ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทยศาสตรศึกษาไทย.. จะไปทางไหน? 

 

นพ.ภีศเดช สัมมานันท์

วิชาชีพแพทย์มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน การผลิตจึงควรมีมาตรฐานที่ดีเพื่อได้แพทย์ที่มีคุณภาพ หลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ของไทยแม้สามารถผลิตแพทย์ออกมาด้วยคุณภาพอันเป็นที่ยอมรับ แต่ก็เป็นหลักสูตรที่ใช้มานานกว่า 40 ปี ทั้งบริบทสุขภาพไทยมีการเปลี่ยนแปลง มีแนวทางการผลิตและหลักสูตรแพทย์ใหม่ๆเกิดขึ้น จึงควรมีการประเมินว่าแนวทางการผลิตและหลักสูตรแพทย์ต่างๆ มีข้อดีข้อเสีย ควรปรับปรุงหรือไม่ อย่างไร 

ปัจจุบันสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของไทยได้ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกแล้ว คือ 1 ต่อ 964 (มาตรฐานองค์การอนามัยโลกคือ 1 ต่อ 1000) จึงไม่ขาดแคลนแพทย์ในภาพรวม กอรปกับจำนวนประชากรไทยลดลง 3 ปี ติดต่อกัน จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มอัตราการผลิต แต่ควรหาวิธีรักษาแพทย์ไว้ในระบบราชการและกระจายแพทย์ออกจากเมืองใหญ่ 

 

การผลิตแพทย์จำนวนมากแม้มีข้อดี คือ มีแพทย์ให้บริการประชาชนมากขึ้น แต่ก็มีข้อเสียเพราะส่งผลให้อัตราทรัพยากรต่างๆ ต่อจำนวนนักศึกษาลดลง (ได้แก่ จำนวนผู้ป่วย จำนวนหัตถการและผ่าตัด เช่น Excision of benign tumor of skin,  Endotracheal intubation) ส่งผลให้นักศึกษามีโอกาสฝึกตรวจรักษา ทำหัตถการและผ่าตัดลดลง อาจได้ศึกษาเพียงทฤษฎี ฝึกจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พบว่าจากการเร่งผลิตต่อเนื่องหลายปีเริ่มมีผลกระทบ เช่น แพทยสภาต้องปรับลดจำนวนหัตถการที่ทำได้เมื่อจบแพทยศาสตรบัณฑิตจาก 39 เหลือ 30 หัตถการ และทำได้เมื่อจบโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะจาก 60 เหลือ 48 หัตถการ นอกจากนี้แพทยสภายังต้องอนุญาตไว้ในคู่มือการดำเนินการโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะว่า ให้ใช้สื่อการเรียนการสอน สื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนได้ ในกรณีที่ไม่มีผู้ป่วยหรือหัตถการ

 

มีการแก้ไขให้ผู้ที่ไม่จบมัธยมปลายสายวิทยาศาสตร์สมัครเข้ารับการฝึกอบรมได้ แต่การคัดเลือกผู้สมัครไม่ว่าจะจบการศึกษาสายวิทยาศาสตร์หรือไม่ ทั้งคณะแพทย์ภาครัฐและเอกชน ควรมีหลักประกันความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดี โดยสอบผ่านการประเมินความรู้โดยสถาบันด้านวิชาการที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษาฯหรือแพทยสภา ไม่ควรให้คณะแพทย์คัดเลือกผู้สมัครเองเพราะมีส่วนได้เสียโดยตรง หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ของไทยใช้ระยะเวลารวม 6 ปี จึงรับปริญญาและสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ระบบการแพทย์ไทยเน้นดูแลผู้ป่วยโดยแพทย์ทั่วไป ระยะเวลาเพียง 6 ปี อาจไม่เพียงพอ เพราะแม้แต่ประเทศตะวันตกที่การฝึกอบรมแพทย์ในระดับปริญญาเน้นปูพื้นฐานสำหรับฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ยังใช้ระยะเวลาฝึกอบรมนานกว่า 6 ปี ได้แก่ อังกฤษใช้เวลา 7-8 ปี (ฝึกอบรมสถานศึกษา 6 ปี ฝึกงานในสถานพยาบาล 1-2 ปี) สหรัฐใช้เวลา 9 ปี (ศึกษาปริญญาตรี 4 ปี ฝึกอบรมในสถานศึกษา 4 ปี ฝึกงานในสถานพยาบาล 1 ปี) กระทั่งแพทยสภาของไทยต้องจัดโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะเพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ให้แพทย์จบใหม่ 

