ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สปสช. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และบริษัท ลูกคิด จำกัด เซ็น MOU พัฒนาห้องปฏิบัติการเชิงนโยบายเพื่อสร้างระบบบริการสุขภาพแบบเน้นคุณค่าสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันโรคมะเร็งแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และบริษัท ลูกคิด จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการพัฒนาห้องปฏิบัติการเชิงนโยบายเพื่อสร้างระบบบริการสุขภาพแบบเน้นคุณค่าสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นประธาน 

รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ อาจารย์ประจำสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หัวหน้าโครงการห้องปฏิบัติการเชิงนโยบายสุขภาพฯ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและกำลังจะกลายเป็นภาระด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ความท้าทายของผู้กำหนดนโยบายในปัจจุบันคือการปรับกระบวนการนโยบายสุขภาพให้สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ทันท่วงที หนึ่งในแนวคิดที่หลายประเทศนำมาใช้ในการพัฒนาคือ “ห้องปฏิบัติการนโยบาย” หรือ Policy Lab ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงนโยบาย มีการนำเครื่องมือ เทคโนโลยีหรือวิธีการทำงานแบบใหม่มาใช้ เช่น การคิดเชิงระบบ (System thinking) และการคิดเชิงออกแบบ (Design thinking) เพื่อสร้างกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เปิดให้มีการทดลองออกแบบนโยบายร่วมกันแบบบูรณาการ 

ทั้งนี้ ในโครงการนี้จะประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่องระบบบริบาลสุขภาพแบบเน้นคุณค่า (Value-Based Healthcare) โดยการมองผู้ป่วยมะเร็งเป็นศูนย์กลางในการออกแบบนโยบายที่มีประสิทธิผลและสามารถตอบโจทย์การจัดการภาระโรคมะเร็งในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน

นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยมายาวนานกว่า 20 ปี จึงจำเป็นต้องมีแนวคิดใหม่ในการพัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้ และ Value-Based Healthcare ก็เป็นสิ่งที่กรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ โครงการนี้จึงจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ และจะเป็นข้อมูลนำเข้า (input) สำคัญอันหนึ่งในการจัดทำแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ ปี 2566-2570 ที่ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติจะจัดทำขึ้นในปีนี้ต่อไป

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. เป็นหน่วยงานที่ดูแลค่าบริการสาธารณสุขและให้ความสำคัญกับการการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ตั้งแต่การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก การตรวจคัดกรองมะเร็งต่างๆ การรักษาด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ไปจนถึงการดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้าย เพื่อให้เกิดระบบการดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างครบวงจร รวมทั้งอยู่ระหว่างพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคมะเร็งเพิ่มเติม เช่น การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งตับ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีราคาแพงมากขึ้นแต่งบประมาณด้านสาธารณสุขมีจำกัด การมีห้องปฏิบัติการเชิงนโยบายเพื่อสร้างระบบบริการสุขภาพแบบเน้นคุณค่า จะช่วยให้ สปสช.ตัดสินใจเชิงนโยบายในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในโรคมะเร็งที่มีความชุกสูงอย่างมะเร็งปอด มะเร็งตับ และมะเร็งเต้านม

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า สวรส.พร้อมร่วมมือพัฒนางานกับทั้งภาครัฐและเอกชน ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยและการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สามารถนำไปใช้พัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ส่งผลให้เกิด Value-Based Healthcare มีระบบการเข้าถึงการรักษามที่เหมาะสมครอบคลุมการรักษาที่จำเป็น ดังนั้น สวรส.คาดหวังว่าข้อเสนอเชิงนโยบายบนฐานความรู้ของโครงการนี้ จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาระและค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาล ตลอดจนสามารถบริหารจัดการด้านการเงินการคลังของระบบสุขภาพของประเทศให้มีความยั่งยืนต่อไป

น.ส.เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท ลูกคิด จำกัด กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมทำงานให้คำปรึกษาในกระบวนการคิดค้นนวัตกรรมเชิงนโยบายในโครงการนี้ บริษัทมีความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ซึ่งจะทำงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องกระบวนการคิดเชิงระบบ การบูรณาการกระบวนการคิดทั้ง Design thinking  และ System thinking น่าจะทำให้กระบวนการพัฒนานวัตกรรมของห้องปฏิบัติการนี้สมบูรณ์แบบมายิ่งขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนให้ได้มากที่สุด

 

 

ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand