ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมช.สธ. ร่วมกรมการแพทย์แผนไทยฯ หารือฝ่ายปกครอง-อัยการกรณีบังคับใช้กม.คุม “ช่อดอกกัญชา” ล่าสุดพบผู้กระทำความผิดดำเนินคดีแล้ว 12 ราย พร้อมขยายพื้นที่ต่างจังหวัด ขณะที่ “สาธิต” ย้ำนโยบายกัญชาจะเป็นยาเสพติดหรือไม่ ขอให้รัฐบาลหน้าตัดสินใจ ขึ้นอยู่กับเสียงประชาชน แต่ขณะนี้กฎหมายมันยังไม่ออกมา  มีช่องว่าง จึงต้องคุมช่อดอกให้มากที่สุด

 

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) พร้อมด้วย นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตน์พงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, กรมอนามัย, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.), รองอธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด, กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, รองผู้บังคับบัญชาตำรวจปราบปรามยาเสพติด และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือนโยบายและแนวทางสร้างความเข้าใจการบังคับใช้กฎหมายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ.2565

 

นายสาธิต กล่าวว่า ตนได้ให้อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เชิญหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงฯ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการใช้กัญชา มาหารือร่วมกันเพื่อกระชับการใช้กฎหมายหลักตอนนี้ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม(กัญชา) ที่คุมเฉพาะช่อดอก เพื่อนำมาสู่การบังคับใช้กฎหมายทุกพื้นที่ โดยข้อกังวลเรื่องคนหน้างานที่ต้องไปทำงาน ซึ่งตนได้หารือกับอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ แล้วว่า จะให้ดีที่สุด จะต้องทำให้เกิดตัวอย่าง จึงมีการลงพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร(กทม.) ร่วมกับผู้อำนวยการเขตกทม. เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ จับกุมผู้ประกอบการที่ละเมิดประกาศสมุนไพรควบคุมฯ ฟ้องไปถึงศาลแขวงแล้ว

 

“เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน กรณีที่ฟ้อง ผู้ต้องหารับสารภาพในคดีศาลแขวง ก็อาจทำได้ง่าย แต่กรณีที่ไม่รับสารภาพก็ต้องหาทางออก โดยรองอธิบดีอัยการฯ แนะนำว่า กรณีไม่รับสารภาพ ต้องหาช่องทาง เพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติมั่นใจมากขึ้นว่าจะไม่ถูกฟ้องในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดนมิชอบ ส่วนกรมการแพทย์แผนไทยฯ จะพยายามเต็มที่ในการดำเนินการให้ประกาศฯ ที่มีถูกบังคับใช้ในระดับจังหวัด ที่เราต้องทำตรงนี้เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ยังอยู่ในสภา ยังไม่ถูกบังคับใช้และยังมีความไม่แน่นอนว่าจะมีการบังคับใช้ในสมัยสภาชุดนี้หรือไม่ รวมถึงการครบวาระรัฐบาลชุดนี้ในเดือน มี.ค.2566 ดังนั้น กฎหมายนี้มีความไม่แน่นอน ผมจึงต้องเร่งใช้ประกาศที่มีควบคุมในการใช้ช่อดอกกัญชาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดไม่แพร่หลายไปในกลุ่มคนเปราะบางและผลกระทบในเชิงสังคมมากนัก” นายสาธิต กล่าว

เมื่อถามว่ามีการหารือถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่จำเป็นต้องออกเพิ่มเติมหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ความกังวลของสังคมคือไม่อยากเห็นการเสพกัญชา แต่ต้องยอมรับกฎหมายที่มีอยู่ หากเสพในบ้านโดยผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วสามารถทำได้ ส่วนการเสพในที่สาธารณะ ก็จะเป็นอำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข ของกรมอนามัย เรื่องกลิ่นและควันกัญชาเป็นเหตุรำคาญ แต่จะต้องใช้ร่วมกับกฎหมายอื่น ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการไปเพียง 2 ราย ต้องยอมรับความจริงว่าขั้นตอนยุ่งยาก เช่น ต้องไปแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อระงับเหตุ ถ้าฝ่าฝืนจึงเปรียบเทียบปรับได้ แต่หากลดขั้นตอนได้ก็จะยุติเหตุที่เกิดขึ้นได้เร็ว ตนจึงได้สั่งการให้มีการนำเสนอเรื่องนี้ ดูว่ามีประกาศอะไรที่สามารถลงได้เพิ่มเติม ตนจะทำตามอำนาจของพ.ร.บ.