 

โครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะเป็นโครงการที่ดี แต่การเข้าร่วมโครงการฯเป็นการเข้าร่วมในฐานะแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตฯแล้วไม่ใช่ในฐานะแพทย์ฝึกงาน จึงไม่อยู่ภายใต้การกำกับของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้โครงการฯไม่มีลักษณะการบังคับเป็นเพียงความสมัครใจหรือกึ่งบังคับ ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ป่วยและคุ้มครองแพทย์จบใหม่จากการถูกฟ้องร้อง จึงควรปรับระยะเวลาการฝึกอบรมเป็นอย่างน้อย 7 ปี โดยปรับโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะเป็นการฝึกงานในสถานพยาบาลภายใต้การกำกับของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และปรับการสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากหลังรับปริญญาเป็นสอบหลังฝึกงานครบ 1 ปี ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีหลักสูตรใหม่ๆ เกิดขึ้น ได้แก่ หลักสูตรแพทย์ 4 ปี หลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา ที่อาจมีผลต่อคุณภาพของแพทย์ที่จบออกมา คณะแพทย์ที่เปิดหลักสูตรเหล่านี้มักเปิดหลักสูตรปกติอยู่แล้ว และเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับหลักสูตรใหม่ บางหลักสูตรเก็บเพิ่มเติมถึงประมาณ 8 ล้านบาท 

 

หลักสูตรแพทย์ 4 ปี นำหลักสูตรสหรัฐมาปรับใช้ หลักสูตรของสหรัฐศึกษาพื้นฐานการแพทย์ 2 ปี และเวลาศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรง 2 ปี ฝึกงานในสถานพยาบาลอีกอย่างน้อย 1 ปี รวมเวลาฝึกตรวจรักษาผู้ป่วยโดยตรงอย่างน้อย 3 ปี แต่หลักสูตรแพทย์ 4 ปีของไทย ลดเวลาศึกษาพื้นฐานการแพทย์เหลือ 1.5 ปี ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรงเหลือ 1-2.5 ปี เป็นการลดมาตรฐานการฝึกอบรม ทั้งเมื่อเทียบกับหลักสูตรแพทย์ของสหรัฐและหลักสูตรแพทย์ปกติของไทย 

 

หลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา ที่จบแล้วได้ทั้งปริญญาแพทยศาสตร์และปริญญาโทในสาขาวิชาอื่น นำหลักสูตรพิเศษของสหรัฐมาปรับใช้ แต่หลักสูตรพิเศษของสหรัฐต้องจบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพหรือสาขาวิชาอื่นที่เรียนร่วมมาก่อน นอกจากนี้การฝึกอบรมของสหรัฐยังไม่หนักหน่วงเหมือนหลักสูตรของไทย จึงมีพื้นฐานความรู้และเวลาเพียงพอที่จะศึกษาสองหลักสูตรพร้อมกัน ขณะที่หลักสูตร 2 ปริญญาของไทย รับผู้สมัครระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและต้องฝึกอบรมอย่างหนัก ย่อมส่งผลกระทบต่อการฝึกอบรม

 

นอกจากแพทย์ที่จบการศึกษาในประเทศแล้วยังมีแพทย์ที่จบการศึกษาจากคณะแพทย์ต่างประเทศ แพทย์กลุ่มนี้อาจประสบปัญหา เช่น ระยะเวลาในฝึกอบรมน้อยกว่าหลักสูตรของไทย, บางประเทศใช้เวลาในการฝึกอบรมส่วนหนึ่งไปฝึกภาษา และฝึกอบรมแพทย์พื้นเมืองของประเทศนั้นๆ, แพทยสภาของไทยไม่สามารถตรวจสอบมาตรฐานการผลิตยังที่ตั้งของคณะแพทย์นั้นๆ พิจารณาได้เพียงเอกสารที่ส่งมา, ปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับระบบการแพทย์ของไทย, การตรวจรักษาโรคที่พบได้บ่อยเฉพาะในประเทศไทย, การใช้ภาษาไทยในการตรวจรักษา

