ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ เปิดตัวเทคโนโลยีสุดเจ๋งเครื่องแรกของไทย ทั้ง AIChest4all วิเคราะห์ผลเอกซเรย์ทรวงอก คัดกรองวัณโรค มะเร็งปอด หัวใจผิดปกติ และโรคทรวงอก แม่นยำสูง แก้ปัญหาขาดแคลนรังสีแพทย์ พร้อมใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดสมองคนไข้ลมชัก-พาร์กินสัน ได้ผลดีลดชัก-สั่น-เกร็ง เล็งผ่าตัดเส้นเลือดสมองตีบ ตั้งเป้า ผ่าตัดคนไข้ 67 ราย เฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.10 แถมด้วยแอปพลิเคชันนัดหมอออนไลน์ “NCI Easy” อำนวยความสะดวกผู้ป่วยมะเร็ง ลดรอคิว ลดการใช้กระดาษ

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กทม. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมคณะผู้บริหารสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสถาบันประสาทวิทยา ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชัน “NCI Easy”, เทคโนโลยี (AIChest4all) ปัญญาประดิษฐ์คัดกรองวัณโรค มะเร็งปอด หัวใจเต้นผิดปกติ และโรคทรวงอก และหุ่นยนต์ผ่าตัดสมองผู้ป่วยโรคลมชักเครื่องแรกในประเทศไทย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ผู้บริหารกระทรวงได้มอบหมายให้กรมการแพทย์นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงระบบการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน วันนี้จึงมีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน “NCI Easy”ที่ใช้ในสถาบันมะเร็งฯ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำนัดหมายตั้งแต่อยู่ที่บ้านเพื่อมาพบแพทย์ ลดการใช้กระดาษไปได้อย่างมาก ลดการรอคอยจากเดิมที่ผู้ป่วยต้องมา รพ.ตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อรับบัตรคิว ลงทะเบียน 30-60 นาที ก็เหลือเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาการใช้ในผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุบ้าง ดังนั้นจึงเหลือการใช้กระดาษนำทาง 1 ใบ

นอกจากนี้ ที่สถาบันมะเร็งยังเปิดตัวเทคโนโลยีเอไอคัดกรองโรคที่มีความแม่นยำ ส่วนสถาบันประสาทวิทยามีการเปิดตัวหุ่นยนต์ผ่าตัดสมองในผู้ป่วยโรคลมชักเครื่องแรกของประเทศไทย ช่วยลดอาการชักเกร็งในผู้ป่วยลมชัก และลดอาการสั่นในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยแล้ว 4 ราย ช่วยควบคุมอาการชัก อาการสั่นได้ดี ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีความพยายามนำมาใช้กับผู้ป่วยสโตรก หรือโรคหลอดเลือดสมองด้วย โดยเฉพาะเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งตั้งเป้ารักษาผู้ป่วยให้ได้ 67 ราย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10

รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต หัวหน้าศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านสารสนเทศอัจฉริยะ เทคโนโลยีสิ่งพูดและภาษา และนวัตกรรมด้านบริการ (CILS) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนและคณะได้ร่วมมือกับสถาบันโรคทรวงอก และ รพ.มะเร็งอุดรธานี ในการพัฒนา AIChest4all กว่า 1 ปี โดยใช้ภาพเอกซเรย์ทรวงอกของผู้ป่วยนับแสนรายมาพัฒนาให้เอไอจดจำและวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพจากว่ามีส่วนใดผิดปกติหรือไม่ จากการพัฒนาพบว่าความแม่นยำในการวิเคราะห์วัณโรคอยู่ที่ ร้อยละ 93 มะเร็งปอดร้อยละ 94 หัวใจเต้นผิดปกติร้อยละ 80 และความผิดปกติอื่น ๆ ภายในทรวงอก ร้อยละ 80

ทั้งนี้หากมีการใช้มากขึ้น จะยิ่งทำให้ AI มีการจดจำและสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้จะต้องมีรังสีแพทย์ 3 คนดูด้วยหาก 2 ใน 3 คน มีความเห็นตรงกับ AI ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจยืนยันผลใหม่ แต่หาก 2 ใน 3 เห็นไม่ตรงกันก็จะต้องมีการตรวจยืนยันผลอีกรอบ ทั้งนี้เทคโนโลยีดังกล่าวมอบให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใช้ฟรี ซึ่งเป็นผลดีโดยเฉพาะ รพ.ชุมชน ที่มีจำนวนรังสีแพทย์ไม่เพียงพอ

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคลมชักกว่า 5 แสนราย เกือบ 1.5 แสนรายมีภาวะดื้อยากันชัก ซึ่งครึ่งหนึ่งสามารถผ่าตัดรักษาได้ตามวิธีมาตรฐาน แต่อีกครึ่งหนึ่งต้องตรวจหาจุดกำเนิดชักซึ่งมีความซับซ้อน ดังนั้น หุ่นยนต์ดังกล่าวจะเข้ามาเสริมการทำงานเพื่อโดยใส่ขดลวดนำทางเข้าไปหาจุดที่ไฟฟ้าในสมองมีปัญหา เพื่อให้ทำการผ่าตัดได้อย่างตรงจุด แม่นยำทั้งตำแหน่งและความลึกของเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัด 8 ชั่วโมง เหลือ 2 ชั่วโมง จึงจะช่วยลดความเสี่ยงได้รับอันตรายจากการดมยาสลบ และการเสียเลือดจากการผ่าตัดได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดสมองมานานแล้ว แต่สำหรับหุ่นยนต์ผ่าตัดสมองในกลุ่มผู้ป่วยโรคชักและผู้ป่วยพาร์กินสันนั้นถือเป็นเครื่องแรก การทำงานก็จะต่างกัน อย่างผู้ป่วยโรคสมองทั่วไปเราสามารถตรวจและพบลักษณะที่ผิดปกติของเนื้อสมองได้เลย แต่กับโรคลมชักนั้น เนื้อสมองมีความเป็นปกติทุกอย่าง แต่สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาคือจุดกำเนิดไฟฟ้าในสมอง เราต้องไปผ่าตัดและแก้ไขตรงนี้จะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นลดการชักเกร็ง แต่ต้องเรียนว่า ปัญหาไฟฟ้าในสมองจะเกิดหลายจุด จึงต้องใส่ขดลวดเพื่อหาจุดที่มีปัญหาให้ได้มากที่สุดและทำการแก้ไข อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ที่ใช้นั้นนำมาให้บริการแก่ประชาชนทุกสิทธิ์การรักษาฟรี แต่ในส่วนของขดลวดนั้นประชาชนยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง อยู่ที่ประมาณเส้นละ 6 หมื่นบาท ซึ่งทางสถาบันประสาทก็พยายามหากองทุนมาช่วยเหลืออยู่