“ส่วนเรื่องนโยบายต้องเรียนตรงๆ ว่า สุดท้ายจะไปสู่การให้รัฐบาลหน้าตัดสินใจเรื่องนี้ จึงขึ้นอยู่กับเสียงประชาชนว่าจะให้ตัวเลขพรรคการเมืองไหนเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบายที่ต้องว่ากันต่อไปในอนาคต เช่น การประกาศกัญชาเป็นยาเสพติดหรือไม่ กัญชาทางการแพทย์จะใช้แค่ไหน แต่ ณ วันนี้ผมจะทำให้ส่วนที่มีกฎหมายบังคับใช้อยู่” นายสาธิต กล่าว

เมื่อถามถึงความชัดเจนเรื่องนโยบาย นายสาธิต กล่าวว่า เรื่องนโยบาย เราไม่สามารถไปแก้ประกาศว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว เพราะนี่ก็เป็นนโยบาย แต่ในอนาคตถ้ารัฐบาลใหม่เห็นว่านี่เป็นปัญหาก็อาจจะมาประกาศว่ากัญชาเป็นยาเสพติดได้ แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ เสียงประชาชน แต่ขณะนี้กฎหมายมันยังไม่ออกมา แล้วกฎหมายก็มีปัญหาด้วย ตนก็เห็นว่ามีปัญหา  เรื่องการเสพที่สาธารณะก็ทำได้ เสพที่บ้านก็ทำได้ มันมีช่องว่างอยู่ แต่อย่างน้อยหากเราคุมช่อดอกได้ อย่างน้อยก็ควบคุมการนำช่อดอกไปเสพได้ เราจะรู้คน รู้กลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ตนทำตามมติพรรคอยู่แล้ว เคยพูดไปแล้ว ว่า ระหว่างภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์มีช่องว่างอยู่เยอะ อย่างไรก็ตามกฎหมายที่มีอยู่มันคุมเรื่องเสพไม่ได้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาเรื่องเสพ เพราะฉะนั้นมันจะมีความต่างอยู่

เมื่อถามว่ากรณีที่ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพในความผิด จะมีมาตรการอย่างไร นายณัฐพงษ์ พุฒแก้ว อัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครองภูเก็ต สำนักงานคดียาเสพติด กล่าวว่า กรณีที่ไม่รับสารภาพ ตำรวจจะมีมาตรการดำเนินการต่อไป เป็นการส่งตรวจพิสูจน์และให้พนักงานสอบสวนส่งมายังสำนักงานอัยการ หากการตรวจพิสูจน์ยืนยันว่าเป็นช่อดอกกัญชา และมีหลักฐานแวดล้อมเพียงพอ อัยการก็จะส่งฟ้องศาลต่อไป

ด้าน นพ.ธงชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมการแพทย์แผนไทยฯ ลงพื้นที่ ถนนข้าวสาร และ ย่านทองหล่อ โดยพบผู้กระทำความผิด จึงมีการชี้มูลไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมแล้ว 12 ราย ถูกตัดสินไปหมดแล้ว แบ่งเป็น ถนนข้าวสาร 6 ราย โดยจำนวนนี้ส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย 4 ราย ศาลตัดสินปรับรายละ 5,000 บาท และอีก 2 รายเป็นคดีปกครอง เนื่องจากจัดสถานที่สูบกัญชาในร้าน ตอนนี้เจ้าพนักงานกรมฯ สั่งพักใช้ใบอนุญาต และย่านทองหล่อ 6 ราย จำหน่ายโดนไม่มีใบอนุญาต ส่งฟ้องศาลแล้ว มีคำสั่งโทษให้จำคุก 2 เดือน รอลงอาญา 2 ปี โดยต้องมีการติดตามพฤติกรรม หรือให้ไปรายงานตัวต่อศาลเป็นระยะตามศาลนัด และปรับเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ทั้งนี้ศาลริบของกลางของผู้กระทำความผิดไว้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการลงพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อการบังคับใช้กฎหมายต่อไป ตนก็จะประชุมร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้รับทราบข้อปฏิบัติเพื่อดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับที่ส่วนกลาลงพื้นที่ กทม. ดังนั้น หากผู้ประกอบการจะจำหน่ายช่อดอกกัญชา ก็ให้รีบมาขอใบอนุญาต

 

“หากผู้ต้องหาปฏิเสธ เราต้องเอาช่อดอกไปตรวจยืนยันปริมาณสารทีเอชซี(THC) แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยปฏิเสธ เพราะเป็นร้านที่จำหน่ายช่อดอกชัดเจน ไม่ต้องล่อซื้อเพราะมีป้ายราคาติดอยู่ และเขาก็บอกว่าขายช่อดอก เป็นการสารภาพโดยหลักฐานทั้งหมด” นพ.ธงชัย กล่าว

 

**เมื่อถามถึงความกังวลของผู้ปฏิบัติการเรื่องการจับกุมการกระทำผิดจากกัญชา พล.ต.ต.บรรพต มุ่งขอบกลาง รองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าเรื่องที่ประชาชนแจ้งเข้ามาเป็นเรื่องการใช้กัญชาในสูบ แต่กฎหมายจะห้ามเรื่องจำหน่าย ไม่ได้ห้ามเรื่องการสูบ อย่างที่เห็นว่ามีเด็กสูบกํญชา ซึ่งตรงนี้จะมีกฎหมายอื่นเข้ามาเทียบเคียงจากทางตำรวจ เพื่อดำเนินการกับผู้ปกครองผ่านการประสานผ่านสถานศึกษา

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์แผนไทยฯ ประสาน สสจ. เอาผิดผู้ละเมิด กม.คุมช่อดอกกัญชาพื้นที่ต่างจังหวัด)