พบว่าคณะแพทย์ต่างประเทศที่แพทยสภาของไทยรับรอง 70 แห่ง มีถึง 31 แห่งที่มีระยะเวลาฝึกอบรมน้อยกว่าประเทศไทย ยังมีข้อมูลว่าบางประเทศแม้มีหลักสูตรการฝึกอบรม 6 ปี แต่บางคณะต้องใช้ 1 ปีแรกเพื่อฝึกภาษาพื้นเมือง บางคณะต้องใช้เวลาฝึกอบรมแพทย์สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง เพื่อไปฝึกภาษาพื้นเมืองตลอด 6 ปี บางคณะต้องฝึกอบรมแพทย์พื้นเมืองร่วมด้วย จนทำให้เวลาในการฝึกอบรมแพทย์แผนปัจจุบันเหลือน้อยกว่า 5 ปี

แพทยสภาจึงควรรับรองคณะแพทย์ต่างประเทศเฉพาะคณะแพทย์ในประเทศพัฒนาแล้ว หรือคณะแพทย์ในประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับการรับรองโดยสถาบันที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ World Federation for Medical Education (WFME) และรับรองเฉพาะหลักสูตรที่มีระยะเวลาฝึกอบรมจริงรวมกับฝึกงานแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาฝึกอบรมของไทย ทั้งก่อนการสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมควรฝึกงานในไทยอย่างน้อย 1 ปี เพื่อปรับตัวให้เข้ากับระบบการแพทย์ของไทย 

แพทยสภาไม่ควรปฎิเสธความรับผิดชอบต่อมาตรฐานของคณะและหลักสูตรแพทย์ เพราะแม้ พรบ.การอุดมศึกษา จะบัญญัติ ห้ามมิให้สภาวิชาชีพก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา แต่ พรบ.วิชาชีพเวชกรรม มาตรา 8 ได้ให้อำนาจแพทยสภาในการ “รับรองปริญญา หลักสูตร และวิทยฐานะของสถาบันฝึกอบรม และออกใบอนุญาติให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” ดังนั้นหากแพทยสภาไม่รับรองคณะหรือหลักสูตรใด ผู้ที่จบการศึกษาก็ไม่มีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม  หรือแพทยสภาสามารถควบคุมคณะแพทย์ที่ไม่พร้อมหรือหลักสูตรแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานได้ด้วยการไม่รับรองคณะหรือหลักสูตรนั้นๆ 

ทั้งควรมีการแจ้งรายชื่อคณะและหลักสูตรแพทย์ทั้งในและต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง ไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเผยแพร่ให้นักเรียนที่สนใจฝึกอบรมแพทย์ ป้องกันปัญหาไม่มีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม

สรุปแนวทางเพื่อกระทรวงการอุดมศึกษาฯและแพทยสภา พิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา

1. กระทรวงการอุดมศึกษาฯและแพทยสภา อนุมัติเปิดคณะและหลักสูตรแพทย์โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ 
2. ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราการผลิต อาจลดการผลิตลงหากประสบปัญหาเรื่องคุณภาพ
3. การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้งภาครัฐและเอกชน ควรกระทำโดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯหรือแพทยสภา 
4. ปรับระยะเวลาการฝึกอบรมเป็น 7 ปี โดยฝึกอบรมในสถานศึกษา 6 ปี ฝึกงานในสถานพยาบาล 1 ปี
5. ยกเลิกหลักสูตรแพทย์ 4 ปี และหลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา นำนักศึกษาเข้าสู่หลักสูตรปกติ
6. แพทยสภาควรรับรองคณะแพทย์ต่างประเทศเฉพาะคณะแพทย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือได้รับการรับรองจาก WFME และรับรองเฉพาะหลักสูตรที่มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าหลักสูตรของไทย
7. แพทยสภาไม่ควรปฏิเสธความรับผิดชอบต่อมาตรฐานของคณะและหลักสูตรแพทย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่บัญญัติไว้ใน พรบ.วิชาชีพเวชกรรม 

 

 

นพ.ภีศเดช สัมมานันท์
นพ.ยุทธนา ป้องโสม