวายก็ไม่แนะนำ เพราะบางคนเป็นแล้วรักษาไม่หาย ต้องล้างไตไปตลอดชีวิต" รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว

 

รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการปฏิบัติตนเพื่อดูแลรักษาไตให้อยู่กับเราไปนานๆ คือ 1.ระมัดระวังเรื่องการรับประทานยา เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่ขับสารพิษออกจากร่างกาย และยาหลายตัวเป็นยาพิษก็สะสมที่ไต ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรรับประทานยา โดยให้รับประทานเท่าที่จำเป็นตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ เนื่องจากเราไม่ทราบว่าจะแพ้ยาตัวนี้หรือจะมีพิษต่อไตหรือไม่  2.ดูแลสุขภาพ ซึ่งโรคที่ทำให้เกิดโรคไต คือ การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะหวานจัด เค็มจัด หากรับประทานไปนานๆ 20 ปี โรคแทรกซ้อนก็จะมาทางโรคไต  3.ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้เป็นพิษต่อหลอดเลือดรวมถึงหลอดเลือดที่ไต 4.อย่าให้น้ำหนักมาเกินไป ต้องออกกำลังกายบ้าง เนื่องจากน้ำหนักเยอะ อ้วน ก็อาจเป็นเบาหวานและนำไปสู่โรคไตได้เช่นกัน  และ 5.ดื่มน้ำให้พอเหมาะ หากดื่มน้ำน้อยเกินไปจะทำให้เป็นนิ่ว และติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ โดยดื่มน้ำเปล่าประมาณวันละ 8 แก้ว