ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตามที่ได้มีข้อมูลปรากฏในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องดื่มน้ำอัดลมใส่เกลือ ช่วยแก้อาการขาดน้ำจากภาวะท้องเสีย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีข้อมูลปรากฏในสื่อออนไลน์ เรื่องดื่มน้ำอัดลมใส่เกลือ ช่วยแก้อาการขาดน้ำจากภาวะท้องเสีย โดยระบุข้อความว่าการดื่มน้ำอัดลมผสมเกลือ สามารถบรรเทาอาการอ่อนเพลีย ขาดน้ำจากการท้องเสียได้นั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพบว่า เป็นข้อมูลเท็จ และไม่แนะนำให้ดื่มน้ำอัดลมผสมเกลือเพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เนื่องจากในน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าผงน้ำตาลเกลือแร่ มีการอัดแก๊ส อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาการท้องเสียแย่ลงได้ 

ทั้งนี้ แนะนำให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (Oral Rehydration Salt หรือ ORS) เมื่อเกิดอาการท้องเสีย ซึ่งจะช่วยทดแทนการสูญเสียน้ำจากการอาเจียน หรือท้องเสีย วิธีดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ ให้จิบอย่างช้า ๆ แทนน้ำ ควรดื่มให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง หากเกินกว่านั้น ไม่แนะนำให้นำมาดื่มต่อ สำหรับการดูแลร่างกายเมื่อเกิดอาการท้องเสีย แนะนำให้พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่ไม่เผ็ด ไม่กินอาหารรสจัด หากอาการไม่ดีขึ้น ไม่อยากรับประทานอาหารหรือบประทานอาหารไม่ได้ เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง อุจจาระมีมูกเลือดปน มีกลิ่นเหม็นผิดปกติคล้ายกุ้งเน่า มีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ควรรีบไปพบแพทย์

สำหรับอาการท้องเสียนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยผศ.(พิเศษ) นพ.สยาม ศิรินธรปัญญา หัวหน้างานโรคทางเดินอาหาร กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายว่า อาการท้องเสียมี 2 แบบ 1.อาการท้องเสียแบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ทำไว้นานแล้วจนเชื้อโรคสร้างสารพิษขึ้นมา อาหารเป็นพิษ หรืออาหารทะเลมีเชื้อโรค หรือแม้แต่การกินยาบางชนิดก็สามารถกระตุ้นทำให้เกิดการขับถ่ายมากขึ้นได้ พบได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ส่วนในเด็กมักจะเจ็บป่วยด้วยโรต้าไวรัสและโนโรไวรัส เพราะภูมิคุ้มกันของเด็กนั้นอ่อนแอกว่าผู้ใหญ่จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่า และแม้ผู้ใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันไวรัสได้ดีกว่า ก็ยังสามารถพบได้ในผู้ใหญ่ที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยที่รับประทานยาเพื่อกดภูมิ 2.อาการท้องเสียแบบเรื้อรัง เช่น อาการลำไส้แปรปรวน มีการบีบรัดตัวลำไส้ผิดปกติทำให้ขับถ่าย อาจมีทั้งอาการท้องผูกและท้องเสียร่วมด้วย มักจะมีอาการท้องเสียเป็นระยะเวลานาน โดยแพทย์จะวินิจฉัยเมื่อคนไข้มีอาการท้องเสียนาน ๆ รวมถึงไม่มีสาเหตุอื่นสำคัญ ไม่มีการติดเชื้อ ไม่เกิดจากยา ไม่มีเนื้องอก ไม่มีปัญหาเรื่องฮอร์โมนผิดปกติ 

เมื่อเกิดอาการท้องเสียแล้วขับถ่ายมากเกินไปอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ผศ.(พิเศษ) นพ.สยาม กล่าวว่า ถ้าสารพิษเยอะแล้วปล่อยให้ขับถ่ายออกมาจนหมด ร่างกายของผู้ป่วยก็จะแย่ได้เพราะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกไปจำนวนมาก อีกทั้งผู้ที่มีอาการติดเชื้อในผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอ เป็นไข้ ขับถ่ายเป็นมูกเลือด จะปล่อยให้ขับถ่ายจนหมดไม่ได้ เพราะร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ โรคท้องเสียในปัจจุบัน หากไม่รุนแรงก็จะรักษาตามอาการ หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก ดื่มน้ำเกลือแร่เสริม อาจรับประทานยาเพื่อดูดซับสารพิษช่วยในรายที่มีข้อบ่งชี้ เช่น มีไข้ ขับถ่ายมีมูกเลือด ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย ส่วนยาหยุดถ่ายไม่แนะนำให้กิน ยกเว้นว่าถ่ายเยอะมาก คนไข้สูญเสียน้ำเยอะจนแพทย์แน่ใจว่า ไม่ได้ติดเชื้อที่ทำลายเนื้อเยื่อลำไส้รุนแรง อาการบ่งชี้เช่นนี้แพทย์อาจให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อหยุดถ่ายได้

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org